สายตาขี้เกียจ, สายตาสั้นไม่เท่ากัน

สายตาขี้เกียจ คืออะไร ? ส่งผลเสียอะไรมั้ย ?! มาทำความรู้จักกัน !

เวลาทำงาน อ่านหนังสือ หรือจ้องไปที่จอคอมฯ แล้วเห็นภาพไม่ชัดเหมือนอย่างเคย บางครั้งตอนที่เผลอเหม่อมองก็รู้สึกว่าภาพซ้อนกันในรูปแบบที่แปลกตา หรืออาจมีคนเคยทักท้วงว่าทำไมตาของเรามองดูผิดปกติไป แม้จะกินวิตามินบำรุงสายตาเป็นประจำ อาการก็ยังไม่ดีขึ้น สัญญาณเตือนทั้งหมดนี้ อาจเป็นไปได้ว่าคืออาการของ ‘สายตาขี้เกียจ’ ซึ่งเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับสายตาที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะยาว เอียง หรือสายตาสั้นไม่เท่ากัน อาการผิดปกตินี้คืออะไร เกิดจากอะไร รักษายังไง ?  และจุดสังเกตอาการเบื้องต้นมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

รู้ก่อนรักษาเร็ว ! สายตาขี้เกียจ ตัวการหลักที่ทำให้ภาพไม่ชัดเจน

สายตาขี้เกียจ, สายตาสั้นไม่เท่ากัน
Image Credit : Freepik

แรกเริ่มเรามาทำความรู้จักกับ สายตาขี้เกียจ ( Amblyopia หรือ Lazy Eye) กันก่อนดีกว่า อาการนี้ เป็นความผิดปกติของพัฒนาการด้านการมองเห็น สามารถเป็นได้ตั้งแต่ในช่วงที่ยังเป็นทารก โดยการทำงานของกระแสประสาทที่รับภาพระหว่างดวงตาและสมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากสมองเลือกรับภาพจากตาข้างใดข้างนึงมากเกินไป ทำให้การมองเห็นของตาอีกข้างถดถอย จนปิดการรับรู้ไปเลย ซึ่งสามารถเป็นได้ในดวงตาข้างเดียวหรือดวงตาทั้งสองข้าง ส่วนมากโรคสายตาขี้เกียจจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 7 ปี แต่ที่ผู้ใหญ่หลายคนเป็นกันอาจเป็นอาการต่อเนื่องตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก จากการที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะอาการนี้จะเกิดในช่วงที่ร่างกายกำลังมีพัฒนาการและมีการเจริญเติบโตนั่นเองค่ะ

[affegg id=4479]

สังเกตอาการ สายตาขี้เกียจ เบื้องต้น

สายตาขี้เกียจ, สายตาสั้นไม่เท่ากัน
Image Credit : Freepik

เราสามารถสังเกตอาการของโรคนี้ได้จากภายนอกก็คือ ดวงตาของเราอยู่ในลักษณะที่ผิดปกติ ทำงานไม่ประสานกัน หรือ ‘ตาเข’ นั่นเอง แต่ในบางกรณีอาจยังไม่ถึงขั้นตาเข แต่สามารถเห็นได้จากการหรี่ตามองของในระยะไกล เอียงคอ หรือปิดตาข้างหนึ่งเพื่อมองเห็นได้ชัด หรือสังเกตจากการที่ลูกตาเข้ามาใกล้กับหัวตาเกินไป ทั้งนี้ ยังมีอาการตาดำขุ่นที่เกิดจากต้อกระจก และเปลือกตาตกอย่างเห็นได้ชัด

และในส่วนของอาการภายใน คนที่กำลังเผชิญกับโรคสายตาขี้เกียจ จะมีสายตาสั้นไม่เท่ากัน (อ่านเพิ่มเติม สาเหตุสายตาสั้น) รวมถึงสายตาที่ยาว สั้นและเอียงเกินไปอีกด้วย ทำให้เวลามองภาพหรืออ่านหนังสือจะมองเห็นภาพไม่ชัด และรู้สึกปวดตา ตาล้า และปวดหัวเมื่อใช้สายตามากๆ  สำหรับเด็กเล็ก ทดสอบโดยการปิดตาเด็กทีละข้าง แล้วสังเกตปฎิกิริยาว่าตอบสนองต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือไม่ ถ้าไม่ อาจเป็นไปได้ว่าเจ้าตัวน้อยกำลังเผชิญกับโรคสายตาขี้เกียจอยู่ก็ได้

สาเหตุของโรคสายตาขี้เกียจ

หลักๆ แล้วสาเหตุจะมีจุดร่วมเดียวกันคือ ‘การมองภาพไม่ชัด’ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านการมองเห็นหยุดอยู่กับที่ตั้งแต่ยังเด็ก จากการทำงานของกล้ามเนื้อดวงตาที่ไม่สมดุล ส่งผลให้มีค่าสายตาเยอะข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง หรือโรคผิดปกติในการมองเห็นที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น ต้อกระจก เลนส์ตาผิดปกติ มะเร็งจอตา กระจกตาขุ่น หรือเส้นประสาทตาฝ่อ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการส่งกระแสประสาทผิดปกติ อีกหนึ่งสาเหตุหลักที่เกิดในผู้ใหญ่ โดยมาจากระบบประสาทส่วนกลาง ที่รับและส่งภาพไปยังสมองผิดปกติ และส่งภาพไปเพียงบางส่วนเท่านั้น จนเกิดอาการสายตาขี้เกียจได้ และจะทำให้ภาพที่เห็นในชีวิตประจำวันแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ถึงจะใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ตามค่าสายตาที่เปลี่ยนไปก็จะไม่ช่วยอะไรมากนัก

[affegg id=4480]

โรคสายตาขี้เกียจเป็นแล้วอันตรายหรือไม่

สายตาขี้เกียจ, สายตาสั้นไม่เท่ากัน
Image Credit : Freepik

เรียกได้ว่าเป็นโรคนี้ เป็นโรคที่ค่อนข้างอันตราย เพราะนอกจากจะเสียบุคลิกภาพจากดวงตาที่เขแล้ว ยังมองได้ไม่ชัดเหมือนเคย และสามารถเกิดอาการแทรกซ้อนได้โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่าสองปี ซึ่งควรรีบทำการรักษา เพราะสมองประมวลผลด้านการมองภาพสามมิติจะหยุดพัฒนา ทำให้เมื่อโตขึ้นจะไม่สามารถมองเห็นภาพเป็นสามมิติอย่างคนทั่วไปได้ ดังนั้นควรรีบไปพบจักษุแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยและบุคคล

การตรวจและรักษา ทำอย่างไรบ้าง

ถึงจะพูดไปก่อนหน้านี้ว่าน่าห่วงและอันตราย แต่อาการสายตาขี้เกียจสามารถหายขาดได้ โดยในเด็กควรมาตรวจสายตาตั้งแต่อายุ 3 ปีครึ่ง เพราะถ้าพบโรคก่อนอายุ 6 ปีจะสามารถรักษาได้ไวและง่ายกว่า เนื่องจากถ้าพบโรคเมื่ออายุเกิน 9 ปีไปแล้วอาจรักษาไม่ได้อีกต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของคนคนนั้นด้วย

เริ่มต้นแพทย์จะตรวจไปที่ดวงตา ดูลักษณะของลูกตา และเปลือกตาภายนอกก่อน จากนั้นอาจมีการวัดค่าสายตาร่วมด้วยเพื่อสั่งตัดแว่นสายตา หรือวินิจฉัยเพิ่มจากผล CT Scan และผล MRI ในกรณีที่ไม่สามารถสังเกตอาการภายนอกได้เพียงอย่างเดียว

หากพบแล้วว่าเป็นโรคตาขี้เกียจ จะมีวิธีรักษาหลายวิธีเลยทีเดียว หากอยู่ในช่วงตาเริ่มเหล่และเริ่มขี้เกียจ จะเริ่ม ‘ปิดตาข้างที่ดี’ ประมาณ 6 ชั่วโมงเป็นต้นไป เพื่อให้ข้างที่มีปัญหาได้ใช้งานมากขึ้น หรือ ‘ใส่แว่นสายตา’ หากเกิดจากสาเหตุสายตามีค่าผิดปกติ หรือสายตาสั้นไม่เท่ากัน

เพิ่มระดับการรักษาขึ้นมาอีกขั้นกับ ‘การหยอดยาขยายรูม่านตา’ วิธีนี้คล้ายกับการปิดตา โดยเราจะหยอดลงไปในข้างที่ปกติเพื่อให้มองเห็นได้น้อยลง กระตุ้นให้ดวงตาข้างที่มีปัญหาอยู่ถูกใช้งานมากขึ้น และสุดท้ายถ้าเกิดจากความผิดปกติทางดวงตาอื่นๆ อย่างเช่น ต้อกระจก หนังตาตก ควรผ่าตัดก่อนและค่อยรักษาด้วยวิธีปิดตาเพื่อฝึกการมองเห็นอีกครั้ง

การรักษาได้ทันท่วงทีนั้น ต้องอาศัยตัวเราเองที่หมั่นสังเกตดวงตา พร้อมกับการใส่ใจของคนรอบตัว สำหรับผู้ใหญ่อาจเริ่มได้ที่ตัวเองจากการสังเกตความผิดปกติของดวงตา และไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ แต่เด็กๆ รวมถึงเด็กเล็กในบ้านนั้นคงต้องใส่ใจอย่างมาก โดยผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน ร่วมกับการปิดตาเพื่อทดสอบและสังเกตการตอบสนองเป็นระยะ และพาไปตรวจสายตาเป็นประจำ หากพบโรคจะสามารถรักษาให้มีโอกาสกลับมามองเห็นเป็นปกติได้มากขึ้น

[affegg id=4481]

Inspire Now ! : ภาวะสายตาขี้เกียจ แม้จะเป็นอันตราย แต่ก็สามารถรักษาได้ ยิ่งรู้เร็วยิ่งรักษาได้ไว ถ้าสังเกตได้ว่าตาตัวเองมีการมองเห็นที่ผิดปกติ หรือมีลักษณะภายนอกที่ผิดปกติไป การไปหาจักษุแพทย์ จะทำให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยอบ่างละเอียด และรักษาได้ถูกต้องตามอาการ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันได้คำตอบใช่ไหม ? หมั่นดูแลสุขภาพดวงตากันด้วยนะคะ สวมแว่นกรองแสงสีฟ้าเมื่อต้องจ้องหน้าจอเพื่อเป็นการถนอมสายตา และถ้ามีความผิดปกติใดๆ ให้รีบไปพบแพทย์จะดีที่สุดค่ะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : samitivejchinatown.com, bangkokhospital.com, mayoclinic.org

Featured Image Credit : freepik.com/cookie_studio

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW