การเงินส่วนบุคคล, จัดพอร์ตการลงทุน

ชวนจัดสมดุล การเงินส่วนบุคคล ด้วย 7 เทคนิคการสร้างพอร์ตการเงินแบบเข้าใจง่าย !

ชวนจัดสมดุล การเงินส่วนบุคคล ด้วย 7 เทคนิคการสร้างพอร์ตการเงินแบบเข้าใจง่าย !

การวางแผนทางการเงินนั้น นับเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตของคนเรา การวางแผนการเงินในระยะยาวจะช่วยให้เรามีความมั่นคงทางการเงินในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเกษียณ การออมเงินเพื่อการทำธุรกิจในอนาคต หรือการเก็บเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกๆ ซึ่งนอกจากการฝากเงินในธนาคารแล้วนั้น อีกหนึ่งวิธีการวางแผนทางการเงินคือ การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุนรวม สลากออมสิน พันธบัตรรัฐบาล และอื่นๆ ซึ่งเราเรียกการบริหารจัดการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละชนิดว่า การจัดพอร์ตการเงิน อันเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผน การเงินส่วนบุคคล นอกจากการบริหารรายรับรายจ่ายในแต่ละวันแล้ว การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ก็ถือเป็นการวางแผนการเงินด้วยเหมือนกัน สำหรับใครที่สนใจในเรื่องของการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในอนาคต และกำลังสงสัยว่า เราควรจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดดี เราควรจัดพอร์ตลงทุนของตัวเองอย่างไรดี มีวิธีสร้างพอร์ตการเงินอย่างในได้บ้าง ในบทความนี้มีคำตอบมาให้แล้วค่ะ

พอร์ตการเงินคืออะไร ? สำคัญอย่างไรกับ การเงินส่วนบุคคล

การเงินส่วนบุคคล, จัดพอร์ตการลงทุน
Image Credit : freepik.com

สำหรับคนที่สนในในเรื่องของการเงินการลงทุน อาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการจัดพอร์ตการเงินมาบ้าง เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ จะขอเปรียบเปรยว่า การจัดพอร์ตการเงิน ก็คล้ายกับการจัดตะกร้าช็อปปิ้งของเรา โดยเราเป็นผู้เลือกว่าจะซื้อสินค้าชนิดใด ในจำนวนมากน้อยขนาดไหน ดังนั้น ในทางการเงินการลงทุนแล้ว การจัดพอร์ตการเงิน ก็คือการจัดการสินทรัพย์ทางการเงินที่เราจะเลือกลงทุนในสัดส่วนต่างๆ อาจประกอบด้วย หุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ เงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด ทองคำ ของสะสม รวมถึงกองทุน กรมธรรม์ประกันชีวิต (อ่านเพิ่มเติม ประเภทของประกันชีวิต) ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น เมื่อพูดถึงการจัดพอร์ตลงทุน คนมักเข้าใจว่าคือพอร์ตหุ้นเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ว พอร์ตหุ้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพอร์ตการเงินของเรา รวมถึงพอร์ตการลงทุนต่างๆ ก็ล้วนเป็นส่วนย่อยของการจัดการการเงินส่วนบุคคลนั่นเอง

พอร์ตการเงิน เป็นเหมือนขนมเค้กที่ถูกแบ่งออกเป็นชิ้น และแต่ละชิ้นก็มีขนาดแตกต่างกันไป ชิ้นเค้กแต่ละชิ้นแสดงถึงประเภทสินทรัพย์หรือประเภทการลงทุนแต่ละชนิด ด้วยน้ำหนักการลงทุนที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่ การจัดพอร์ตการเงินจะประกอบไปด้วยหุ้น พันธบัตร และเงินสดเป็นส่วนประกอบหลัก  แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัว พอร์ตโฟลิโอของเราอาจประกอบด้วยสินทรัพย์ที่หลากหลาย รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ ผลงานศิลปะ และการลงทุนส่วนตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกา ก็มีมูลค่าทางการลงทุนก็ได้

บางคนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วเราควรจะจัดพอร์ตการลงทุนแบบไหนจึงจะเหมาะสม ? สามารถจัดเองได้ไหม ? ในการจัดพอร์ตการลงทุนนั้น เราสามารถจัดการคัดสรรสินทรัพย์แต่ละประเภทได้ด้วยตนเอง หรืออาจให้ที่ปรึกษาการเงิน  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุน ดำเนินการผ่านกระบวนการวางแผนการเงินส่วนบุคคลก็ได้ หนึ่งในแนวคิดหลักของการจัดพอร์ตการเงินคือ การกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม และตอบสนองต่อเป้าหมายการลงทุนด้วยผลตอบแทนที่ต้องการ ทั้งยังต้องมีความเป็นไปได้ในกรอบระยะเวลาและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และยังต้องคำนึงในเรื่องของภาษี สภาพคล่องทางการเงินของแต่ละบุคคล สถานการณ์ทางกฎหมาย และความพร้อมในการลงทุนของเจ้าของพอร์ต ซึ่งไม่ได้มีหลักสูตรตายตัวว่าควรลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดเป็นจำนวนเท่าใด แต่ให้เลือกโดยคำนึงถึงความพร้อมและเป้าหมายการลงทุนของผู้ลงทุนเป็นหลัก

7 เทคนิคจัดพอร์ตการเงิน เพื่อบริหารการเงินส่วนบุคคลอย่างสมดุล

การเงินส่วนบุคคล, จัดพอร์ตการลงทุน
Image Credit : freepik.com

การจัดพอร์ตเพื่อการลงทุน ก็เปรียบเหมือนกับการสร้างบ้าน กล่าวคือ ต้องมีการออกแบบที่เจ้าของบ้านจะอาศัยอยู่อย่างมีความสุข ตรงกับความต้องการของครอบครัว การสร้างบ้านต้องใช้วัสดุที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่แค่คุณภาพของวัสดุเท่านั้นที่มีความสำคัญ แต่วัสดุเหล่านั้นต้องช่วยกันเป็นโครงของบ้านให้มีความคงทนถาวรกันแดดกันฝน มีความมั่นคงและเป็นที่พักพิงของครอบครัวได้ การจัดพอร์ตเพื่อการลงทุนก็เช่นเดียวกัน เราจะมีการคัดสรรสินทรัพย์แต่ละชนิดไว้ในพอร์ตอย่างไร เพื่อให้เรามีความมั่นคงกางการเงิน และมีการจัดการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่สมดุล มาดูกันเลยค่ะ

1. สร้างโปรไฟล์การลงทุนส่วนตัว

โปรไฟล์ของพอร์ตควรมาจากข้อมูลแท้จริงของเราเอง โดยใช้แนวทางการจัดพอร์ตด้วยการวิเคราะห์เป้าหมายทางการเงินของตัวเอง และระยะเวลาเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ต้องการจัดพอร์ตสำหรับการเกษียณอายุ โดยมีเป้าหมายทางการเงินคือ ต้องการมีมูลค่าในพอร์ตรวม 10 ล้านบาท ระยะเวลาสำหรับเป้าหมายก็คำนวณได้จาก อายุที่จะเกษียณ ลบด้วยอายุปัจจุบัน หากตอนนี้อายุ 30 ปี ต้องการจะเกษียณที่อายุ 60 ปี เราก็มีระยะเวลาอีก 30 ปีเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ หากเป็นการจัดพอร์ลงทุนเพื่อการศึกษาบุตร  กรอบระยะเวลาอาจจะเป็นช่วง 10  – 15 ปี ตามอายุของลูกว่าจะต้องใช้เงินเพื่อการศึกษานั้นเมื่อไหร่ ส่วนกลยุทธ์ในการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายก็แตกต่างกันไปตามความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ความรู้ความเข้าใจในการลงทุนของแต่ละคน รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพคล่องทางการเงิน ความอดทนต่อความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ เพราะเราจะต้องใช้ชีวิตผ่านวันและปีร่วมกับความผันผวนของพอร์ต การสร้างพอร์ตที่ตรงกับความสามารถในการลงทุนของตัวเองและอิงกับเป้าหมายการลงทุนจะเป็นประตูบานแรกที่จะทำให้เรามีวินัยในการลงทุนและอดทนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการเงินได้ในที่สุด

2. การจัดสรรสินทรัพย์

การจัดสรรสินทรัพย์ คือ การผสมผสานสินทรัพย์ในการลงทุน ซึ่งอาจประกอบไปด้วยหุ้น พันธบัตร กองทุนรวม การลงทุนอื่นๆ และเงินสด ซึ่งเงินสดในที่นี้ หมายรวมถึง กองทุนรวมในตลาดเงิน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในขณะที่การลงทุนอื่นๆ อาจรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ โลหะมีค่า และอสังหาริมทรัพย์ การจัดสรรสินทรัพย์ มีประโยชน์ในการจัดพอร์ตลงทุนให้มีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ก็เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี หากลงทุนในหุ้น หุ้นก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน การเพิ่มพันธบัตรและการลงทุนเงินสดก็จะช่วยลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตได้ ทั้งยังสร้างรายได้จากดอกเบี้ยได้ด้วย  สำหรับกองทุนรวมนั้น ให้ประโยชน์ในการกระจายหุ้น ในขณะเดียวกัน การลงทุนอื่นๆ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ อาจไม่เหมาะกับนักลงทุนทุกคน เพราะมีความผันผวนของราคาและมีความเสี่ยงสูง แต่บางครั้งก็สามารถช่วยลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตการลงทุนได้เช่นกัน หากถามว่าควรจัดสรรสินทรัพย์ในสัดส่วนอย่างไร ก็ต้องกลับไปที่เป้าหมายและความต้องการในการลงทุนของเราว่ามีเป้าหมายอย่างไร ต้องการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด จากนั้นก็จัดสรรสินทรัพย์แต่ละชนิดให้มีสัดส่วนที่เหมาสมและมีความสมดุล

[affegg id=4403]

3. ตัดสินใจว่าจะกระจายความเสี่ยงอย่างไร

การเงินส่วนบุคคล, จัดพอร์ตการลงทุน
Image Credit : freepik.com

เมื่อมีส่วนผสมพื้นฐานของการจัดพอร์ตการลงทุนแล้ว เราจะเจาะลึกลงไปอีกเล็กน้อยในแต่ละสินทรัพย์ เพื่อพิจารณาว่า เรามีความต้องการและมีความสามารถในการกระจายความเสี่ยงสินทรัพย์เหล่านี้อย่างไร ซึ่งมีหลายวิธีในการกระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น การเลือกอุตสาหกรรมที่จะลงทุนอย่างหลากหลาย การการกระจายหลักทรัพย์แต่ละรายการภายในอุตสาหกรรมเดียว หรือกระจายความเสี่ยงด้วยการเลือกซื้อหุ้นตามขนาดธุรกิจและพื้นฐานหลักทรัพย์  รวมทั้ง วิธีการทยอยลงทุน (Dollar cost averaging : DCA) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการกระจายความเสี่ยงได้ ซึ่งมีวีธีการกระจายความเสี่ยงสินทรัพย์แต่ละประเภทดังนี้

  • หุ้น : กระจายความเสี่ยงด้วยการถือครองหุ้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กผสมกัน หุ้น มีรูปแบบพื้นฐานสองแบบ ได้แก่ หุ้นเติบโต (Growth Stock) และหุ้นมูลค่า (Value Stock) ราคาของหุ้นเติบโตอาจดูเหมือนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของกิจการ แต่ก็อาจมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป ขณะเดียวกัน นักลงทุนบางคนชอบหุ้นมูลค่า ที่มีราคาหรือมูลค่าต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมตามทฤษฎี เพราะเชื่อว่าราคาของหุ้นไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทั้งหมด (เพราะอาจจะได้ของดีราคาถูกก็เป็นได้)
  • พันธบัตร : พันธบัตรมักถูกมองว่าเป็นการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมมากกว่าหุ้น เนื่องจากราคาของพันธบัตรมักมีความผันผวนน้อยกว่า ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด เราอาจเป็นเจ้าของพันธบัตรที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงของการผันผวนได้
  • การลงทุนเงินสด : การลงทุนเงินสดก็ได้แก่ กองทุนรวมตลาดเงิน บัญชีเงินฝากในตลาดเงิน บัตรเงินฝากระยะสั้นและบัญชีออมทรัพย์ แม้ว่าการเก็บเงินในสินทรัพย์ประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนน้อย แต่มีสภาพคล่องสูง และมีกระแสเงินสดสำรองที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลักในการดำรงชีวิตได้อย่างเพียงพอในกรณีฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม พยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสียมูลค่าเงินสดจากเงินเฟ้อด้วยการจัดสัดส่วนในพอร์ตที่ไม่มากจนเกินไป
  • การลงทุนอื่นๆ : การลงทุนอื่นๆ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ โลหะมีค่า การออมทอง และอสังหาริมทรัพย์ มีศักยภาพในการเพิ่มความหลากหลายให้กับการจัดพอร์ตของเรา เพราะบางครั้งอาจมีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อหุ้นมีการผันผวนอย่างรุนแรง แม้ว่าจะไม่มีการรับประกันก็ตาม สินค้าโภคภัณฑ์หรือโลหะมีค่ามูลค่าขึ้นและลงในรูปแบบที่แตกต่างจากการลงทุนอื่นๆ จึงทำให้พอร์ตโดยรวมไม่ผันผวนมากไปแม้ในช่วงตลาดหุ้นตก

4. เริ่มลงมือเก็บสินทรัพย์เข้าพอร์ต

เมื่อมีแผนการจัดสรรสินทรัพย์และมีการกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมแล้ว การเลือกลงทุนแต่ละรายการก็ง่ายขึ้น และทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเก็บสินทรัพย์ตัวไหนเข้าพอร์ตของเราบ้าง รวมทั้งสามารถแบ่งเป็นพอร์ตแยกย่อยในสัดส่วนที่ชัดเจนเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ ได้ด้วย การจัดพอร์ตเพื่อการลงทุนด้วยหุ้นรายตัวอาจใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ยอดขาย ผลกำไร ส่วนแบ่งตลาด และการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมของบริษัท ส่วนการลงทุนด้วยกองทุนรวม ก็สามารถเลือกจากนโยบายกองทุน ระดับความเสี่ยง และสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุน ซึ่งกองทุนรวมก็มีทั้งการลงทุนในหุ้น ในพันธบัตร ตราสารหนี้ กองทุนรวมสินทรัพย์อื่นๆ เช่นทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรือแบบผสม และยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอีกมากมายหลายชนิดที่สามารถนำมาเติมในพอร์ตของเราได้

[affegg id=4404]

5. ทำการจัดการภาษีให้เป็นการลงทุน

การเงินส่วนบุคคล, จัดพอร์ตการลงทุน
Image Credit : freepik.com

สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อเงินออมของเราก็คือ ภาษี  ซึ่งมีการลงทุนบางประเภทที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ เช่น การลงทุนในกองทุนรวม SSF  RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม ประกันออมทรัพย์ ประกันบำนาญ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ให้ทั้งสิทธิ์นำเงินต้นไปลดหย่อนภาษี แถมยังยกเว้นภาษีรายได้และกำไรเนื่องจากลงทุนอีกด้วย การแบ่งสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ นอกจากจะเป็นการสร้างวินัยการออมอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังสร้างความมั่นคงให้กับพอร์ตของเราด้วย และยังได้ประโยชน์ทางภาษี มีเงินเหลือมาลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

6. ตรวจสอบและติดตามผลงาน

เมื่อสถานะในชีวิตเปลี่ยนไป เช่น มีการเปลี่ยนงาน รายได้น้อยกว่าเดิม หรือแต่งงาน มีครอบครัว ต้องวางแผนมีลูก เป้าหมายการลงทุนก็อาจจะเปลี่ยนไป การจัดการการเงินส่วนบุคคลก็ย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย จึงควรมีการทบทวนพอร์ตการลงทุนของเราอยู่เสมอ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และอาจบ่อยครั้งกว่านั้นหากมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของเรา ทั้งนี้ การปรับสมดุลพอร์ตไม่ได้เป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องของการจัดการความเสี่ยงและเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนของเรา ณ ปัจจุบัน เป็นการจัดการพอร์ตให้มีความสอดคล้องกับสถานะทางการเงินและความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้อยู่เสมอ

7. อย่าให้การลงทุนกลายเป็นความเสี่ยงจนชีวิตพังทลาย

การจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อเป็นการบริหารการเงินส่วนบุคคลให้สมดุลนั้น นอกจากปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากคือ อย่าใช้เงินทุกก้อนไปกับการลงทุนเพียงอย่างเดียว และก็อย่าลืมเตรียมเงินสำรองเอาไว้สำหรับความเสี่ยงต่างๆ ในกรณีที่ไม่ได้เป็นไปตามแผน จะต้องมีแผนรองรับและอุดรอยรั่วทางการเงินเอาไว้เสมอ ทั้งกรณีการเจ็บป่วยที่อาจต้องใช้เงินทั้งหมดที่สะสมมาไปกับการรักษา การจากไปก่อนวัยอันควรแล้วทิ้งภาระหนี้สินก้อนใหญ่พร้อมพอร์ตการลงทุนที่ยังไม่โตให้กับครอบครัว รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการสูญเสียเงินต้นจากการลงทุนทั้งหมดด้วย ในกรณีที่มีการขาดทุนทั้งหมด ถ้าเกิดเหตุการสูญเสียเงินต้นไป จะต้องไม่กระทบกับชีวิตโดยรวมของเรา การจัดพอร์ตลงทุนที่สมดุลจะช่วยทำให้ไม่ต้องมัธยัสถ์เกินไปจนขาดความสนุกในชีวิต และไม่พลาดโอกาสในการต่อยอดเงินเพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงย ถ้ากำลังสงสัยว่า เราพร้อมสำหรับการลงทุนแล้วหรือยัง ก็สามารถใช้สามเหลี่ยมการเงินซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เพื่อพิจารณาความพร้อมในการลงทุนของเราดูก็ได้ค่ะ

[affegg id=4405]

Inspire Now ! : โดยทั่วไปแล้ว หุ้น กองทุนรวม และพันธบัตรถือเป็นองค์ประกอบหลักของพอร์ตการเงิน แต่เราก็สามารถสร้างพอร์ตการเงินด้วยสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ภาพวาด และงานศิลปะสะสมอื่นๆ โดยยึดเอาแนวคิดการกระจายความเสี่ยงเป็นแนวคิดหลักในการจัดการพอร์ตโฟลิโอ รวมถึงการประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง วัตถุประสงค์ในการลงทุน และระยะเวลาในการลงทุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการรวบรวมสินทรัพย์และปรับพอร์ตการลงทุนของเรา และการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสม ก็เป็นทักษะทางการเงินที่สำคัญที่จะทำให้เรามีความมั่นคงทางการเงิน และมีความมั่งคั่งตามมาได้ค่ะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? ได้รู้แนวทางการจัดพอร์ตการลงทุนกันไปแล้ว หากใครสนใจในเรื่องของการเงินการลงทุน ก็ควรศึกษาให้ดีและมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงทุนนะคะ เพราะการลงทุนล้วนมีความเสี่ยง หากไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอ ก้อาจทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังได้ค่ะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : groww.in, nerdwallet.com, investopedia.com, marketinsights.citi.com

Featured Image Credit : freepik.com/wayhomestudio

Facebook Comments

แพทย์เวชศาสตร์ความงาม ผู้หลงไหลการพัฒนาตัวเอง ชอบแบ่งปันประสบการณ์ รักการอ่านและการท่องเที่ยว