โรคริดสีดวง คือโรคที่เรารู้จักกันดีและได้ยินชื่อของมันมายาวนาน แต่บางคนก็อาจจะยังไม่เคยรู้โดยละเอียดว่าแท้จริงแล้วนั้น โรคนี้เกิดจากอะไรได้บ้าง มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไรถึงเสี่ยง รวมไปถึงแนวทางในการรักษาของโรค จนเกิดคำถามที่ว่า ริดสีดวงหายเองได้ไหม ? ซึ่งจริงๆ แล้ว โรคริดสีดวงมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ตั้งแต่ดูแลสุขภาพ ใช้ยารักษาริดสีดวงทวาร ไปจนถึงการผ่าตัด และเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจในโรคริดสีดวงทวารมากยิ่งขึ้น วันนี้ DIY INSPIRE NOW จะพาทุกคนไปรู้จักโรคนี้กันค่ะ
ริดสีดวงหายเองได้ไหม ใช้ยารักษาริดสีดวงทวารได้หรือเปล่า เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
Image Credit : familydoctor.org
ริดสีดวงทวารคืออะไร ? และริดสีดวงหายเองได้ไหม ? ริดสีดวง เกิดจากการที่เส้นเลือดดำทวารหนัก หรือบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่เกิดอาการบวมพอง หรือมีอาการยื่นเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
ริดสีดวงภายนอก
จะเกิดที่ทวารหนักส่วนล่าง บริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก มีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้ สามารถสังเกตเห็นง่าย และจะมีอาการเจ็บปวดจากประสาทรับความรู้สึก รวมถึงมีเลือดออก
Image Credit : rouginedarou.com
ริดสีดวงภายใน
เป็นริดสีดวงที่เกิดจากเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่เหนือรูทวารประมาณ 1.5 – 2 เซนติเมตร เกิดอาการโป่งพอง เนื่องจากจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้ ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกน้อยมาก แต่จะมีอาการเลือดออกและพบก้อนเป็นอาการหลัก สามารถแบ่งตามความรุนแรงเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่หนึ่ง ริดสีดวงยังมีขนาดเล็กในช่องทวารหนักเท่านั้น ทำให้มองไม่เห็นจากด้านนอก แต่อาจมีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ
- ระยะที่สอง ริดสีดวงมีขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นติ่งยื่นออกมาเมื่อมีการเบ่งหรือถ่ายอุจจาระ แต่สามารถหดกลับเข้าไปด้านในได้เอง อาจจะมีเลือดออกร่วมด้วย
- ระยะที่สาม จะเหมือนกับระยะที่ 2 คือ ริดสีดวงยื่นออกมาจากช่องทวารหนักเมื่อมีการเบ่งหรือขับถ่าย แต่ต้องใช้นิ้วมือดันติ่งริดสีดวงนั้นกลับเข้าไป และบางทีต้องใช้เวลานานกว่าจะหดกลับเข้าไปได้เอง
- ระยะที่สี่ ริดสีดวงจะมีขนาดใหญ่และเป็นติ่งที่ยื่นออกมาจากทวารหนักแบบถาวร สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ไม่สามารถหดหรือดันกลับเข้าไปด้านในได้ จะมีการอักเสบ บวม และทำให้ไม่สามารถนั่งตามปกติได้
ปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก
Image Credit : healthcentral.com
ปัจจัยที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารได้นั้น คือ เกิดจากแรงดันที่มีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติในเส้นเลือดทวารหนัก จนมีอาการบวมเป่งเกิดขึ้น และสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้นั้น เกิดได้หลายประการ ส่วนมากมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และพฤติกรรมในการขับถ่าย ซึ่งได้แก่
- มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ท้องเสียถ่ายอุจจาระบ่อยๆ
- ชอบนั่งถ่ายอุจจาระนาน หรือมีการเบ่งอุจจาระแรงจนเกินไป
- มีการยกของหนักบ่อยๆ
- มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- กินอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ คือ มีคนในครอบครัวมีประวัติในการเป็นโรคนี้มาก่อน จึงส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติ หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ตับแข็ง ภาวะตั้งครรภ์ โรคอ้วน เป็นต้น รวมถึงผู้ป่วยสูงอายุที่มีความเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทางทวารหนัก ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคริดสีดวงได้เช่นกัน
ริดสีดวงหายเองได้ไหม
Image Credit : health.harvard.edu
ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรงมาก และเป็นริดสีดวงภายในที่อยู่ในระยะที่ 1 คือ ไม่มีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากรูทวารหนัก แต่มีอาการเจ็บขณะทำการขับถ่าย อาการแบบนี้ถือว่าไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ด้วยการดูแลสุขภาพ พร้อมป้องกันตนเองจากริดสีดวง ดังนี้
- กินอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่างๆ เป็นประจำ เพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องผูก หรือหากใครที่มีอาการท้องผูกถ่ายไม่ออกบ่อยๆ แนะนำให้ลองดื่มชาดอกกุหลาบ จะได้ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ไม่ต้องคอยเบ่งอุจจาระให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นริดสีดวง
- ควรดื่มน้ำระหว่างวันในปริมาณมาก วันละ 8-10 แก้ว หรือ 2-3 ลิตร เพื่อให้ขับถ่ายง่ายขึ้น และอุจจาระอ่อนนุ่มลง ช่วยป้องกันอาการเจ็บปวดขณะขับถ่าย
- ควรขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่กลั้นถ่าย เมื่อมีอาการปวดถ่ายให้รีบเข้าห้องน้ำทันที
- ไม่ควรเบ่งอุจจาระแรงเกินไป หรือหากพบว่ามีเลือดออกมากควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
- รักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ โดยการล้างก้นด้วยน้ำสะอาด และไม่ควรใช้กระดาษชำระที่แข็งจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้รูทวารหนักเกิดบาดแผลได้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวและขับถ่ายสะดวก สามารถออกกำลังกายรูปแบบใดก็ได้ รวมถึงออกกำลังกายลดต้นขา สะโพกก็ได้เช่นกัน
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น รวมถึงงดอาหารที่แสลงกับอาการ เช่น ของหมักดอง แอลกอฮอล์ อาหารรสจัด อาหารทะเล เป็นต้น
การรักษาโรคริดสีดวง
Image Credit : instacart.com
ริดสีดวงหายเองได้ไหม โดยส่วนมากแล้วนั้น โรคริดสีดวงจะสามารถรักษาให้หายเองได้ ด้วยการนั่งแช่ในน้ำอุ่น เพื่อลดการอักเสบและลดการขยายตัวของหลอดเลือดดำ โดยทำประมาณ 10-15 นาที ควรทำทั้งก่อนและหลังถ่ายอุจจาระ และใช้ยารักษาริดสีดวงทวาร โดยสามารถกินยาลดอาการบวมของเส้นเลือดดำ หรือยาแก้ปวดได้ และใช้ยาทาภายนอกเพื่อรักษาริดสีดวงได้ โดยจะมีรูปแบบยาเป็นแบบครีมและขี้ผึ้ง เช่น พร็อกโทซิดิลครีม, เชอริพร็อกท์ครีม และดูพร็อกท์ หรือยาสมุนไพรที่ใช้รักษาริดสีดวงทวาร เช่น เพชรสังฆาต ที่ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของเส้นเลือด จึงช่วยรักษาอาการของโรคริดสีดวงทวารได้
แต่หากมีอาการเจ็บปวด หรือมีเลือดออกมาก โดยอยู่ในระยะที่ 2-4 หรือเป็นริดสีดวงแบบภายนอก จะต้องให้แพทย์ทำการรักษา ซึ่งจะมีวิธีในการรักษาตามอาการที่เหมาะสมกับระยะที่เป็น วิธีการรักษาได้แก่
- ใช้ยาเหน็บเพื่อรักษาให้อาการดีขึ้น เช่น พร็อกโทซิดิล, เชอริพร็อกท์
- รักษาด้วยการฉีดยา โดยจะฉีดยาเข้าไปในชั้นใต้เยื่อบุ ทำให้เกิดพังผืดรัดเส้นเลือด โดยจะฉีดระดับเหนือหูรูดทวารหนัก
- รักษาโดยการใช้ยางรัด วิธีนี้จะใช้สำหรับคนที่เป็นริดสีดวงภายในที่ยื่นออกมา และมีขนาดที่เหมาะสมในการรัดได้ และแพทย์จะใช้หนังยางรัดเพื่อทำให้หัวริดสีดวงฝ่อลง และหลุดออกมาเองตามธรรมชาติ
- ใช้การจี้ริดสีดวงด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หรืออินฟาเรด
- รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนั้นจะใช้สำหรับคนที่เป็นริดสีดวงในระยะที่ 3-4 เพราะติ่งเนื้อที่ยื่นออกมาจะมีขนาดใหญ่มาก แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเย็บหรือผูกหัวริดสีดวง
Inspire Now ! : หลังจากที่ได้รู้กันไปแล้วว่า ริดสีดวงหายเองได้ไหม ซึ่งหากเราได้รับการรักษาอาการอย่างตรงจุด และหมั่นดูแลสุขภาพอยู่เสมอดังที่แนะนำไป อาการริดสีดวงทวารหนักก็จะค่อยๆ ทุเลาลงจนหายไปเองได้ในที่สุด โดยไม่ต้องใช้ยา หรือผ่าตัด แต่ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ และใส่ใจในสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น รวมถึงหากเริ่มมีอาการอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ควรรีบดูแลและรักษาก่อนที่จะเป็นหนักขึ้นนะคะ นอกไปจากริดสีดวงทวารแล้ว หากมีอาการสุขภาพอื่นๆ เช่น เจ็บท้องกระเพาะ ก็อย่าปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรรีบไปพบแพทย์จะดีกว่า เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษา เพราะอาการเจ็บกระเพาะนานๆ นั้น ส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้อีกด้วยค่ะ |
---|
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันได้ไอเดียสุขภาพและการดูแลตัวเองใช่หรือไม่ ? เมื่อได้รู้ถึงวิธีดูแลและรักษาโรคริดสีดวงกันไปแล้ว อย่าลืมนำไปใช้กันด้วยนะคะ เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : petcharavejhospital.com, hd.co.th, poonrada.com, phyathai.com