การยอมรับ, รู้จักตัวเอง

Interview : รู้จัก การยอมรับ และเข้าใจตัวเอง สู่หนทางแห่งความสุขภายในใจ ไปกับพระอาจารย์สัจจาธิโก พระผู้ใช้จิตวิทยาในการเล่าธรรมะ

Guest : พระอาจารย์สัจจาธิโก เพจสัจจาธิโก (หลวงพี่สัจจา พาเคลียร์ใจ)

สวัสดีเดือนแห่งวันวิสาขาบูชา วันสำคัญทางพุทธศาสนา เดือนนี้เราจะชวนผู้อ่านมาเข้าใจชีวิต และผ่อนคลายความทุกข์ไปกับ “พระอาจารย์สัจจาธิโก” จากเพจสัจจาธิโก (หลวงพี่สัจจา พาเคลียร์ใจ) พระผู้ใช้หลักจิตวิทยา เข้ามาอธิบายธรรมะยากๆ ให้ผู้ฟังอย่างเรา เข้าถึง เข้าใจ และผ่อนคลายความทุกข์ในใจแบบที่เราสามารถปรับใช้ได้จริง ซึ่งในบทสัมภาษณ์นี้ ผู้อ่านทุกท่านจะได้เข้าใจการจัดการกับความทุกข์ภายในจิตใจของเรา ผ่านเรื่องราว และการตกตะกอนผ่านการศึกษาของพระอาจารย์สัจจาธิโก สำหรับใครที่กำลังอยากได้วิธีผ่อนคลายความทุกข์ รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และวิธีจัดการใจที่ใช้ได้ผลจริงๆ ต้องมาติดตามกันค่ะ

แค่เริ่มจาก การยอมรับ ก็จะพบความสุขในชีวิต คลายทุกข์ เติมสุขภายใจได้จริง ไปกับพระอาจารย์สัจจาธิโก

ส่วนตัวเราได้มีโอกาสฟังพระอาจารย์ครั้งแรกผ่านช่องทาง Clubhouse ในช่วงที่เรียกว่าใครๆ ก็ฮิตที่จะฟังคอนเทนต์ต่างๆ ในช่องทางนี้กัน เราได้มีโอกาสฟังพระอาจารย์แล้วก็รู้สึกว่า เข้าใจง่าย ทันสมัย และที่สำคัญพระอาจารย์จะมีการบ้านให้เราฝึกในแต่ละวัน ซึ่งพอได้ทำตามแล้วรู้สึกว่าช่วยขัดเกลาใจของเราได้เป็นอย่างดี จากนั้นก็เริ่มฟังมาโดยตลอด จนได้มีโอกาสเข้าร่วมคอร์สเรียนพุทธจิตวิทยา การรู้จักตัวเอง “Looking within yourself” ที่พระอาจารย์จัดเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งพูดเลยว่าตลอด 2 วัน ที่เรียนนั้น เหมือนได้ค้นพบ และปลดล็อกในใจของตัวเองหลายอย่าง ทั้งจากการสอนของพระอาจารย์ และจากเรื่องราวของผู้ร่วมชั้นเรียน และจากคอร์สเรียนวันนั้น เราจึงอยากแบ่งปันข้อคิดดีๆ จากพระอาจารย์ให้ผู้อ่านได้นำไปปรับใช้กัน จึงเป็นที่มาของการขอสัมภาษณ์พระอาจารย์สัจจาธิโก และในบทความนี้ DIYINSPIRENOW ก็ได้รับโอกาสในการสัมภาษณ์พูดคุยกับพระอาจารย์สัจจาธิโก เราหวังว่าผู้อ่านจะได้ “ตระหนักถึงการรู้จักตัวเองมากขึ้น” ผ่านการรู้จัก และเรียนรู้จากพระอาจารย์ในบทความนี้เหมือนกันกับเรานะคะ

การยอมรับ, รู้จักตัวเอง

1. ช่วยแนะนำตัวเองสั้นๆ ให้ผู้อ่านได้รู้จัก พระอาจารย์สัจจาธิโก ในปัจจุบันหน่อยค่ะ

“หลวงพี่สัจจาธิโกนะครับ หรือว่าพระอาจารย์สัจจาธิโก ปัจจุบันบวชมาได้ 13 พรรษา ปีนี้ขึ้นพรรษาที่ 14 เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  ความตั้งใจในการบวชเกิดจากความรู้สึกที่เราสำเร็จในทางโลกในมุมของเราแล้ว รู้สึกว่ามันว่างเปล่า ผนวกกับญาติผู้ใหญ่ในบ้านก็เสียชีวิตก็เลยรู้สึกว่าอยากทดแทนคุณ เลยตั้งใจมาบวช หลวงพี่บวชที่วัดพระธรรมกายตอนปี 2554 ตอนเรียนจบพอดี ด้วยความที่อยากเข้าใจชีวิต และศาสนาก็บวชมาได้ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้” 

“ตอนแรกไม่ได้จะบวชยาว แต่หลังจากบวชก็ได้ตอบคําถามบางอย่างในชีวิตแล้วอยากจะค้นหาต่อ  ก็หลังจากบวชมาได้สักพักนึง ก็ได้มีโอกาสทํางานด้านการช่วยเหลืออบรมพระ และมีโอกาสได้มาทํางานเทศน์สอนเยาวชน แล้วก็ส่วนตัวเป็นคนที่เห็นว่าเรื่องการจัดการใจ หรือการเอาธรรมะมาปรับใช้ในชีวิตเป็นเรื่องสําคัญ ก็เลยทํางานด้านการจัดการอารมณ์และจัดการ EQ มาโดยตลอด เป็นเวลาอย่างน้อย 10 กว่าปีแล้ว ก็มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ทั้งการเรียนหลักสูตร การทําความเข้าใจเพื่อให้การอธิบายขยายความการจัดการความทุกข์แบบพระพุทธเจ้าเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย  เพราะโครงหลักมันมีอยู่แล้ว แต่เหลือแค่ว่าจะทําให้ ไม่ใช่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ต้องใช้คําว่าเข้าถึงคนทั่วไป อาจจะไม่ง่ายนัก แต่ก็รู้สึกว่าอยากทําให้มันเข้าถึงได้ง่ายจึงมีการศึกษาความรู้ด้านจิตวิทยาเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการอธิบายหลักธรรมให้เข้าใจได้ง่าย ปัจจุบันก็ทํางานอบรมการกุศลให้แก่บุคคลทั่วไป และก็จัดอบรมให้กับชาวไทยและชาวต่างประเทศเรื่องการเข้าใจตัวเอง รวมถึงมีคอร์สอบรมสมาธิโดยเฉพาะเพื่อการฝึกใจให้รู้จักหยุดให้เป็น  คร่าวๆ ก็คงจะประมาณนี้ในปัจจุบัน”

2. พระอาจารย์เริ่มบวชตั้งแต่ตอนไหน เพราะอะไร ?

พระอาจารย์เล่าว่าสาเหตุของการบวชมีหลายอย่าง ทั้งจากครอบครัว คำถามที่มีอยู่ในใจว่า ใช้ชีวิตไปทำไม และเหตุอัศจรรย์ที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่พบคำตอบ ประกอบกับพ่อและแม่พาเข้าวัดตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้มีความศรัทธาในเรื่องกฎแห่งกรรม จนอยากจะเข้าใจจริงๆ ว่าเหตุผลภายใต้ชีวิตคืออะไร “พอเรามีความเชื่อ ความศรัทธาเรื่องกฎแห่งกรรมมากๆ มันก็เลยเป็นความรู้สึกว่าเราอยากเข้าใจจริงจริงว่า มันทํางานยังไง คือที่เราบอกเราเชื่อและศรัทธา เพราะว่าเรารู้สึกว่ามันต้องมีเหตุผลภายใต้ชีวิต ชีวิตมันไม่ควรจะแบบไม่มีเหตุผล เหมือนการที่คนเราเกิดมาแตกต่างกันเกิดมาโชคดี เกิดมาโชคไม่ดีมันควร reasonable มันไม่ควรจะเกิดมาโชคดีเพราะบังเอิญ เกิดมาโชคไม่ดีเพราะว่าวันนี้โชคร้าย หลวงพี่เชื่อว่าโลกใบนี้มันควรจะมีความเข้าใจที่ตอบเราได้ ซึ่งหลวงพี่มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมตั้งแต่เด็กแต่มันไม่มีคําตอบที่แบบชัดเจนหรืออธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้ขาด คือเชื่อนะ แต่ว่าอยากเข้าใจมากกว่านี้ผนวกกับว่าพ่อหลวงพี่เสียตั้งแต่หลวงพี่อยู่ ป. 5 คือพอพ่อตายเนี่ยมันมีความรู้สึกแบบเสียใจ รู้สึกทุกข์รู้สึกแบบ เออแล้วก็ลึกๆ ก็รู้สึกว่าอยากเอาบุญให้พ่อ”

พระอาจารย์เล่าต่อว่า แรงบันดาลใจเรื่องการศึกษาธรรมะก็กลายเป็นเรื่องรอง เมื่อโตขึ้น เพราะความอยากมีชื่อเสียง และอยากประสบความสำเร็จเข้ามาแทน

“เราเป็นคนอยากสําเร็จมากเลย เราเป็นเด็กโอลิมปิกวิชาการคอมพิวเตอร์ เราได้เหรียญเงินในประเทศอย่างในประเทศคือ 25 คนสุดท้ายของประเทศ เราสามารถเข้าจุฬาได้โดยที่ไม่ต้องสอบ เราแข่งขันเขียนโปรแกรมแข่งขันหุ่นยนต์ในโรงเรียนของเราอะไรเงี้ย เรารู้สึกว่า โอ้โห เราไม่เป็นสองรองใคร แต่มันไม่อิ่ม คือมันได้รับความสําเร็จ ได้รับ การยอมรับ อย่างที่อยาก แต่มันรู้สึกมีคําถามที่มันเกิดขึ้นในใจลึกๆ ข้างในของเราว่า เราทําอะไรอยู่ แต่มันก็ไม่มีคําตอบ”

พระอาจารย์เล่าต่อว่า พอไม่ได้คำตอบจากคำถามลึกๆ ในใจ ก็เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไป มีความรัก มีแฟน มีเพื่อน เข้าผับ กินเหล้า ไปแข่งนั่น แข่งนี่ก็ได้รางวัล และสำเร็จหลายๆ อย่าง แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่อิ่มอยู่ดี จนกระทั้งวันหนึ่ง… “เราก็รู้สึกว่ามันชีวิตทุกอย่างก็กำลังดีนะ แต่ว่าคืนนึงเรานอนอยู่แล้วก็ตื่น เห็นตัวเองนอนอยู่ เห็นตัวเองนอนอยู่ตรงนั้นน่ะ ในห้องเมื่อกี้ที่เราเพิ่งนอน ในใจมันก็รู้สึกตายแล้วแน่ๆ เลย ตอนนั้นคือปี 4 กําลังจะจบแล้ว มีเงินเก็บอยู่ จําได้ว่าซื้อหุ้นไปอีกครึ่งนึงก็เก็บไว้ กะว่าเรียนจบแล้วจะได้ไปเที่ยว จะไปทํานู่นทํานั่นทํานี่ ไม่ได้ทําแล้วอ่ะ รู้สึกแบบว่าตายแล้ว พอดีคือเนื่องจากพอเข้าวัดแต่เด็กเนี่ย เค้าบอกเวลาตายแล้วเนี่ยต้องนึกถึงบุญ นึกถึงเรื่องดีๆ ตายแล้วจะได้ไปดี เราก็นึกถึงเจดีย์ที่เรากราบไหว้ เราศรัทธา เราเคยสร้างพระพุทธรูปเอาไว้นึกถึงพระพุทธเจ้าไง นึกปุ๊บก็มาโผล่หน้าเจดีย์ปั๊ป ตายแล้วชัวร์ๆ เนี่ย การันตีเลยว่าน่าจะตายจริงแหงๆ เสียใจมากเลย แล้วมันก็มีอันนึงพูดขึ้นมาคือแบบยังไม่ได้ใช้ชีวิตเลย ยังไม่รู้จักเลยว่าชีวิตเกิดมันทําไม ยังไม่รู้เลยยังไม่ได้บวชเลย ยังไม่ได้เข้าใจเลยเนี่ย ได้แค่เพลินเที่ยวกิน มันสนุกแต่ไม่มีอะไร มันก็เลยเกิดคําถามข้างในใจแบบลึกๆ ตรงนั้นเลยอ่ะ แต่ก็แบบตายแล้วอะ ก็เลยว่าจะเวียนประทักษิณรอบเจดีย์ นึกถึงบุญเลย พอเริ่มก้าวเท้าออกเดิน เท้าตัวจริงก็กระตุก เหงื่อก็แตก ลืมตาตื่นมาคือห้องเมื่อกี้ที่เราเห็น เราก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้จนถึงวันนี้ด้วยซ้ำว่าจริงหรือไม่จริง แต่นั่นไม่สําคัญ ก็ไม่ได้จําเป็นต้องรู้คําตอบ รู้ว่าตอนนี้ยังมีชีวิต แล้วก็รู้สึกแค่ว่า ควรต้องบวชจริงๆ แล้ว เรียนจบ อย่าอ้างเลย นี่คือแรงบันดาลใจหลักๆ เลย รวมๆ กัน ทั้งความอยากเข้าใจชีวิต ทั้งที่ญาติเสียอยากเอาบุญให้ แล้วก็หลักๆ คือแรงบันดาลใจจากตัวเองที่ชีวิตมันสั้น เราเจอคนตายตั้งแต่เด็ก เราเห็นมาเยอะ แล้วพอตัดสินใจลาสิกขาประเด็นเรื่องนั้นน่ะ มา remind เราตอนเราจะลาสิกขาว่า ไม่ลองไปให้ลึกกว่านี้หน่อยหรอ ไม่ลองเข้าใจมากกว่านี้หรอ มันก็ทําให้เราบวชต่อมาจากตอนนั้น แล้วเราตัดสินใจว่าแบบอยากอยู่ให้ได้ไปเรื่อยๆ”

พระอาจารย์เสริมต่อว่า “มันไม่อิ่มตอนนี้มันไม่อิ่มมันก็รู้สึกโหวงจริงๆ แต่มันมนุษย์อ่ะโหวงเนี่ยไม่นานหรอกเราก็หาเรื่องไปหาอะไรอยาก เหมือนกับถึงเป้าหมายและฉันทําไงต่อ งั้นหาเป้าหมายใหม่ละกัน ก็ติดลูปเนี้ยแหละ แต่ติดลูปเนี้ยมันมันไม่ได้สุขนะ แต่ว่ามันก็ดีกว่าไม่มีอะไรให้ไปถึงอ่ะ มันก็เลยมันหาไปเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริง จุดที่มันมีทุกอย่างแล้วมันรู้สึกว่ามันสําเร็จไปถึงจุดที่เราคิดว่ามันยิ่งใหญ่แล้วมันโหวงจังเลย เป็นจุดที่ลึกๆ มันสั่นสะเทือนอยู่ข้างในเราตลอดเวลาว่าการ  ใช้ชีวิตไปทําไม”

จากเดิมพระอาจารย์ตั้งใจจะบวชนานแค่ไหนคะ ?

“แค่เดือน 3 เดือน ตั้งใจจะบวชมันเป็นโครงการอบรมช่วงฤดูร้อน เราก็เลยกะว่าจะบวชแค่ช่วงปิดเทอม พอช่วงเปิดเทอมเนี่ย ตั้งใจว่าจะทํางานแล้วเพราะว่าสมัครงานไปแล้วบางที่ แล้วก็กําลังอยู่ในช่วงสัมภาษณ์ด้วย ก่อนจะบวชเดือนครึ่งก็คือมาอยู่เป็นโยมก่อน เข้าโครงการ 15 มีนา บวชจริง 16 เมษา จบโครงการประมาณมิถุนา ก็จะโดยรวมประมาณเดือนครึ่งเกือบสองเดือน ก็ตั้งใจจะบวชแค่นี้ ตั้งใจจะบวชแค่ประมาณนี้ รวมถือศีล 8 ก็ประมาณ 3 เดือน ตั้งใจจะบวชแค่นี้แล้วก็ไม่คิดจะอยู่ต่อยาวเลยแม้แต่นิดเดียว”

การยอมรับ, รู้จักตัวเอง

3. พระอาจารย์ในช่วงวัยเด็ก เป็นเด็กแบบไหน ? โตมาในครอบครัวแบบไหน ?

“เป็นเด็กซน เป็นเด็กดื้อ เป็นเด็กเรียกร้องความสนใจ เอาแต่ใจ และก็เป็นเด็กช่างคิด ช่างพูด ช่างระวัง โตมาในครอบครัวคนจีนที่พ่อเป็นลูกชายคนเดียวของตระกูล ในความหมายว่าในตระกูลมีผู้หญิงอีก 7 คน พ่อเป็นลูกชายคนเดียว แล้วพ่อกลับไม่ได้สําเร็จอย่างที่เขาคาดหวัง พ่อก็เลยเหมือนขาดความรัก แล้วทําให้ส่งผลถึงพ่อกับแม่ก็เลยไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ด้วยปัญหาบางอย่าง เค้าก็เลยแยกกันอยู่ช่วงประมาณเราอยู่ ป.1 เราก็เลยไปอยู่กับแม่ แต่พ่อก็ยังมาหาเราอยู่นะ เค้าไม่ได้หย่ากัน พ่อเค้าก็อยากรักษาความรู้สึกไว้ให้เรา แต่จริงๆ มันไปต่อไม่ได้ละ ทีนี้หลวงพี่ก็โตมาแบบอยู่กับแม่บ้าง พออยู่กับแม่ได้ 3 ปี ก็กลับไปอยู่กับพ่อจนพ่อเสีย ในสภาวะครอบครัวก็คือพยายามซัพพอร์ตเราให้เราได้มีทุกอย่างในเชิงกายภาพ แต่ว่าเนื่องด้วยสภาวะที่เค้าต้องเป็น working woman คนเดียว มันก็เลยทําให้ลําบาก ส่วนตัวพ่อเองก็โตมาในสภาวะที่ครอบครัวที่ไม่ได้อบอุ่นนะ ทําให้เค้าเลยอาจจะมอบความรักไม่เป็น นอกจากพยายามจะให้เงินพยายามจะดูแลเรา เวลาที่เราทุกข์พยายามจะให้เงิน พยายามจะพาเราไปเที่ยว พยายามจะพาเราไปทําอะไรดีๆ นี่คือ พ่อ ที่เราโตมา แต่เค้าทั้งคู่เป็นคนดี และก็รักเรามากๆ แต่มีความไม่สมบูรณ์ ส่วนเราก็รู้สึกว่าพอโตมาถึงจุดที่เราต้องไปๆ กลับๆ มีสภาวะที่เราโตมาด้วยตัวเองคือเราพึ่งพาใครไม่ได้เราต้องดูแลตัวเอง เราเป็นลูกคนเดียวไม่มีพี่น้อง เราต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ ทั้งหมดทั้งมวลมันเลยกลายเป็นความเชื่อในตัวเองว่า ต้องพึ่งพาตัวเองให้เป็น ต้องทําทุกอย่างได้ ต้องเก่ง เราก็ต้องเอาตัวรอดให้เป็น นี่คือสิ่งที่เป็น แล้วก็บวกกับย้ายโรงเรียนทุกๆ 3 ปี  เพราะว่ามีเหตุที่ต้องย้ายโรงเรียนมันก็เลยกลายเป็นว่า พอมันไปๆ มาๆ มันเลยต้องปรับตัวเป็น แต่ไม่เก่งในการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับใคร ตอนเด็กนะ เป็นเด็กแบบนี้”

แล้วความฝันในวัยเด็กของพระอาจารย์ เป็นยังไงบ้างคะ ?

“อยากรวย แล้วก็สบาย ไม่ต้องทําอะไรเยอะ อยากเป็นทหาร อยากเป็นอะไรหรอ  ไม่มีความคิดนั้นเลย แต่อยากทําคอมแต่เด็กอ่ะใช่ เพราะว่าที่บ้านพ่อเลี้ยงด้วยคอม  อาชีพหรอ เค้าบอกว่าเป็นวิศวะแล้วดี ก็รู้แค่นี้ ไม่รู้หรอกวิศวะทําอะไร แต่อยากทํา นึกไม่ออกอยากเป็นอะไร เพราะฉะนั้นนอกจากอยากเป็นอุลตร้าแมนก็นึกไม่ออกอ่ะ พูดจริงๆ อยากเป็นวิศวะมั้ง อยากสร้างดาบเลเซอร์ หลักๆ ก็คืออยากรวย รวยมากๆ แล้วก็อยากแบบไม่ต้องทําอะไร ตอนที่จะเรียนจบนะ ตั้งใจจะทํางานปีนึงแล้วจะทําธุรกิจ ทําธุรกิจอะไรไม่รู้ รู้แต่ว่าเดี๋ยว เดี๋ยวตอนนั้นต้องทําอะไรก็คงต้องทำ มีเงินเก็บ ลงทุน เล่นหุ้น แล้วก็คิดว่าเดี๋ยวต้องมี passive income พูดแล้วดูแย่ แต่หลวงพี่คิดแบบนั้นตั้งแต่เด็กจริงๆ นะ มันคือวิธีการคิดที่เราแบบเราขี้เกียจ”

4. ทำไมพระอาจารย์ถึงนำเสนอคอนเทนต์ในเชิงพุทธจิตวิทยา ?

“เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่เข้าใจศาสนาพุทธ หมายถึงว่า เราไม่ได้ไม่เข้าใจ เรารู้สึกว่า ความเข้าใจมันยาก แล้วคนที่นับถือศาสนาพุทธเยอะแยะที่ไม่สามารถแก้ทุกข์ตัวเองได้ อยากทําให้มันเข้าถึงง่าย เพราะคิดว่าถ้ามันเข้าถึงง่าย คนจะสามารถนําไปแก้ทุกข์ตัวเองได้จริงๆ นี่คือความตั้งใจที่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์จริงๆ ก็เลยตัดสินใจอธิบายภาษาที่ถ้าเป็นเราจะเข้าใจง่าย แล้วก็รู้สึกว่าบวกกับการที่เห็นจิตวิทยาหรือว่ากระบวนการที่นักอบรมระดับโลกเค้าทํา มันแก้ทุกข์มนุษย์ได้ แล้วมันดูไม่ได้เข้าถึงยาก ความรู้สึก accessible มันง่าย เหมือน UX มันเฟรนลี่อ่ะ UX มากขึ้น user experience มัน easy to learn UI มัน friendly กับเค้า ธรรมะ UI มันไม่เฟรนลี่อ่ะ เวลาเราพูดถึงธรรมะมันดูใช้งานยาก คือหลวงพี่รู้สึกชัดมากๆ ว่าธรรมะพุทธเจ้าช่วยปลดทุกข์คนได้ แต่ถ้ากระบวนการไหนในโลกมันช่วยทําให้คนทุกข์น้อยลงได้แสดงว่าพระพุทธเจ้าเคยเทศน์ หลวงพี่จึงรู้สึกว่าการไปเรียนทั้งการโค้ช ทั้งการทําจิตบําบัดจึงไม่ใช่การเรียนวิชาอื่นแต่เป็นการเรียนวิธีการที่เขาใช้ในการถ่ายทอดในยุคปัจจุบัน แล้วมาปรับใช้ในการอธิบายแก่นจริงๆให้คนสามารถเข้าถึงได้  จึงเลือกถ่ายทอดแบบนี้”

การยอมรับ, รู้จักตัวเอง

หลวงพี่คิดจะเอาจิตวิทยามารวมกับธรรมมะตั้งแต่เริ่มต้นเรียนเลยใช่มั้ยคะ ?

“ใช่ครับ ตั้งแต่เริ่มต้นศึกษาเลย รู้สึกว่ามันก็ช่วยให้เราแก้ทุกข์ได้ เราเลยตั้งคําถามว่า ทําไมมันถึงแก้ทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าพูดเรื่องนี้ไว้ยังไง มันช่วยให้เราทุกข์น้อยลงจริงๆ เรื่องบางเรื่องเราได้ฟังก็รู้สึกว่าทําไมคําพูดเรื่องนี้มันทําให้เราเข้าใจคําว่าความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าอธิบายไปแล้วในอีกมุมนึงในภาษาที่มันเข้าถึงง่าย ประเด็นก็คือสิ่งสําคัญไม่ใช่การเข้าใจคอนเทนต์  สิ่งสําคัญคือการเอาความเข้าใจนั้น ไปปรับใช้ มันคือการเข้าไปอยู่ในใจ ไม่ใช่เข้าไปอยู่ในหัว ถ้ามันใช้กับเราได้ มันก็ควรจะใช้กับคนอื่นได้ผลเหมือนกัน แล้วเราจะอธิบายมันยังไงที่สุดท้ายแล้ว มันสามารถทําให้เค้าถึงแก่น ไม่ใช่แค่แก้ทุกข์บนผิว แล้วก็ทุกข์มันก็ติดลูป ต้องมาแก้แบบนี้ซ้ำๆ เหมือนหาที่ปรึกษา ทุกข์แล้วก็แก้ไข แก้ไขแล้วก็ทุกข์ แล้วก็วนไป เรารู้สึกว่ามันจะมีทางไหนมั้ยที่ทําให้เกิดการเข้าใจแบบที่หมั่นดูแลตัวเองได้แบบที่พระพุทธเจ้าสอน ก็เลยตั้งแต่แรกเลยที่ศึกษาเลยครับ”

มีหนังสือ หรือคอร์สเรียนไหนแนะนําเป็นพิเศษมั้ยคะ สําหรับคนที่สนใจมาทางสายนี้

พระอาจารย์แนะนำหนังสือน่าอ่านมาด้วยกัน 4 เล่ม ดังนี้ค่ะ

  1. “ศิลปะแห่งการสื่อสาร” เป็นของท่านติช นัท ฮันห์ หลวงพี่บอกว่าเป็นหนังสือที่ดีมากๆ แต่ว่าหายากแล้ว “ท่านพูดถึงการภาวนา และการดูแลใจแบบง่ายๆ แบบง่ายๆ มากเลย  เป็นหนังสือที่ใช้ภาษาที่ง่ายขึ้นมาหน่อย ในการทําความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับภายในของตัวเอง เธอต้องภาวนา ต้องมอบความเมตตาให้ตัวเอง แต่จะเป็นหนังสือธรรมะนะ” 
  2. “กล้าที่จะถูกเกลียด” เล่มนี้เป็นหนังสือจิตวิทยาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในญี่ปุ่น “หลวงพี่ว่าเป็นเล่มที่จะหลายคนเคยอ่าน แต่คนจะลึกซึ้งกับเล่มนี้จริงๆ ยากมาก หลวงพี่รู้สึกว่าเล่มนี้คนจะรู้สึกเข้าถึงยาก เพราะหลวงพี่อ่านรอบแรกวันนั้น กับอ่าน ณ วันนี้หลวงพี่รู้สึกว่า โอ้ ความเข้าใจของเล่มนี้เป็นคนละเรื่องกัน กล้าที่จะถูกเกลียด อธิบายเรื่องอัตตาไว้ดีมาก แต่ภาษาจะไม่มีภาษาพุทธเลยนะ แต่อธิบายไว้ดีแบบดีเฉียบอย่างงี้เลย แล้วมันจะอธิบายด้วยว่าใจเราถือตัวเพราะอะไร แต่ว่ามันต้องเข้าใจในหลายๆ เรื่องประกอบกันก่อน”
Image Not Found
หนังสือพัฒนาตนเอง กล้าที่จะถูกเกลียด (嫌われる勇気) วีเลิร์น
  1. “ชีวิตเรามีแค่ 4000 สัปดาห์” หนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์วีเลิร์นที่พระอาจารย์บอกว่าถูกใจเป็นเบอร์ต้นๆ สำหรับหนังสือใหม่ที่ออกมาเลยเป็นเล่มที่อธิบายความเข้าใจได้ดีมากๆ เกี่ยวกับเรื่องชีวิต เล่มเนี้ยอ่านเหมือนกันแต่ใครจะเข้าใจไม่เหมือนกันเลย”
Image Not Found
ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์
  1. “สติสัมปชัญญะ” ของหลวงพ่อทัตตชีโว “เล่มนี้จะอธิบายภาพรวมของมนุษย์ที่ดี แต่ภาษาจะธรรมะนิดนึง”

แล้วถ้าเป็นคอร์สเรียนหล่ะคะ พระอาจารย์มีคำแนะนำมั้ย ?

“พอเป็นคอร์สเรียนเนี่ย มันลางเนื้อชอบลางยาอ่ะ หลวงพี่ค้นพบว่า สิ่งสําคัญของคอร์สเรียนคือรู้จักอาจารย์ก่อนว่า อาจารย์คนไหนถูกโรคกับเรา หลวงพี่แนะนําไม่ได้ ให้ดูอาจารย์ อาจารย์เค้าสอนประมาณไหน อาจารย์เป็นใคร อาจารย์ทําอย่างไร อาจารย์นั้นจะเป็นตัวตอบโจทย์เราเองว่าเราควรไปกับที่นั่นไหม แต่ละที่มีสไตล์การสอนไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งเป็นตัวหลวงพี่เองก็ตาม ในธรรมะ จะมีธรรมะที่ชื่อว่า “วุฒิธรรม” คือธรรมอันนําไปสู่ความเจริญ มันจะต้องเริ่มต้นจากหาครูดีให้เจอ เธอต้องหาว่าใครเป็นครูก่อน แล้วจึงค่อยไปฟังคําครูให้ครบ ตรองคำครูให้ลึก แล้วค่อยทําตามครูหลวงพี่เลือกคอร์สตามอาจารย์ไม่เลือกตามชื่อคอร์ส หลวงพี่ค้นพบว่า calling ข้างในมันบอกว่า คนนี้เราน่าจะฟังแล้วเราน่าจะได้ประโยชน์จริงๆ จึงค่อยเลือกว่าอยากไปศึกษากับคนนั้น”

การยอมรับ, รู้จักตัวเอง

5. ช่วงวัย 30 ของพระอาจารย์ที่บวชมา 10 กว่าพรรษาแล้ว อยากทราบว่าค้นพบอะไรในชีวิตบ้าง ?

“ค้นพบว่าชีวิตมันไม่มีอะไร นอกจากเราจะทําให้มันมีอะไร  คือในที่นี้ไม่ได้หมายถึงมันไม่มีชื่อเสียงเงินทอง หรืออะไร แต่หมายถึงว่า มันไม่มีความทุกข์นอกจากเราจะไปหาเรื่องทุกข์  ชีวิตมันไม่มีความลําบากใจ นอกจากเราจะรู้สึกไม่อยากลําบากใจ มันลําบากเลย พอเราเริ่มไม่ชอบที่เขาตําหนิ ชีวิตลําบากเลย ก็จะเริ่มทุกข์ละ ชีวิตไม่มีอะไร อันนี้คือเรื่องที่หนึ่ง เราแค่อย่าไปทําให้มีอะไร เราแค่วางใจให้เป็น”

– รัก และยอม มันแค่เรารักในสิ่งที่เกิดแล้วก็ยอมให้มันเกิด  –

เราถามพระอาจารย์เพิ่มเติมว่า การที่หลวงพี่บอกว่า “ชีวิตไม่มีอะไร” มันหมายถึงว่า อย่าไปยึดติดหรือเปล่า หลวงพี่ขยายความต่อให้ว่า…“คืองี้เวลาเราพูดว่า อย่ายึดติดมัน เหมือนกับว่ามันมีอะไรที่ยึดติดเวลายึดติด เหมือนกับว่าเราพูดว่าวางตัวตน แปลว่าตัวตนมันมีอยู่ อันที่จริงตัวตนมันไม่มีแต่แรก แต่ว่าเพราะมันไปยึดไง มันเลยเลยมีตัวตน เหมือนกับว่า เราที่มีชื่อเสียงไม่มีอยู่ เราที่มีชื่อเสียง มีคนรักไม่ได้มีอยู่ แต่พอมีคนรักปุ๊บ โอ้โห เราเลยชอบ ทีเนี้ย เราที่มีคนรักเลยมีแล้ว เราก็อยากให้สิ่งนี้มันเกิดซ้ำ ชีวิตมันไม่มีอะไร เพราะฉะนั้น อย่าไปมีอะไรนะ มีปุ๊บเนี่ยชีวิตมันก็จะต้องมีตลอดไป แล้วก็ต้องเบิ้ลมีตลอดไป เค้าเรียกว่าเราต้อง hold the status หลวงพี่คิดว่านี่คือเรื่องใหญ่ที่สุดของชีวิต พยายามจะบอกตัวเองบ่อยๆ ว่าไม่มี ไม่มีอะไร อย่าเอาใจไปเกาะเกี่ยวกับมัน ไม่ว่าเกาะเกี่ยวกับเรื่องดี หรือไม่ดีก็แย่ทั้งนั้น ให้ใจเราไม่ต้องเกาะเกี่ยวกับโลก หมายถึงมีชีวิตแบบไม่ต้องไปเกาะ อย่าเอาใจไปเกาะเกี่ยวกับอะไร แค่รับรู้ และฝึกใจให้รับรู้ได้ แม้เรื่องดี และไม่ดี แค่ฝึกใจให้รับรู้ได้ก็เพียงพอ”

เรื่องที่สอง ค้นพบว่านิสัยไม่ดีเดิมๆ หรือความยึดติดเดิมๆ หรือกิเลสเดิมๆ  ไม่ว่าจะแก้แค่ไหน ยังไงมันก็ยังจะกลับมาอยู่ดี หมายความว่า มันไม่ได้หมดไปง่ายๆ ขนาดนั้น ไม่ว่าเราจะอยากแก้ไข เราพยายามแก้ไข หลายๆ ครั้งก็ยังคงกลับมาอยู่ ให้ยอมรับตัวเองที่ชนะ แล้วก็ล้มเหลวให้ได้บ่อยๆ ในวันที่เราตั้งใจดีแล้ว พยายามจะไม่ยึดติด พยายามจะคลาย พยายามจะทุกๆ อย่าง แค่ให้เรา รัก ยอมรับ แล้วก็ ทําให้ได้บ่อยๆ เหมือนกับ รัก และอยู่ข้างๆ ตัวเองแม้จะล้มสักกี่ครั้งก็แค่แก้ไปเรื่อยๆ อย่ารีบมันไม่ได้มีตัวเราที่ดีกว่านี้ หรือไม่ดีกว่านี้ มีแต่ตัวเราที่ได้ตั้งใจดี แล้วก็ทําไปเรื่อยๆ คนเรามันรีบจะแก้ตัวเองเลยไม่ค่อยๆ แก้ ไม่ค่อยๆ ยอมรับ เราชอบหนี ชอบหนีตัวเอง”

เรื่องที่ 3 คือ เราจําเป็นจริงๆ ที่จะต้องมีคนที่เป็นกัลยาณมิตร เราไม่ได้เก่งขนาดสอนตัวเองให้ได้ทุกเรื่อง จงมีความเคารพ และอ่อนน้อมกับผู้อื่นเสมอ ให้มากๆ มันจะช่วยให้เรา เรียนรู้จากทุกสิ่งที่เข้ามาได้ จงมีความเรียนรู้เคารพ และอ่อนน้อมกับทุกเหตุการณ์ที่เข้ามา เราจะโตขึ้นเพราะสิ่งเหล่านั้น”

6. อยากให้พระอาจารย์แนะนำวิธีคิด หรือแนวทางปฏิบัติที่ไม่ว่าใครก็นำไปใช้แล้วมีความสุขได้

“รัก และยอมรับทั้งตัวเอง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเราจะแก้ปัญหาโดยความไม่ผลักไส และไม่เจ็บ เพราะยังไงมันก็เกิด ที่เราทุกข์ไม่ใช่เพราะเหตุการณ์ใดๆ ที่มันเกิด  แต่เพราะเรารัก และยอมรับสิ่งที่เกิดตรงนั้นไม่ได้ และพอเราทุกข์เราก็เลยต้องการผลักไสความทุกข์ทําร้ายคนอื่นต่อ มันไม่ยุติธรรมหรอกโลก อย่างน้อยก็ในมุมเราแต่มันสมควรแล้ว ที่จะต้องเกิด หน้าที่ของเราคือรัก และยอมรับทุกๆ สิ่งที่เข้ามาให้ได้มากๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

คําว่า “ยอมรับตัวเอง“ หลายครั้งเราก็เข้าใจ แต่การยอมรับมันยาก หลวงพี่มีคำแนะนำมั้ยคะ ?

“การยอมรับ มันยาก เพราะเราไม่ยอม งั้นปัญหาคือ อะไรที่ทําให้เราไม่ยอม เราอยากได้อะไร เรายอมรับบางอย่างไม่ได้ เพราะไม่ใช่เพราะมันยอมรับไม่ได้ เอาจริงๆ ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ยอมรับไม่ได้ แต่ที่เรายอมรับไม่ได้ เพราะเราไม่ยอม คือง่ายๆ ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ ขอโทษ ถามจริงเดินไปขอโทษเนี่ยยากมั้ย เอาเชิงฟังก์ชันในเหตุผล ในสมอง ในตรรกะก่อน เดินไปขอโทษนี้ยากมั้ย ?”

“ไม่ยาก”

“แล้วที่คนยอมขอโทษกันไม่ได้เพราะอะไร ?     

ปัญหาไม่ใช่ การยอมรับ ในสมองไม่ยาก ปัญหาคือไม่ยอม งั้นคีย์หลักคือ ทําไมอันนี้ไม่ยอม ต้องกลับไปเห็นว่าทําไมไม่ยอม อะไรทําให้เราไม่ยอม ใจมันอยากได้อะไร ใจมันต่อต้านอะไร ใจมันคิดอะไร เพราะเป็นอย่างงั้นมันก็เลยกลายเป็นความหนักหน่วงแล้วก็เลยกลายเป็นความทุกข์ ทําไมใจไม่ยอม  ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่หลวงพี่เปิดคอร์ส เพราะรู้สึกว่าธรรมชาติมนุษย์มันไม่รู้ว่าทําไมไม่ยอม ทําไมไม่ยอมลาออกสักที ทนทําไม ? ทําไมไม่ยอมบอกคนนี้สักที ? ทําไมไม่ยอมตัดสินใจ ? ทําไมไม่ยอมแพ้ซะที ? ไม่ต้องเอาชนะก็ได้ คําว่ายอม ไม่ได้หมายถึงการไม่ทําอะไรนะ คําว่ายอมหมายถึงอาจจะเป็นการยอมทํา ลาออกก็คือการยอม อยู่ต่อก็อาจจะเป็นการยอม คําว่ายอมแต่คนไม่เหมือนกัน มันขึ้นกับเหตุปัจจัยว่าตอนนั้นควรยอมอะไร เราไม่ยอมอะไร หลวงพี่คิดว่า มันต้องกลับมามองว่าเราไม่ยอมอะไร ยอมรับแล้วค่อยเลือกว่าลงมือทําเป็นลําดับ ฉะนั้นคําว่ายอมรับเป็นเรื่องที่พูดยาก ทํายาก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ยอมได้มันจะง่ายหมดเนอะ ก็เวลาไม่ยอมทํายังไง ก็ดูความไม่ยอม ว่าความไม่ยอมบอกอะไร ที่เรามีความยึดมันไว้ ”

การยอมรับ, รู้จักตัวเอง

7. อยากให้พระอาจารย์แนะนำ “ธรรมะ” สักหนึ่งอย่าง ที่ชาวพุทธ ควรมีเพื่อยึดไว้ในการดำเนินชีวิต

ให้ประกอบเหตุโดยไม่ต้องควบคุม หลายคนพยายามควบคุมทุกอย่างเลย ถือเอากิเลส หรือ ถือเอาความอยากของตัวเองเป็นใหญ่ ให้เราลงมือทําให้เต็มที่ ให้เราทําในสิ่งที่ควรทําให้เต็มที่ เรียนรู้จากมัน แก้ไข และยอมรับผลที่เกิด

เรียนรู้ ยอมรับว่าต้องแก้ไขเป็นเรื่องดี ส่วนใหญ่ปัญหาคือ เราพยายามควบคุมเพราะเราอยากให้ดั่งใจ เลยหนักไปหมด ควบคุมลูก ควบคุมทุกอย่างเลย แต่ไม่จัดการใจตัวเอง ปัญหาที่เด็กถูกกดทับวันนี้ก็เพราะพ่อแม่ควบคุม  เด็กก็อยากควบคุมผู้ใหญ่ ทุกคนอยากควบคุมกันและกันทั้งหมดเลย ให้เป็นไปดั่งใจ หลวงพี่คิดว่า ลองประกอบเหตุ สังเกตุผล แล้วก็แก้ไขต่อไปเรื่อยๆ ระหว่างทางที่ยังไม่เกิดผลก็ทนเอาเถิด แค่นี้ ประกอบเหตุ สังเกตผล ทนเอาเถิด ประเสริฐนะ ทําแค่นี้ ลองไม่ต้องออกแรงบังคับควบคุม พูดแล้วมัน abstract เนาะ 

จริงๆ ถ้าอธิบายในเชิงธรรมะ มันคือการที่เราวางความอยากของตัวเองลง เเละลงมือทําให้เต็มที่ ความอยากคือ ความรู้สึกต้องการให้มันดั่งใจ เช่น อยากให้ลูกได้ดั่งใจก็คือความอยาก อยากให้ลูกน้องได้ดั่งใจคือความอยาก เราก็พยายามควบคุมลูกแล้วพอลูกน้องไม่ได้ดั่งใจ เราก็หงุดหงิด ลูกน้องไม่ได้ดั่งใจก็ประกอบเหตุใหม่ ว่าต้องทํายังไง แก้ไข ประกอบเหตุเยอะๆ ทําให้เต็มที่ในสิ่งที่ควรทำ มีอะไรก็แก้ไขกันไป  เราจะใจเย็นขึ้นเยอะ จริงๆ รัก และยอมรับตัวเองเนี่ยคือหัวใจใหญ่ เพราะมันคือหัวใจของธรรมะแล้วด้วย”

นอกจากเรื่อง “ให้ประกอบเหตุโดยไม่ต้องควบคุม” แล้ว พระอาจารย์มีเพิ่มเติมให้อีกหนึ่งข้อ “เมตตาตัวเอง และคนอื่นให้มากๆ ทุกคนก็มีความทุกข์ทั้งนั้นแหละ เวลาเห็นคนอื่นทําร้ายเรา ให้เห็นว่า เขาก็มีความทุกข์ เมตตาตัวเองคือ อย่าด่าว่า อย่าด่าทอทําร้ายตัวเองมากกว่านี้ เวลาเจอเรื่องแย่ๆ เมตตาคนอื่นคือเวลาเกิดปัญหาหนักๆให้เห็นว่าเขาก็ทุกข์ เขาก็ลําบากใจไม่ต่างจากเรา คุยกันด้วยใจที่ดีขึ้น หลวงพี่ว่าจะทําให้เราเย็น เค้าเย็น แล้วก็มีทางออกที่ดีกว่า”

8. ตัววัดผลความสุขในทางธรรม ที่จับต้องได้คืออะไรหรอคะ ?

“indicator ที่ชัดที่สุดของทางธรรมคือ เวลาวัดผลคือ เจอสถานการณ์แล้วเรารู้สึกทุกข์ใจน้อยลง เจอเรื่องแรง เรื่องเยอะ เรื่องเดิมแล้วเราทุกข์ใจน้อยลง คือส่วนใหญ่เขามีตัววัดผลทางธรรม เขาก็จะเอาเป็นแบบเป็นโสดา รักสันโดษได้เท่านี้ แต่ในความเป็นจริงเราก็วัดตัวเอง วัดได้ง่ายที่สุดสําหรับคนเริ่มเดินทางไม่ต้องกังวลเรื่องโสดา ทิ้งไปให้หมด คือทุกข์น้อยลงกับสิ่งที่เข้ามากระทบนั่นแปลว่ามีการพัฒนาแล้ว” พระอาจารย์เสริมต่อว่า “สามารถชนะใจตัวเองได้มากขึ้น ชนะใจตัวเองได้มากขึ้นด้วยใจที่เบานะ วันนี้ชนะใจด้วยใจที่หนัก ชนะใจตัวเองให้เบา เรื่องที่สองก็คือเจอทุกข์เรื่องเดิมแล้วทุกข์มั้ย อันนี้คือแปลว่าจิตมีอํานาจละ มีพลังในการเดินทาง โกรธน้อยลง ทําตามกิเลสเราน้อยลง ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น รับมือรู้สึกต่อสถานการณ์เดิมๆ เบาลง ควบคุมอารมณ์มันเหมือนกับ มันมีอารมณ์อยู่แต่ฉันไปควบคุมมัน แต่รู้สึกสถานการณ์เดิมน้อยลงเพราะว่ามันกระตุ้นเราได้น้อยลง ต่างกันนึกออกไหมครับ”

9. การวางใจให้เป็นต้องทํายังไงบ้างคะ ?

“วางใจให้เป็น วางใจไม่เป็นใจก็จะไปเกาะติด คน สัตว์ สิ่งของ เมื่อ คน สัตว์ สิ่งของเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ดั่งใจ หรือได้ดั่งใจ ก็ไปอยากได้มากขึ้น วางใจให้เป็นคือใจก็ไม่เกาะติดกับคน สัตว์ สิ่งของ สามารถเห็นสิ่งที่เกิดเป็นเช่นนั้นได้มากขึ้น แม้ว่าจะไม่ถูกใจก็เข้าใจนั่นเรียกว่าวางใจเป็น ฉะนั้นวางใจเป็น หรือไม่เป็นดูจากการกระทบที่ถูกจากภายนอกว่ากระเทือนภายในระดับไหน เป็นอย่างไร คนวางใจเป็น แม้ถูกกระทบก็ไม่กระเทือน คนวางใจไม่เป็น แม้อยู่เฉยๆ ก็เอาใจไปฝากเขาให้กระทบกระเทือน”

แล้วถ้าวางใจไม่เป็นต้องฝึกยังไงคะ ?

“ต้องเริ่มจาก การยอมรับ ว่าตอนนี้ “ใจ” มันอยู่ที่ข้างนอกแล้ว มันวางไม่เป็น พอยอมรับปึ๊บ ก็จะรู้ว่าใจอยู่ข้างนอกแล้ว แค่รู้ว่าใจอยู่ข้างนอกแล้ว ใจก็เริ่มกลับมาอยู่กับตัวเราเอง เป็นเรื่องที่เหมือนตลกเนอะ แต่เป็นอย่างนั้นจริงๆ แค่รู้ว่าจะอยู่ข้างนอกแล้วนะ ตอนนี้ใจฉันอยู่ข้างนอกแล้ว แล้วก็ค่อยๆ ฝึก เริ่มจากการเรียกสติให้ใจสงบ อยู่กับลมหายใจก็ดี เอาใจไว้ที่ท้องก็ดี เป็นกระบวนการเรียกสติให้ใจสงบ แค่เรารู้อารมณ์ ดูอารมณ์ มันก็จะเริ่มค่อยๆ อยู่กับตัวเรา” 

พระอาจารย์ช่วยยกตัวอย่างได้มั้ยคะสมมุติเราอยู่กับคนรัก อยู่กับแฟน เคยรู้สึกเวลาผ่านไปเร็วไหม ไม่รู้ตัวเลยแป๊บเดียวสมมติไปนั่งดูหนังด้วยกัน ผ่านแล้วครึ่งวัน รู้สึกแป๊บเดียวเองอยู่กับคนรักอะไรแบบนี้ นั่นคือใจไม่อยู่กับตัว แม้กระทั่งยืนรอคนรัก 5 นาที มันเหมือน 1 ชั่วโมง ทําไมไม่มาสักที ใจก็ไม่อยู่กับตัว จะแบบไหนก็ใจไม่อยู่กับตัวทั้งนั้น ใจมันไหลไปหมดแล้ว  ตอนแรกเราจะไม่รู้สึกตัวนะ เราจะสนใจแค่อยากอยู่ตรงนี้นานๆ อยู่กับเขานานๆ อยากให้คนนั้นอยู่กับเรานานๆ อยากให้อย่างโน้น อย่างนี้นานๆ อันนี้คือสภาวะที่ใจไม่อยู่กับตัว แค่เรารู้ว่าใจไม่อยู่กับตัว เฉยๆ ไม่เป็นไร มันโอเคที่เขาจะมาช้า มันโอเคที่เราจะอยู่ด้วยกันนานหรือไม่นานก็คิด แค่นี้ใจก็อยู่กับตัวแล้ว เหมือนดูหนังแล้วอิน เราก็จะรู้สึก เฮ้ย มันอินไปแล้วนะ ตอนรู้สึกว่าเหมือนอินไปแล้วนะ ความอินก็จะลดลงทันทีละ 

นึกภาพออกไหมคือแบบเหมือนพออินไปแล้วนะ เยอะไปแล้ว แค่รู้สึกแค่นี้เองนะ ความอินหรือความอารมณ์ที่พุ่ง มันก็ลดลงแล้ว เค้าเรียกว่าสภาวะรู้ตัวมันเกิดเมื่อเราเริ่มกลับมารู้ตัว มันเป็นคำที่ดูเหมือนง่าย จริงๆ การรู้ตัวไม่ใช่เรื่องยากแต่เป็นเรื่องต้องฝึกเพราะใจไม่คุ้นกับการกลับ เหมือนทางเดินที่ไม่ถูกเหยียบบ่อยๆ ขึ้นลงตอนเดือนแรกๆ ก็จะไม่คุ้น แต่แค่รู้ตัวนะว่าตอนนี้กําลังใจอยู่นอกตัว ใจก็จะค่อยกลับมาแล้วนะ รู้ตัวแล้วนะ คุยกับตัวเองดีๆใจเย็นๆ มันอาจจะยังไม่กลับมาตลอดหรอก แค่รู้ตัวให้บ่อยขึ้น

การยอมรับ, รู้จักตัวเอง

จริงๆ ไม่ได้ทําอะไรยากเลย แต่คนไม่ค่อยคุ้นในการทํากัน เหมือนถ้ามีคนบอกว่าออกกําลังกายท่านี้ ยกแขนขึ้น เอาผ้าขนหนูขึ้นลงให้ลูกทุกวันวันละ10 ทีอ่ะ  น้ําหนักมันจะลง  เพราะว่าร่างกายมันไปใช้ไขมันดี แก้แค่นี้หรอง่ายแค่นี้แหละ คําถามคือมีกี่คนที่ทํา ก็เอาแค่นี้นะ ไม่ต้องอย่างอื่นเลย บางทีมันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นหรอก แต่คนมันไม่เคยฝึกมันก็ไม่เคยฝึกอะ แม้ถ้าการฝึกสติจะต้องมีวินัย แล้วคนยุคนี้มันเป็นยังไง มันตามใจตัวเอง ตามใจเพราะเราเป็นทาสอะไร เราเป็นทาสอารมณ์ถูกไหม เราก็เป็นคนจิตส่งออกนอกเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เราเป็นทาสอารมณ์ อารมณ์ทําให้เราจิตส่งออกนอก เพราะอารมณ์มักจะเกิดจากสิ่งที่กระทบกระเทือนภายนอก อากาศร้อนอารมณ์หงุดหงิดแสดงว่าอะไรกระทบ อากาศกระทบจิตส่งออก พอเห็นภาพใช่มั้ย     จิตส่งออกนอกก็พอจิตส่งออกนอกสิ่งที่มันตามมาคือใจก็ ใจก็ไปติด พอใจไปติด เช่น ติดกับอากาศร้อนก็เกิดความอยากควบคุมให้มันเย็น เพราะเกิดความอยากควบคุม อุปาทานก็เกิด ความอยากก็เกิด สภาวะตอนนั้นคือไม่รู้ตัวเต็มที่เลย อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) มันเกิดแต่แรกอยู่แล้ว อวิชชามาปรุงแต่งนู่นนี่ จนกระทั้งเกิดตัณหา ตันหาเกิดอุปาทาน สมมติเรารู้สึกว่าเรารู้ตัวแล้วว่า จริงๆ มันก็แค่เอาใจไว้กับตัวนะ ความรู้ตัวเกิดการยอมรับ ก็คือการเห็นไตรลักษณ์ในสรรพสิ่ง เห็นไตรลักษณ์ก็อุปาทานน้อยลง ความยึดมั่นน้อยลงจริงๆ ก็ถอยหลังมาจากอวิชชาก็คือดับ มันคือการดับความไม่รู้เพราะเกิดการยอมรับในสรรพสิ่งนี้ อันนี้พูดภาษาธรรมะ ธรรมะเขาจะพูดอย่างนี้ พูดภาษาทางโลกก็บอกว่าโอเคใจส่งออกนอกก็เหนื่อย เหนื่อยก็อยากควบคุม ใจไม่อยู่กับตัวก็เหนื่อย ทั้งชีวิตควบคุมสิ่งที่อยู่ภายนอกหมด อันนี้ภาษาทางโลกจะพูดอย่างนี้ แค่รู้ตัวว่าจะควบคุมก็ดีขึ้นแล้ว รู้ตัวให้เยอะๆให้ทุกวันมีมากขึ้น แค่นี้เดี๋ยวจะดี รู้ตัว เกิดการยอมรับ และมีกัลยานมิตรช่วยเนี่ยจะช่วยมากๆ”

10. จากวัยเด็กจนเดินทางมาถึงตอนนี้แล้ว พระะอาจารย์มีอะไรอยากจะบอกตัวเอง หรือขอบคุณตัวเองบ้างมั้ยคะ ?

“รักตัวเองนะ รักมากๆ เก่งมากๆ และไปต่อให้ยิ่งกว่านี้ เท่าที่ยังมีเวลาอยู่ ทําให้เต็มที่ เท่าที่ยังมีเวลาอยู่ทําให้เต็มที่แล้วกัน รู้สึกว่าพยายามรักตัวเองอยู่ทุกวัน”

Inspire Now ! : “ชีวิตมันไม่มีอะไร” แค่เราเริ่มต้น การยอมรับ ตัวเอง เรียนรู้ แก้ไข และยอมรับผลที่เกิดขึ้น ชีวิตเรานั้นสั้น มาผ่อนคลายความทุกข์ ฝึกรู้จักตัวเอง แล้วมีความสุข ทำในสิ่งที่อยากทำกันนะคะ ตอนเรียน Looking within Yourself จำได้ว่า พระอาจารย์บอกว่า มนุษย์เราเกิดมา กิน และตายไป ดังนั้น เราควรใช้เวลาที่มีอยู่คนหาความหมายของชีวิต และทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าทั้งกับตัวเอง และสังคมกันนะคะ

สำหรับใครที่อยากรู้จัก อยากฟังธรรมะจากพระอาจารย์สัจจาธิโกต่อ สามารถติดตามพระอาจารย์ได้ตามรายละเอียดนี้เลยค่ะ : ช่องทางติดตามพระอาจารย์ทั้งหมด

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันอยากเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมหรือเปล่า ? อ่านจบแล้วมาลองฝึกใจ วางใจให้เป็น ให้เก่งขึ้นกันนะคะ คิดเห็นยังไง คอมเมนต์มาคุยกันค่ะ ♡

Facebook Comments

คนชอบเขียนที่ไม่ค่อยอยู่นิ่ง หลงรักดอกไม้ โดยเฉพาะไฮเดรนเยีย สนใจการพัฒนาตัวเองและใจเต้นทุกครั้งเมื่อได้ออกเดินทาง