Mindfulness คือ อะไร ? ชวนรู้จักศาสตร์แห่งการฝึกสติ เพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้นแบบองค์รวม
Mindfulness คือ อะไร รู้จักการฝึกสติเพื่อบริหารความคิด อารมณ์จิตใจ ให้มีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดีขึ้น ชวนมาเข้าใจ และฝึกไปพร้อมๆ กัน
เราเชื่อว่ามีหลายคนที่มองหาโอกาสที่จะทำความดีอยู่ทุกวัน บางคนก็มีความคิด แต่ยังไม่มีโอกาสได้ลงมือทำ เนื่องด้วยจังหวะเวลา หรือสถานการณ์หลายๆ อย่าง แต่สำหรับทีม Read for The Blind นั้น เรียกว่าเป็นคนที่คิด และเลือกที่จะลงมือทำ และแน่นอนค่ะ บทสัมภาษณ์นี้ DIYINSPIRENOW ได้รับโอกาสพูดคุยกับ Admin และผู้ก่อตั้ง Read for the Blind เรามาค่อยๆ ทำความรู้จัก วิธีคิด ความตั้งใจ การเดินทางกว่าที่จะมาเป็นแอปพลิเคชั่นอ่านหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอดจากคุณอิ๊ก และคุณณัฐผ่านบทสัมภาษณ์นี้กันค่ะ
คุณอิ๊ก : “ชื่อชลทิพย์ ยิ้มย่อง อิ๊กค่ะ ปัจจุบันอยู่ที่มูลนิธิคนตาบอดไทย ดูแลเกี่ยวกับระบบบริการข้อมูลข่าวสารของคนตาบอด ที่ห้องสมุดคนตาบอด และผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ”
คุณณัฐ : “ขอแบ่งเป็นสองส่วนละกันนะครับ เรื่องที่เราทำ Read for the Blind ก็คือถือเป็นคนคนนึงที่มาเจอกับคุณอิ๊ก ที่เราคิดว่าเรามีพื้นฐานด้านไอทีกับเทคโนโลยีมาเจอกันก็เลยเกิดไอเดียอันนี้ขึ้นมา แล้วก็หาวิธีสร้าง เพราะงั้นอันดับแรกก็คือการตั้ง “Read for the Blind” กับ “ช่วยอ่านหน่อยนะ” เพื่อสังคมล้วนๆ ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจใดๆ ส่วนอีกขานึงว่าทำงานอะไรอยู่ก็คือเป็นประธานบริษัททรูดิจิตอลครับ แล้วก็เป็นรองประธานสภาดิจิตอล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ประมาณนี้ครับ”
“ตอนนั้นมองเห็น น่าจะประถม แต่ก่อนเป็นคนพูดน้อย ขี้กลัว ไม่มีเพื่อน พ่อแม่เป็นครู และคาดหวังมาก เรียนต้องได้ดี หรือว่าทำผิดจะถูกตี ไม่กล้าไปเล่นที่ไหนเลยเพราะกลัว ไม่มีเพื่อน อยู่บ้านก็เล่นคนเดียว คุยคนเดียว เหมือนเด็กเก็บกด และจะเขียนไดอารี่ “แม่ชอบแอบไปอ่าน ก็เลยประดิษฐ์ภาษาเอง เป็นภาษาที่รู้เองคนเดียว เขียนไปเลย ใครจะเอาไปอ่าน ก็ไม่รู้ละ”
คุณอิ๊กเล่าว่าเจอจุดเปลี่ยนชีวิตตอนอายุ 14 ด้วยอาการต้อหินเรื้อรังที่เป็นมาตั้งแต่เกิด “เป็นต้อหินเรื้อรังมาตั้งแต่เกิด แต่เราไม่รู้ พ่อแม่ก็ไม่รู้ มันไม่ไหวแล้ว ด้วยที่ถูกเลี้ยงมาให้เหมือนผู้ชาย แบบอึดอ่ะ ล้มเองก็ต้องลุกเอง ไม่มีใครประคบประหงม เค้าก็จะว่าเราก้าวร้าว เช่น ปิดสวิตช์ทำไมไม่ใช้นิ้ว แต่ใช้ทั้งมือ หรือเวลามองใครทำไมมองตาขวาง มีวันนึงที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว คือไปทำงานบ้านเพื่อน แล้วกลับบ้านไม่ไหว มองทุกอย่างเหมือนมีผ้าขาวบางปิดหน้า ตอนนั้นมารู้ตัวว่ากลับบ้านไม่ไหวแล้ว โทรบอกพ่อ พ่อก็มารับ วันรุ่งขึ้นไปหาหมอ หมอบอกปุ๊ป ชีวิตเปลี่ยนเลย พ่อร้องไห้ และเปลี่ยนเลย พ่อไม่เข้มงวดเหมือนเดิม เรื่องเรียนก็ให้เอาแค่ผ่านก็พอ”
คุณอิ๊กเล่าต่อว่า เมื่อชีวิตเปลี่ยนและเข้าเรียนในช่วงมัธยม 3 ทำให้เธอได้เข้าใจมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้ออกสังคมได้ และอยู่กับคนอื่นได้ “พอขึ้นมอสาม พ่อถามว่าอยากไปเรียนมั้ย เราบอกอยากไป ก็เลยได้ไปเรียน แล้วมันเปลี่ยนโลกเราคือ ทำให้เราได้เห็นคนรอบข้างชัดเจนมากขึ้น จากคนที่เคยไปเพื่อน แต่ตอนนั้นก็เป็นคนขี้อายเหมือนเดิม พอโตขึ้นอีกหน่อยเราก็มองว่าทำไมคนนั้นเค้ามีความสุข ทำไมคนนั้นเค้านึกถึงอีกคนนึง เวลาไปไหนแล้วเค้าซื้อของมาฝาก ทำไมคนนั้นมีแต่คนเรียก แต่เราไม่มี ก็เลยค่อยๆ ปรับตัวเอง เพราะอยากมีคนนึกถึงเรา”
คุณอิ๊กเล่าถึงภาพความทรงจำให้เราฟัง 3 เรื่องด้วยกัน พอฟังแล้ว เราได้เรียนรู้ และได้แรงบันดาลใจเยอะมากจากทั้ง 3 สถานการณ์
“ภาพที่อยู่ในโรงพยาบาลกับพ่อ ก่อนเปิดตา กลัว พ่อเค้าให้กำลังใจ กินยาที่ไม่น่ากินให้ดู แล้วบอกพ่อกินได้ เราก็กินได้ พ่อเป็นคนคอยอยู่ข้างๆ ให้กำลังใจ ดูแลตลอด สอนให้เราไม่ต้องแคร์ใครให้เยอะ ทำอะไรที่เป็นความสุข จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคอยเป็น back ให้กับเรา และเชียร์”
“ได้ไปเที่ยวกับพ่อ นั่งรถไปทัวร์ทั่วประเทศ เราจะดูแผนที่ให้พ่อ” ถึงแม้จะเป็นประโยคสั้นๆ แต่เรารู้สึกได้ถึงความสุขที่ไหลผ่านออกมาจากน้ำเสียงของคุณอิ๊ก
“ตอนนั้นมองเห็นลางๆ เดินไม่ค่อยคล่อง อ่านหนังสือแล้วหาจุดโฟกัสไม่เจอ ตอนนั้นจะไปต่อ ปวส. ตอนไปสมัครได้ยินครูพูดว่า ขนาดกรอกใบสมัครยังไม่ได้ แล้วจะเรียนได้ยังไง ประโยคนั้นทำให้เราคิดว่า เดี๋ยวเห็นกัน เดี๋ยวรู้กัน แล้วเราก็เรียนได้ แต่อาจช้าหน่อย เพราะอ่านช้าหน่อย เช่น ข้อสอบร้อยข้อ เราอาจจะทำได้ 60 ข้อ งานส่งไม่เคยขาด ใช้วิธีพลิกแพลงจนจบ แล้วอยากทำงาน เราก็ไปลงเรียนเสาร์ อาทิตย์ ลงเรียนวิทย์คอม เขียนโปรแกรม ที่เรียนเค้าบอกว่าที่นี่ไม่มีอะไร support นะ ถ้าอยากเรียนก็ต้องดิ้นรนเอง เราก็คิดว่าเราเกิดมาแล้วครั้งนึงในชีวิต แล้วทำไมเราไม่มีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่เราอยากทำ ก็เลยลงเรียน แต่ไม่ง่าย สาหัส ไม่รู้ร้องไห้มาเท่าไหร่ กว่าจะเรียนจบ 4 ปี ในขณะที่คนอื่นเรียน 2-3 ปี พอทำได้แล้วรู้สึกดี เราก็ค้นพบอีกเรื่องนึงว่าต่อให้เราทำไม่ได้ แต่การวิ่งเข้าหาคน อันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มองที่อาจารย์สอนไม่เห็น ก็ไปขอเอกสาร หรือข้อสอบทำไม่ทัน เจออาจารย์ใจดี เค้าก็อ่านให้ บางครั้งไม่เจอก็ต้องวัดดวงอ่านเอง มันวัดกับความรู้สึกของเราด้วย หลังจากนั้นก็ไปคุยกับอาจารย์ เค้าก็จะมีวิธีแก้ สุดท้ายเราก็ได้ เพราะการที่เราวิ่งเข้าหา เราก็จบมาโดย เราก็สามารถเขียนโปรแกรมให้เพื่อนอีกสองคนได้ เพราะเรียนมาแบบนี้ จบมาแบบนี้เลยได้มาทำงานที่มูลนิธิคนตาบอดไทย อันนี้เป็นความภูมิใจที่คิดว่าถ้าไม่ได้ดิ้นรนวันนั้น คงไม่มีวันนี้”
คุณอิ๊กเล่าว่าก่อนที่จะมา Read for the Blind ทำงานทุกอย่างของมูลนิธิคนตาบอดมาเกือบ 20 ปี ทำทั้ง ฝ่ายผลิต, แนะนำอาสา, ตรวจงาน QC, สายด่วน 1414 แล้วก็มาทำ Tab to Read แอปพลิเคชั่นหลักที่คนตาบอดใช้ฟังหนังสือ และหลังจากนั้น
“ก็มีผู้ชายคนนึงเดินเข้ามาที่ห้องสมุดตอนนั้น เหมือนว่าเป็นวันหยุด คนไม่มี เจ้าหน้าที่ไม่มี แล้วอยู่ๆ พี่เค้าวิ่งมาตามว่าให้ไปคุยกับท่านนี้หน่อย อาสาท่านนี้หน่อย เพราะอยู่ๆ ก็เดินเข้ามาเลย มาคุย คุยไปคุยมาก็กลับไป แล้วอยู่ๆ ก็ ไม่รู้นึกยังไงเหมือนกัน อิ๊กดันไปพูดไอเดีย ว่า จากการที่เราได้เห็นอาสาอ่านหนังสือผ่านคอมพิวเตอร์อะไรแบบนี้ แล้วมันก็มีแอปพลิเคชั่นแล้ว ก็เลยเกิดความคิดว่า จริงๆ มันน่าจะมีแอปที่ผลิตหนังสือในมือถือนะ ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะทำยังไงให้ตัวเองทำงานสะดวกขึ้น เหมือนได้ตรวจงานอาสาผ่านมือถือได้ด้วย หรือไม่ยึดติดกับคอมพิวเตอร์ก็แค่คิดอ่ะ แล้วมาเจอคุณณัฐก็เลยคุย แล้วมันมาจูนตรงกัน มันแปลกมาก แล้วหลังจากวันนั้นคุณณัฐเค้าก็พูดไอเดีย คือตอนนั้นเค้าเป็นอาจารย์ สอนนักศึกษา อยากให้ทำโปรเจคนี้เนอะ งั้นเดี๋ยวจะลองเอากลับไปคุย แล้วก็เลยกลับไป หลังจากนั้นก็หายไปนานเลย ประมาณนี้ค่ะ เส้นทางคร่าวๆ”
คุณณัฐ : “ต้องย้อนนิดนึง คือภรรยาผม เค้าไม่สบาย เป็นมะเร็ง ผ่าตัด แล้วเราก็เลย บอกว่าเอ๊ะ เราอยากจะอ่านหนังสือให้คนตาบอด แบบเหมือนกับสร้างหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด เพิ่งผ่าตัดมาก็เหมือนอยากจะไปทำอะไรดีๆ ก็ไปอ่านหนังสือ ก็ปรากฎว่า วันนั้นที่ไปเจอคุณอิ๊ก ก็คือเป็นวันแรกที่ผมได้ไปอ่านหนังสือเสียงครั้งแรก เพราะงั้นก็เลยต้องผ่านการเทรนนิ่งโดยคุณอิ๊ก ก็เลยมีความรู้สึกว่าระบบที่ใช้มันยังต้องเทรนประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วพออ่านจริง ผมก็อ่านช้า เพิ่งอ่านวันแรกใช่มั้ยครับ มันไม่ได้อ่านเฉยๆ คือมันต้องอ่าน แล้วมันต้องมีคลิกเมื่อจบหน้า เลขหน้า คือเยอะ วันนั้นคุยกับคุณอิ๊กก็เลยเกิดเป็นไอเดีย เอ๊ะทำไมเราไม่ทำแอปบางอย่างที่ทำให้คน ตอนนั้นมือถือ สมาร์ทโฟนมันเริ่มเฟื่องฟูมากละ ทำไมไม่ให้ทุกคนมีแอปพลิเคชั่นอ่านผ่านมือถือ แล้วก็ที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่มีแค่อ่าน แล้วก็ส่ง แต่ว่ามันต้องมีระบบรวมศูนย์กลาง ที่ทำให้หลายๆ คนอ่านเข้ามาแล้วไปรวมอยู่ใน cloud แล้วที่สำคัญก็คือมีระบบที่ถ่ายทอด ไปหาระบบที่คนตาบอดอ่านได้ ก็เลยเกิดไอเดียนี้ cloud sourcing คือมีคนรวมๆ เข้าไปอ่าน แต่พอ launch ออกมา วันนั้นที่ทำขึ้นมาเนี่ย ที่คุณอิ๊กบอกว่าผมเป็นอาจารย์เนี่ย คือผมเป็นอาจารย์ที่มหิดลด้วย ผมจบวิศวะ จุฬาฯ นะฮะ ไอเดียแรกเนี่ย คือกะจะให้นักศึกษาเนี่ยแหละ คือกะจะไปท้านักศึกษา ตั้งใจไว้ ไม่รู้คุณอิ๊กยังจำได้มั้ย”
คุณอิ๊ก : “จำได้ ตอนนั้นจะไปแจกเงินนักศึกษา”
คุณณัฐ : “ผมตั้งใจไว้ว่าจะไปแจกเงินสักแสนนึง ไปท้านักศึกษาว่า ถ้าใครทำได้ ไม่มีคำว่าประกวด เพราะคำว่าประกวดเนี่ย เดี๋ยวมันมีคนแรกที่ทำ คนที่สองที่ทำ แล้วตกลงใครทำกันแน่ หรืออาจจะทำออกมาครึ่งๆ กลางๆ คือกะว่ามีแค่หนึ่งอัน คือท้าเลย ใครทำสำเร็จ เอาไปเลย คิดไปคิดมา มันใหญ่กว่าที่คิด แล้วก็ลองไปคุยกับอาจารย์ ก็คิดว่าต้องรอแบบจุฬาวิชาการอะไรแบบเนี้ย แล้วก็เลยแบบ เอ๊ะ ไม่เอาละ ทำเองเลยดีกว่า แล้วก็หาแบบพันธมิตรร่วม พอดีโชคดีมีเพื่อนหลายคนที่มีความตั้งใจร่วมกัน หนึ่งในนั้นก็คือ ตอนนั้น คุณอริยะ พนมยงค์ เป็น Head ของ Google Thailand ช่วงนั้น แล้วก็มีคุณอู๊ด สิทธิโชค นพชินบุตร ตอนนั้นก็เป็น MD ของ Samsung เนี่ย 3 คน ก็เลยออกไอเดียร่วมกัน ไม่ต้องไปท้านักศึกษาละ ทำเลย แต่จริงๆ ก่อนจะมาถึงจุดนั้นนะครับ ก็นั่งปรึกษากับหลายคน หลายคนก็บอกว่าอย่าทำ ไม่สำเร็จหรอก จะไม่มีคนใช้หรอก ก็เลยโทรไปปรึกษาคุณอิ๊ก ถ้าพูดเรื่องแรงบันดาลใจ ขอบอกว่าถ้าทำคนเดียว หัวเดียวกระเทียมลีบนะ ไม่มีวันเกิด ผมเลยโทรไปปรึกษาคุณอิ๊ก แม้แต่เพื่อนหลายคนก็ยังบอกเลยว่าอย่าทำ คุณอิ๊กเนี่ยแหละเป็นคนบอกว่า คุณณัฐ ถ้ามีไอเดียแบบเนี้ย เราต้องทำ ไม่รู้อันนี้คุณอิ๊กคิดยังไงช่วงนั้น ถ้าผมไม่ได้คุณอิ๊กนะ อาจจะ drop ไปละ”
คุณอิ๊ก : “อิ๊กก็ตามหาตัวเองไม่เจอนะ ตอนนั้นน่ะ แต่จริงๆ หลายๆ คนก็คิดว่าไม่น่าจะทำ ไม่น่าเป็นไปได้ อาจเป็นเพราะยึดติดกับหนังสือ Daisy ที่คนตาบอดใช้กันเป็นมาตรฐานทั่วโลก ซึ่งจะผลิตด้วยโปรแกรมที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก แต่ตัวแอปนี้มันทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเราไม่เคยพยายามทำ ทำแล้ว แต่ข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ มาถึงปัจจุบัน เราพยายามมาก ทุกวันนี้จริงๆ ถ้าเทียบแล้ว ทำได้เกือบเทียบเท่าโปรแกรมที่ผลิตหนังสือ Daisy แล้ว ต่างกันก็คือ แต่งประโยคไม่ได้ ใส่เลขหน้าไม่ได้ นอกนั้นได้หมด”
คุณณัฐ : “แต่กลายเป็นว่าอาสาเข้ามาเยอะ คือเป็นตัวเด่นเลย คือเหมือนเป็นการแลกกันระหว่างความยาก กับความง่าย คือ ยากแต่ perfect กับง่าย แต่ว่าเยอะ แล้วเราก็บอกว่ายากแต่ perfect ก็มีไป ก็ดีอยู่แล้ว แต่ว่าคนใช้น้อย หลักร้อย หลักพัน กับอันนี้หลักแสน”
คุณณัฐเล่าต่อว่าพอคนเข้ามาใช้งานเยอะ ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าลืมเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพไป และเพิ่งได้รู้ว่าทีม QC ทั้งหมด เป็นคนตาบอดจึงหาทางแก้ไขปัญหานี้
“ในชีวิตของนักนวัตกรรม เราแก้ปัญหา ที่เราคิดว่าอาสาน้อย เลยทำแอป เพื่อให้อาสาเข้ามา เราไม่ได้คิดหรอกว่า จะเข้ามาเยอะ แต่ปรากฎเข้ามาแสน พอ launch ออกไป ผมก็บอกทีมชัดเจนนะว่า คุณต้องมาสัมภาษณ์คนตาบอดตลอดเลยนะว่า ให้ใช้ แก้ปัญหาให้อาสาเยอะ ให้อาสาเข้ามาง่าย ปรากฎว่าลืม ว่ามันต้องมี QC คือพอไหลเข้ามาปั๊ป คราวนี้ไหลเข้ามาแบบท่วมท้นเลย QC เป็นคนตาบอดหมด ซึ่งเราไม่รู้ นึกว่าพอเข้ามาแล้ว มันก็จะไหลไปเป็นหนังสือเสียงโดยตรง หนักว่านั้น คุณอิ๊กซึ่งพาผมเดินชมห้องสมุด สอนผมหมด แบบเหมือนกับไม่ใช่คนตาบอด แล้วผมก็ไม่เคยรู้ จนทำเสร็จหมด เรียกว่า 8 เดือนช่วงนั้น คุณอิ๊กเป็นคนพาผมเดิน ขึ้นลงบันได เปิดประตู คือได้หมด ผมก็เลยบอกว่า เนี่ยคุณอิ๊กแอปเสร็จแล้วนะ มาดูสิ หนังสือเข้ามาเยอะเลย คุณอิ๊กบอกดูยังไง มันไม่ access เลย คือผมไม่ได้คิดเรื่อง accessibility เลย เรื่องคนใช้ เป็นคนตาดี ส่วนไหลเข้ามาแล้ว ไหลเข้าท่อคนตาบอดเอง แล้วไหลเข้าระบบ 1414 ที่คนโทรเข้ามาอะไรแบบนี้ แต่ลืมไปว่ามันมี QC ซึ่งทีม QC ทั้งหมดเป็นคนตาบอด แล้วคุณอิ๊กก็บอกว่า คุณณัฐดูไม่ได้ว่าแอปเป็นยังไง ผมก็แบบไม่เคยรู้เลยว่าคุณอิ๊กเป็นคนตาบอด แล้วคุณอิ๊กก็บอกว่า แล้วจะบอกทำไมว่าเป็นคนตาบอด ใครจะมาอยู่ๆ แล้วจะมาบอก”
คุณอิ๊ก : “เออ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องประกาศให้ใครรู้ไง ในมุมมองอิ๊กนะ คนอื่นจะบอกหรือเปล่าไม่รู้”
คุณณัฐ : “ผมก็เลยแบบ โอเค รีบดำเนินการ แต่ว่าแอปมันไม่ได้แก้ง่ายๆ ก็เลยตรงกลางมันไหลเข้ามา แล้วมันใช้ PC ก็เลยทำให้ PC ที่มีหนังสือเสียงมันไหลเข้ามาในไฟล์เยอะๆ ร่วมกับคุณธนาคม เค้าเป็นวิศวกรมือหนึ่งเลย เก่งมาก”
คุณอิ๊ก : “คุณธนาคมเค้าจะเป็นคนที่เขียน สร้างตัว telephony ให้เราอยู่แล้ว ก็เลยจับสองขั้วนี้มาเจอกัน เพราะทางนั้นเค้าจะเข้าใจเรื่อง accesibility ของคนตาบอด”
คุณณัฐ : “คุณธนาคมเค้าก็เลยไปแก้ที่หลังบ้านก่อน ให้ PC มันทำให้คนตาบอดอ่าน เพราะมันแก้ง่ายกว่า เข้าไปเรียบเรียงหนังสือ ตามไฟล์ได้ QC ทำไม เพราะว่าคนอ่านเยอะใช่มั้ยครับ ก็ไม่ได้เทรน เพราะงั้นก็จะมีดี ไม่ดี ปนกัน คนตาบอดก็จะต้องมาปรับๆ ช่วงแรก ทีนี้อันนั้นก็แก้ไปได้เปราะนึง แต่คิดกันมาแล้วแหละว่าเวอร์ชั่น 2 คนตาบอดจะต้องใช้ได้ ตั้งแต่ต้นเลย เราเลยทำเวอร์ชั่น 2 แบบ accessible แล้วก็ยังมีปัญหาอีก หนังสือไหลเข้ามาเยอะเวอร์ ทำยังไง ไม่ให้ QC หนักเกินไป ก็เลยทำการให้คะแนน เหมือนกับ Youtube คือพูดง่ายๆ ใครฟังเยอะ แล้วก็มีให้คะแนนด้วย ก็จะมี 2 scores คือความ Popular ของหนังสือ แล้วก็ score ที่ให้ความดี ความชอบ คือเหมือน Youtube ที่มี like แล้วก็มีจำนวน view ของคนตาบอด อาสาเนี่ยฟังไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายลิขสิทธิ์”
คุณอิ๊ก : “ตรงนั้นแรงมาก แอปเราก็เคยโดน”
คุณณัฐ : “ปรากฎว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ออกมาช่วงนั้นเลย บอกว่าการทำซ้ำให้คนตาบอดเนี่ยได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย เราก็ดีใจมาก ประเด็นก็คือว่า พอมี score เนี่ย มันช่วย rank ให้เองเลย อะไรดีให้ขึ้นข้างบน แต่ว่า QC ก็ไม่ได้ตัดปัญหาออกไป แต่ QC ก็ชัดเจนขึ้นละ ดูอัน top ก็ยกไปเข้าระบบให้คนตาบอดฟัง นั่นคือที่มา”
คุณอิ๊ก : “ในเวอร์ชั่น 2 ที่เราจะปรับก็คือว่าคนอ่านมันเยอะมาก แล้วแอดมินก็เราดูอยู่คนเดียว ต้องไปดูหลังบ้าน เราก็ไม่ไหว งานบริการเราก็ต้องดู สุดท้ายก็เลย เราคิดว่าให้คนตาบอดเข้ามาช่วยฟังไปเลย อย่างน้อยก็มีเวลายืดให้เรา ได้ค่อยๆ เช็กงานเอามาทำด้านอื่น ก็เลยกลายมาเป็นเวอร์ชั่น 2 ที่มีฝั่งคนตาบอดด้วย ปัจจุบันก็เป็นเวอร์ชั่น 3”
คุณณัฐ : “จริงๆ ก็เป็นโลกยุคใหม่ เป็นโลกของการที่กลุ่มคนเป็นคนโหวตกันเอง ก็คือมาเข้าทางโลกยุคใหม่พอดี ก็คือดีใจนะ ที่มันมาถึงตรงนี้เหมือนกัน เพราะตอน lanuch ไปตอนแรกก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะว่าส่วนตัวหลังจากที่คุยกับคุณอิ๊กมันน่าจะเป็นประโยชน์ เราก็อยากทำให้มันเกิด แล้วจะเป็นยังไงก็เป็นไป มีช่วงนึงที่รู้สึกเลยก็คือ อย่างน้อยที่สุดช่วยสมาคมคนตาบอด คือคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้ว่าคนตาบอดต้องการ accessibility ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรืออะไรก็ตาม แล้ว awareness คือสำคัญมาก ทุกองค์กรเดิมต้องเอาคนมาอ่านหนังสือ แต่พอเค้ารู้ว่ามี Read for the Blind โอ้โห องค์กรขนาดใหญ่ที่เค้ามี employee เยอะๆ แล้วเค้าอยากทำแคมเปญแบบ 3 เดือนนี้ อยากจะอ่านสัก 500 เล่ม employee สักสามสี่พันคน หมื่นคนอะไรก็แล้วแต่เนี่ย คือมันง่าย คุณอิ๊กก็ไปพูดว่าใช้ยังไง แล้วมันก็ inspire แล้วก็ดีกับองค์กร คือทุกคนได้ moral ว่าองค์กรทำสิ่งดีๆ แล้วเค้าก็ไม่ต้อง instrall PC ไม่ต้องวาง PC ไว้สองสามเครื่อง ใน corner ที่มันอาจจะไม่มีคนมาก็ได้ คือ instrall Read for the Blind แล้วต่างคนต่างอ่าน บางคนจับกลุ่มกัน 3-4 คน อ่านหนังสือเล่มเดียว จบเร็ว ก็เลยกลายเป็น awareness แคมเปญ ที่องค์กรอยากทำเยอะมาก ไม่รู้คุณอิ๊กรู้สึกงั้นมั้ย คือองค์กรเลยเข้ามามีส่วนร่วมเยอะ เพราะมัน engage องค์กร มันเริ่มใหญ่ อย่าง บางจาก Samsung แน่นอนอยู่แล้วใช่มั้ยครับ ตลาดหลักทรัพย์ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานตลาดหลักทรัพย์ ทรู และอื่นๆ อีกเยอะเลย”
ความน่าสนใจของ Read for the Blind ไม่หยุดแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเตะตา ETDA (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) และในที่สุด Read for the Blind ก็ได้รับการคัดเลือกให้ไปพูดในเวทีสหประชาชาติ ที่เม็กซิโก
คุณณัฐ : “เป็นที่แรกในโลกที่ทำ คือเค้า recognize ว่าเนี่ยแหละ คือ innovation ที่ประเทศอื่นเอาไปเลียนแบบได้ จากเมืองไทย คือมันไม่ใช่ innovation technical มันคือเทคนิค + process + คน มันคือนวัตกรรมจริงๆ ที่ไม่ใช่ pure tech ระบบนิเวศน์รวมทั้งหมดในนี้ คุณอิ๊กก็ไปพูดที่ UN ที่ mexico ส่วนตัวผมมีความรู้สึกว่าก็ดีนะ มันเป็นจากแรงบันดาลใจที่คุณอิ๊กสร้าง”
คุณอิ๊ก : “ไม่ใช่ ก็คุณณัฐด้วย”
คุณณัฐเล่าต่อว่า มีคนจากหลากหลายประเทศที่เข้ามาฟัง หนึ่งในนั้นมีประเทศภูฏาน ซึ่งเค้าสนใจให้ Read for the Blind ไปช่วยทำให้เกิดในประเทศของเค้า
คุณณัฐ : “คือมันก็เหมือนกับว่าส่งไม้ต่อกันไป แล้วทุกครั้งที่เป็นสิ่งใหม่มันจะมีความท้าทาย หรือความรู้สึกติดขัดเสมอ มันเหมือน feed energy กัน ขอแค่ลงมือทำ มันไม่มีอะไรที่ถูกตั้งแต่วันแรก เหมือนที่เราทำ version 1 มันก็คือทำแล้วก็ปรับ ทำแล้วก็ปรับ จนมาถึงวันนี้ก็รู้สึกว่า เออ ขอให้ได้เริ่มก้าวแรก”
คุณอิ๊ก : “ติดต่อไปที่เพจห้องสมุดคนตาบอด กับเพจ Read for the blind คนที่กำลังกังวลอยู่ ไม่มันใจว่าตัวเองจะอ่านได้มั้ย ก็ขอยืนยันว่าจริงๆ ทุกคนอ่านได้ เพียงแต่ว่ายังไม่เคยลอง มาลองได้ ถ้ามีคอมพิวเตอร์ แนะนำให้อ่านในคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่มีจริงๆ โหลดแอปได้ เริ่มแรกก็ลองไปดูในบ้านว่ามีหนังสืออะไรมั้ยที่เคยซื้อติดไว้ เป็นหนังสือที่ตัวเองชอบก่อน เพราะมันจะทำให้มีแรงบันดาลใจที่อยากจะอ่าน แล้วก็ส่งมาให้เช็กรายชื่อหนังสือ ถ้าเรายังไม่มีก็กลับไปลองอ่านได้เลย ก็จะมีวิธีการแนะนำอยู่แล้ว มันไม่ยาก แต่ถ้าไม่ถนัด ให้ติดตามที่เพจห้องสมุดคนตาบอด เค้าจะมีอบรมออนไลน์ผ่าน zoom เป็นระยะๆ พอลองเริ่มอ่านก็ไม่ต้องกังวล ทักแชทถามได้ตลอด ส่งตัวอย่างถามได้ อยากให้ช่วยฟัง ติดตรงไหน อีกประเด็นนึงที่เน้นเลยคือ จะอ่านลงคอม หรือแอปแล้ว ให้อ่านในนั้นเลย อย่าไปลองที่อื่น เพราะเจ้าหน้าที่ต้องดูโครงสร้างหนังสือด้วย จะได้แนะนำได้ถูกจุด พอไม่มีอะไรติดแล้ว จบแล้วก็แจ้งมาได้เลยค่ะ”
เราถามเพิ่มว่ามีอะไรที่อาสา พอจะช่วยแบ่งเบาภาระของแอดมินได้มั้ย คุณอิ๊กเพิ่มเติมว่า “อยากให้อาสาส่งเป็นข้อความ ไม่อยากให้ส่งรูปภาพมาเพราะต้องทำหลายขั้นตอน”
คุณอิ๊กเล่าว่า สมัยก่อนเป็นคน Anti การเปลี่ยนแปลง เพราะกลัว ไม่กล้าที่จะทำสิ่งที่ต่าง แต่พอเริ่มทำมาเรื่อยๆ มีประสบการณ์มากขึ้น ก็ทำให้คุณอิ๊กได้พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ “จุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือมาจาก Read for the Blind ด้วย พอตั้งแต่ได้รับมอบหมายว่าให้เป็นทูต ก็จะมีองค์กรนั้นนี้ ติดต่อมาให้ไปพูด มันทำให้เราฝึกฝนจากตรงนี้แหละ ที่เราได้ไปเจอคนอื่น”
คุณอิ๊กเล่าต่อว่า เวลาไปออกงานกับคุณณัฐ ก็จะเจอกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกับในชีวิตปัจจุบันก็ทำให้เราต้องเปลี่ยนบุคลิก มารยาท ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ “ตรงนี้อิ๊กมองว่าทุกอย่างคือการเรียนรู้หมดเลยนะ แล้วเราได้ปรับตัว เราได้เจอคนเยอะขึ้น เราได้รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้ เราควรทำยังไง”
“ไม่เคยคาดหวังว่าจะมาจุดนี้ได้เลย ดีใจที่จากวันแรก แล้วกลายมาเป็นกระแสหลักอันนึง ส่วนตัวก็เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากในชีวิต ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจหรืออะไร”
“ผมส่งต่อให้มูลนิธิคนตาบอดเรียบร้อยแล้ว แต่ยังช่วยสนับสนุนในเวอร์ชั่นต่อๆ ไป ความฝันก็คือการส่งต่อแนวคิดแบบนี้ให้ลามไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอีกอย่างคือ Facebook Group “ช่วยอ่านหน่อยนะ” เป็นภาคต่อของ Read for the Blind คือให้อาสาช่วยพิมพ์ ช่วยบรรยายภาพให้คนตาบอด ตอนนี้มีอาสา standby อยู่สองหมื่นกว่าคน อันนี้ Sheryl Sandberg COO (Chief Operating Officer) ของ Facebook มาเชิญไปคุยเลย คุณอิ๊กกับผม อันนี้แนะนำเป็นการอ่านภาพ จุดเริ่มต้นก็คือทำ Read for the Blind มาเกือบสองปี แล้วก็มีอยู่วันนึง คุณอิ๊กส่งภาพให้ผมตอนสี่ห้าทุ่ม บอกว่าช่วยอ่านอันนี้ให้หน่อย ก็เลยพิมพ์ให้ ทีนี้ผมก็เลยบอกว่า แล้วถ้าผมหลับอยู่หล่ะ ใครจะมาพิมพ์ให้ ตอนนั้นก็คิดว่าจะทำแอปอีกอันหนึ่ง เพราะตอนนั้นกำลังบ้าทำแอป แทนที่จะเป็นอ่านหนังสือเสียง ก็ให้คนมา standby แล้วถ้าคนตาบอดส่งรูปเข้าไปก็ให้คนรีบอ่าน อ่านเป็นเสียงให้ฟัง คิดไปคิดมา ไม่เอาดีกว่า เหนื่อยตายเลย ทีนี้คุณอิ๊กเลยบอกว่า คนตาบอดใช้ Facebook เก่งมากนะ ก็เลยเล่าให้ฟังว่าใช้ยังไง เช้ามาผมก็เลยสร้างกลุ่มเลย ใช้ Facebook แล้วก็บอกคุณอิ๊กว่าเดี๋ยวผมอาสาพาเพื่อนมาแจม แต่คุณอิ๊กก็หาคนตาบอดมานะ แล้วคุณธนาคมก็ตั้งชื่อกลุ่มว่า “ช่วยอ่านหน่อยนะ” ผมก็ลองก่อน ผมปลอมเป็นคนตาบอดอยู่นอกห้อง ผมถ่ายรูปแล้วส่งเข้ากลุ่ม แล้วก็บอกให้ภรรยาที่เป็นมะเร็งนอนอยู่ที่ห้องปลอดเชื้อ เป็นสมาชิกกลุ่ม ให้เข้าเขียนอธิบายดู ผมก็เห็น Noti แล้วก็ลองใช้ฟังก์ชั่น accessibility ฟังดูว่ามันจะอ่านออกมาเป็นยังไง ก็อ่านได้ เลยโทรหาคุณอิ๊ก เนี่ย รูปแรกลองละ ใช้ได้ แต่เราไม่รู้หรอกว่าคนจะใช้มั้ย ก็เลยลองกันดู ลองหาคนมาใช้โพส สรุปอาสาเยอะกว่าคนตาบอด อาทิตย์แรก 800 คน ก็เริ่มมีคนมาโฟส ทำไปทำมาสองหมื่นกว่าคน มีผมกับคุณอิ๊กสองคนเป็นแอดมิน อันนี้เป็นออแกนิค ก็ภูมิใจมากๆ เลยครับ”
ถ้าเป็นเรื่องงาน คุณอิ๊กเล่าว่า “เราลงตัวละ อยากจะอยู่ไปเรื่อยๆ เราไม่กลัวที่จะทำอะไรใหม่ๆ” ส่วนเรื่องส่วนตัวมองเรื่องหลังเกษียณ นับเวลาถอยหลังของชีวิต “คือจะเป็นคนที่ตั้งเป้ากับตัวเองตลอดนะว่า ภายในปีนึง ภายในสองปี เราจะต้องเป็นแบบนี้ หรือเริ่มต้นจากการไม่พร้อมนี่แหละ เพราะคนเราถ้าไปเริ่มต้นจากการที่พร้อมอ่ะ มันไม่มีทางพร้อม ”
“ขอบคุณพ่อที่เค้าหล่อหลอมเรามาเป็นแบบนี้ ขอบคุณแม่ที่ช่วยซัพพอร์ทอะไรหลายๆ อย่าง จากตอนเด็กที่ล้มแล้วต้องลุกเอง มันทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างเราจะได้มาเราต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง เราจะไปรอหวังพึ่งใคร สิ่งที่เรียนรู้มาตลอดชีวิต การรอให้คนอื่นช่วย เราจะไม่มีทางประสบผลสำเร็จ แต่การที่เราได้ลงมือทำเองเลย เราจะทำได้ และนั่นจะเป็นความภาคภูมิใจ ทุกคนมีปัญหาหมด แต่เราจะเอาตรงนั้นมาเป็นประสบการณ์ และผ่านไปได้ยังไง ให้เรามอง ทุกเรื่องมีข้อดีซ่อนอยู่ทุกอย่าง อย่างน้อยๆ มันก็ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น และเราก็จะเป็นคนใหม่ที่แบบ โห…แค่นี้เองหรอ โอ้ย เคยผ่านมาแล้ว เรื่องแค่นี้เอง เวลาที่เราแย่ คนที่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ก็คือตัวเราเอง”
“ที่ Facebook Page Read for the Blind เลยค่ะ หรือถ้าจะติดต่อเกี่ยวกับองค์กรทำกิจกรรม อยากให้วิทยากรอบรมอาสา นักศึกษาทำกิจกรรม ที่นอกเหนือจากการอ่านผ่านแอป ก็ติดต่อได้ที่ Page ห้องสมุดคนตาบอด”
คุณอิ๊ก : “จริงๆ ต้องขอบคุณอาสาทุกคนที่ให้ความสนใจ ถึงแม้ว่าบางคนอาจสนใจแต่ไม่มีเวลาที่จะได้อ่านจริงๆ แต่ว่าสักวันนึงก็อาจมาเป็นอาสาได้ หรือคนที่อ่านต่อเนื่องมายาวนาน จากที่ออกเสียงไม่ค่อยชัดเจน ไม่ค่อยมั่นใจ ตอนหลังก็กลายมาเป็น คนที่อ่านได้เสียงไพเราะ นุ่มนวลขึ้น คนตาบอดได้ อาสาสมัครก็ได้ การที่คนตาบอดได้จากอาสา จากการอ่าน มันไม่ต่างจากคนตาดีค่ะ การอ่านมันช่วยเปิดโลกจากตัวหนังสือ การอ่านมันช่วยเติมเต็มคลังปัญญาให้กับทุกคน มันเข้าไปในหัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัวหรอกว่าสักวันนึงเราจะหยิบตรงไหนมาใช้ในชีวิต ตัวอิ๊กเองเจอกับตัวเองก็คือ บ้านิยาย คือชอบอ่าน ใครว่านิยายไม่มีประโยชน์ นิยายไม่ใช่ประโลมโลกหรือไร้สาระ โอเคเราอาจจะบันเทิง แต่ส่วนหนึ่ง ที่เราพูดได้ทุกวันนี้ ที่เราสามารถเขียนสำนวนได้ มันมาจากการอ่านทั้งนั้นเลยค่ะ เราได้สำนวนมาจากการฟังหนังสือที่อาสาสมัครอ่าน สำนวนดีๆ คำสวยๆ ที่นักเขียนเรียบเรียงกันมาเยอะมาก เราเก็บมาใช้โดยที่เราไม่รู้ตัว ทำให้การเขียนของเราแบ่งวรรคตอนได้ดีขึ้น แล้วก็ที่สำคัญเรื่องการงาน สามารถเอามาใช้ปรับเสริมทางด้านอาชีพ บางคนเป็นหมอนวด บางคนเป็น operator ต้องฝึก อาสาบางคนเป็นอาจารย์ต้องใช้ความรู้เยอะ บางทีไม่ใช่แค่สอนในตำรา แต่มันต้องมีเรื่องที่มาคุยกับลูกศิษย์ ก็สามารถ ยกบทพูด ที่เป็นแรงบันดาลใจมาพูดให้ลูกศิษย์ฟังได้ มันมีซ่อนอยู่ในทุกเล่ม ทุกแนว ตรงนี้คนตาบอดอ่านเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยอาสาสมัครที่มีตาช่วยอ่านให้เค้า แล้วก็อาสาสมัครมีเสียงเป็นของตัวเอง มีตาที่มองเห็น ที่บ้านมีหนังสือ แทนที่จะอ่านเองคนเดียว อ่านในใจ ก็มาอ่านแล้วแบ่งให้กับคนตาบอดได้ อาสาก็ได้จากการให้ สุขใจ ได้มีความละเอียดมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้นจากการอ่านออกเสียง มีความสุขมากขึ้น ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มากขึ้น”
คุณณัฐ : “ฝากทั้ง สองอย่างเลย “Read for the Blind” เป็นแอป “ช่วยอ่านหน่อยนะ” เป็น Group
(1.) ฝากอยากให้เข้ามาช่วยกันเยอะๆ ช่วยกันบอกต่อ
(2.) ถ้าใครเป็น member อยู่แล้ว ยังไม่ได้ลองอ่าน อย่างที่คุณอิ๊กว่า อย่าไปกังวลมาก ว่าจะอ่านแล้วเสียงไม่ดี ขอให้ได้ทำ ถ้าคุณเริ่ม เสียงมันจะเข้าเสียงกลางเอง ตอนแรกเสียงเป็นละคร มันจะเหนื่อย พอมันเข้าเสียงกลาง มันจะไปได้เรื่อยๆ เพราะงั้นขอให้ได้เริ่ม
(3.) ช่วยอ่านหน่อยนะ พอเห็นรูปแล้วก็ช่วยกันพิมพ์เข้ามา เพราะว่าน้องๆ ที่ส่วนใหญ่โพส เค้าเรียนหนังสือ เค้าก็จะรีบที่จะใช้ข้อมูลที่ขอให้ช่วย แล้วก็อย่าไปตอบการบ้านให้ คืออ่านเหมือนกับเป็นตาให้เค้า คือถ้าเค้าโพสคำถามของการบ้าน ก็ช่วยพิมพ์ในสิ่งที่เห็น ที่สำคัญที่สุดคืออยากฝากขอบคุณอาสาทุกคนผ่านสื่อไปว่า ขอบคุณมากที่มาช่วยกันทำสิ่งที่ดี”
วันที่สัมภาษณ์เราใช้เวลาคุยกันยาวเลยค่ะ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ นอกจากชุดคำถามที่เราเตรียม และคิดว่าสามารถเป็นข้อคิดเพิ่มเติม และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านได้ ก็เลยขอเอามารวมเป็นบทส่งท้ายให้ได้อ่านเพิ่มเติมกันนะคะ
(1) “คำที่คนตาบอดไม่ชอบให้พูดถึง คือคำว่า น่าเวทนา น่าสงสารจัง ทำบุญ อยากให้มองว่า ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าทุกคน ตาบอด ตาดี เหมือนมองแต่ละคนเหมือนการทำงาน วางงานให้ถูกกับคน เพราะฉะนั้นทุกคนก็อยู่ร่วมกันในสังคม ในตำแหน่ง ที่มันเป็นความถนัดของเค้าได้” – คุณอิ๊ก
(2) “เวลาที่อยู่กับคุณณัฐ เค้าจะมีคำพูดที่เค้าสอนเราโดยที่เค้าไม่รู้ตัวหรอก เรื่องแนวคิด เค้าไม่เคยมองว่าเราเป็นคนตาบอด เค้าไม่เคยมองว่าเราเป็นคนอีกระดับนึง ที่ไม่เหมือนเค้า แต่เวลาที่เค้ามีปัญหา หรือทัศนคติการทำธุรกิจ เรื่องแนวคิด อะไรพวกนั้นมันมาสอนให้เราได้รู้ว่าเค้าเป็นแบบนี้หรอ การคุยงานเจ้าของบริษัทเค้าคุยแบบนี้หรอ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้ เหมือนเปิดโลกให้เรา” – คุณอิ๊ก
(3) “ในทุกที่ที่เราไป มันมีด้านดี ถ้าเรามองว่าเราไม่ได้อะไร เราก็จะไม่ได้อะไร ประสบการณ์การลงมือทำ ทำให้เรามีประสบการณ์ และทำให้เรามีคุณค่า” – คุณอิ๊ก
(4) “ด้วยสิ่งต่างๆ ที่เราต้องทำ ทำด้วยความกล้าๆ กลัวๆ นี่แหละ ด้วยหน้าที่ แต่สุดท้ายมันจะหล่อหลอมเราเองโดยที่เราไม่รู้ตัวหรอกว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง เรากลายมาเป็นคนที่เชื่อว่าทุกคนบนโลกใบนี้คุยกันได้ พื้นฐานคนไม่ได้ใจร้ายหรอก” – คุณอิ๊ก
(5) “เราไม่รู้อนาคตหรอก แต่อย่างน้อยๆ เราได้ลองแล้ว” – คุณอิ๊ก
(6) “ผมเชื่อว่าไอ้ทุกสิ่งที่ทำ ที่ผ่านมาแล้วอ่ะ มันดีที่สุดแล้วในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ดี ถ้าเทียบกับปัจจุบัน แต่ ณ เวลานั้นมันดีที่สุดแล้วแหละที่เราเลือกทำ” – คำประทับใจจากคุณณัฐ ที่คุณอิ๊กบันทึกไว้ในใจ
(7) “ผมว่าในอนาคตนะ Generative AI จะเปลี่ยนโลกไปอีกขั้นนึง บริษัทที่เค้าทำได้ดี ไม่ใช่แค่เขียนตาม standard เค้ามีคนตาบอดอยู่ในทีม แค่ผ่านกับทำได้ดี มันคนละเรื่องกันเลย คนที่ทำตาม standard ก็แค่ผ่าน แต่คนที่ทำได้ดี ต้อง research ต้องคุยกับคนตาบอด อันนี้คือขั้นของ App ระดับโลก เหมือนกันกับ UX ใช้ได้ กับใช้โคตรดี มันคนละเรื่องกัน ตอนนี้ผมในฐานะสภาดิจิตอล ก็กำลังผลักดัน อยากให้ทุกๆ แอปของรัฐ ของเอกชนก็ตาม ต้องผ่านการ verify โดยคนตาบอด ว่าไม่ใช่แค่ access แต่ใช้ได้”- คุณณัฐ
(8) “ผม คุณอิ๊ก รวมถึงทีมงานที่ทำทุกคน มีความคิดว่า สิ่งที่เราทำเหมือนสะพานเชื่อม แล้ววันนึง มันควรจะปิดตัวเอง สาเหตุคือไม่ต้องการสะพานแล้ว ทุกคนที่ทำอะไรขึ้นมา สังคมเนี้ย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือการเดินบนฟุตปาท ทำแล้วคิดถึงคนตาบอดตั้งแต่ต้น มันมี need ที่ต้องมาช่วยกันแบบนี้ ถ้าคิดถึงคนตาบอดจริง ทำในสิ่งที่คนตาบอดใช้ได้เลย สำนักพิมพ์ พิมพ์หนังสือออกมา ต้องมีเวอร์ชั่นที่เป็น text แล้ว electronic แล้วคนตาบอดสามารถ access ได้” – คุณณัฐ
Inspire Now ! : ในอนาคตต่อไปเราทุกคนก็ต้องแก่ลง สายตา หรือร่างกายก็ต้องเสื่อมลง สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การมี Mindset ฝึก Outward Mindset ที่คิดถึงคนอื่น มี Attitude ที่คิดถึงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมด้วยตัวเองจริงๆ ก็น่าจะเป็นสังคมที่เราปรารถนากัน เห็นด้วยมั้ยคะ ? |
---|
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันอยากเป็นคนที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? มีใครเคยเป็นอาสาของแอป Read for the Blind บ้างมั้ยคะ มาคอมเมนต์แชร์กับเราหน่อยนะ ♡
Mindfulness คือ อะไร รู้จักการฝึกสติเพื่อบริหารความคิด อารมณ์จิตใจ ให้มีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดีขึ้น ชวนมาเข้าใจ และฝึกไปพร้อมๆ กัน
ชวนทุกคนมาเรียนรู้ว่าการ รักตัวเองคือ อะไร มาฝึก และรู้จักความรักที่ดีที่สุดไปกับนักจิตวิทยาการปรึกษา มาเข้าใจตัวเอง และบอกรักตัวเองให้เก่งขึ้นกัน
Gratitude คืออะไร ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณสิ่งรอบตัวทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร ชวนรู้จัก และฝึกเป็นหนึ่ง mindset ที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นอย่างยั่งยืนกัน