ปล่อยวาง คือ, ปล่อยวาง ธรรมะ

ปล่อยวาง คือ อะไร ? ชวนปรับวิธีคิด ให้ปล่อยวางได้ใจเป็นสุข

ถ้าใครเป็นพุทธศาสนิกชนและนับถือศาสนาพุทธ คงจะได้ยินคำสอนในทางพุทธศาสนากันมาบ้างไม่มากก็น้อย เช่น หลักสัปปุริสธรรม 7 สัปปายะสถาน อริยสัจ 4 อริยทัพย์ 7 ประการ หรือคำสอนธรรมดาๆ ที่ได้ยินกันอย่างแพร่หลาย อย่างการปล่อยวาง ไม่ยึดตัด ไม่ยึดมั่นถือมั่น คำว่า “ปล่องวาง” นี้ เป็นคำที่เรียบง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เสียทีเดียว แท้จริงแล้วการ ปล่อยวาง คือ อะไร เราจะสามารถปล่อยวางได้อย่างไร แล้วจะส่งผลดีอย่างไรกับเรา ไปอ่านเพื่อให้เข้าใจได้มากขึ้นเลยค่ะ

ปล่อยวาง คือ อะไร ? ทำได้อย่างไร ? ปล่อยวางได้ใจเป็นสุข ทำยังไง ?

ปล่อยวาง คือ, ปล่อยวาง ธรรมะ
Image Credit : freepik.com

โดยปกติของมนุษย์ปุถุชนแล้ว มักจะมีการแบกเรื่องต่างๆ ไว้ในจิตใจอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน การเงิน เรื่องปัญหาภายในครอบครัว เรื่องความรักความสัมพันธ์ ไปจนถึงปัญหาเรื่องการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้ต้องขบคิดกับปัญหานั้นๆ และก่อให้เกิดความรู้สึกหนักอกหนักใจอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นการยึดมั่นถือมั่นอย่างหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นนี้ จะทำให้เราเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ อึดอัดคับข้องใจ มีความกังวล หนักอกหนักใจ คล้ายกับกำลังแบกอะไรไว้อยู่ตลอดเวลา และการปล่อยวาง คือวิธีที่จะทำให้เรามีความสบายใจและรู้สึกเบาใจขึ้นนั่นเองค่ะ

พระพุทธเจ้าเคยกล่าวเอาไว้ว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่าไตรลักษณ์ หรือเป็นสามัญ ซึ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความหมายแต่ละส่วนดังนี้

  • อนิจจัง : ความไม่เที่ยงแท้ ทุกสรรพสิ่งในโลก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป 
  • ทุกขัง : ความไม่ทนอยู่ที่ มีทุกข์อยู่ทุกขณะ อันเป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์และสัตว์ที่ต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาบ และต้องพบเจอกับความทุกข์กายทุกข์ใจ เป็นธรรมดาของชีวิต 
  • อนัตตา : หมายถึงการไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัวตน หรือ สภาพที่บังคับบัญชาไม่ได้ อันเป็นธรรมชาติของสังขารและวิสังขาร

อย่างไรก็ตาม แม้มนุษย์เราจะรับรู้ได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” แต่ก็ยังคงมีความยึดมั่นถือมั่น เชื่อว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ยึดถือมาตลอดนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไป และทุกสิ่งสามารถเป็นไปตามความต้องการของตนได้ และเมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นก็มักจะไปจดจ่อจมจ่อมอยู่กับความทุกข์นั้นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการทับถมของความทุกข์ และทำให้เราทุกข์ใจเป็นเวลานาน จึงต้องรู้จักปล่อยวาง คือ การยอมรับและเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั่น เป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติของโลก และปล่อยให้เป็นไปตามวิถีของมัน พร้อมยอมรับสภาพของสิ่งนั้นๆ ว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้ตามความเป็นไปของโลก เช่น เมื่อมีเกิดก็ต้องย่อมมีดับ เมื่อมีรักก็ย่อมมีวันหมดรัก เมื่อมีสุขแล้วก็ต้องมีทุกข์ ฯลฯ ซึ่งการเข้าใจหลักธรรมะสอนใจเช่นนี้ ก็จะทำให้เราไม่ยึดติดกับสิ่งใดและสามารถปล่อยวางได้นั่นเองค่ะ

สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย “พีระมิดสามสุข”

วิธีการปล่อยวาง ทำได้อะไร ?

ปล่อยวาง คือ, ปล่อยวาง ธรรมะ
Image Credit : freepik.com

พระพุทธเจ้าเคยกล่าวเอาไว้ว่า การมีลาภ ก็มีเสื่อมลาภ มียศ ก็เสื่อมยศได้ มีสรรเสริญ ก็มีคนนินทา มีสุข ก็มีทุกข์ ใครๆ ก็หนีไม่พ้น เป็นสัจธรรมของชีวิต ดังนั้นแล้ว เราจะต้องมีการปล่อยวาง ธรรมะที่จะช่วยให้เราไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่ไม่เที่ยง ในภาษาบาลีใช้คำว่า “อุเบกขา” แปลว่า การวางเฉย อันหมายถึง การที่เราเองสามารถรักษาใจให้นิ่งได้ เอาใจตัวเองให้สงบนิ่ง ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ หรือถูกกระตุ้นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น เมื่อเจอคนพูดไม่เข้าหูและทำให้หงุดหงิด แทนที่จะเอาคำพูดนั้นมาขบคิดต่อ ทำให้เราอารมณ์ไม่ดีไปทั้งวัน ก็ให้ปล่อยวางเสีย ไม่เก็บมาใส่ใจ หรือถ้าเจอเหตุการณ์ที่ขัดใจ ไม่เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง เช่น พนักงานบริการไม่ถูกใจ แทนที่จะถือโทษโกรธเคือง ก็ให้ปล่อยวาง คือ คิดเสียว่าไม่มีอะไรจะได้ดั่งใจเราทั้งหมด หรือแม้แต่เกิดเหตุการณ์รุนแรง เช่น เลิกกับคนรัก หรือสูญเสียคนในครอบครัว ก็คิดปล่อยวางว่าทุกสิ่งเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน มีพบก็มีจาก มีเกิดก็มีดับ เป็นธรรมชาติของชีวิต เมื่อคิดได้แบบนี้ก็จะทำให้เราไม่ไปยิดติดกับการพลัดพรากหรือการสูญเสีย และทำใจยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม การปล่อยวาง คือวิธีการคิดอันจะทำให้เรามีจิตใจที่สงบและเป็นทุกข์น้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามมีอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ไม่ได้หมายความว่า ห้ามเสียใจ ห้ามโกรธ ห้ามไม่พอใจ ห้ามวิตกกังวล ฯลฯ เพราะเราก็ยังเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก เราสามารถรู้สึกได้ เพียงแต่ว่าไม่ไปยึดติดกับมันหรือเอามาเป็นประเด็นสำคัญในชีวิต การฝึก Mindfulness หรือฝึกการมีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ความคิดของตัวเองอยู่เสมอจะทำให้เราจับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น และปล่อยวางได้มากขึ้น ไม่ยึดติดกับความคิดความรู้สึกลบๆ มากเกินไป และทำให้เป็นทุกข์น้อยลงนั่นเอง

กล้าที่จะถูกเกลียด

สิ่งที่อาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปล่อยวาง

ปล่อยวาง คือ, ปล่อยวาง ธรรมะ
Image Credit : freepik.com

บางคนอาจจะเข้าใจผิดไปว่า การปล่อยวาง คือ การปล่อยเลยตามเลย ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามวิถีของมันโดยไม่ต้องทำอะไร เราต้องแยกให้ออกระหว่างการปล่อยวาง กับหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น เมื่อมีงานที่ต้องทำ แต่บอกว่าตนปล่อยวางแล้ว ไม่ทำงาน หรือมีลูก แต่บอกว่าปล่อยวางกับชีวิตลูกแล้ว ไม่เลี้ยงดู ไม่ดูแลเอาใจใส่ แบบนี้คือการขาดความรับผิดชอบ การปล่อยวางเป็นการฝึกใจของตนเอง แต่ก็ต้องรับผิดชอบในภาระหน้าที่ไปด้วยในขณะเดียวกัน อาทิ เราได้ทำงานอย่างสุดความสามารถแล้ว ถ้าหากหัวหน้างานไม่พอใจหรือต้องแก้ไขอะไร ก็จะทำตามนั้น โดยไม่ไปยึดติดกับความวิตกกังวลล่วงหน้าว่ามันจะออกมาดีไหม จะเกิดข้อผิดพลาดอะไรไหม แต่ให้ปล่อยวางแล้วคิดเสียว่า จะไม่เครียดกับงานเนื่องจากทำดีที่สุดแล้ว หากหมกมุ่นอยู่กับความวิตกกังวลหรือความกลัวว่างานจะออกมาผิดพลาด ก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ได้

การปล่อยวาง คือ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบแล้ว เราจะไม่ยึดติดกับความคิดความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้น ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกด้านลบออกไปให้เร็วที่สุด และทำใจสงบนิ่งเป็นกลาง ไม่ไหวเอนไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่บนความเป็นเหตุผล มองทุกอย่างตามความเป็นจริง และมีความรับผิดชอบ พร้อมลงมือจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์

วิธีฝึกใจให้ ปล่อยวาง คือ อะไร ทำได้อย่างไร ?

ตอนนี้เราก็เข้าใจมากขึ้นแล้วว่า การปล่อยวาง คืออะไร ความหมายที่แท้จริงของการปล่อยวางคืออะไร การปล่อยวางจะทำให้เราเป็นทุกข์น้อยลง สุขได้มากขึ้น ด้วยใจที่เบาสบาย ไม่แบกความคิดความรู้สึกลบๆ เอาไว้ในใจ อันเกิดจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ผู้คน สิ่งแวดล้อมโดยรอบ หรืออะไรก็ตาม ให้เราปลดปล่อยความเครียด ความวิตกกังวล ความอึดอัดคับข้องใจ และความไม่สบายใจออกไป แล้วเราจะสามารถฝึกใจให้ปล่อยวางได้อย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ

1. มีสติอยู่กับปัจจุบัน

การฝึกเจริญสติอยู่เสมอจะทำให้เราปล่อยวางได้ การมีสติอยู่กับตัวจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน ไม่อาลัยกับอดีต ไม่กังวลกับอนาคต บางครั้งเรื่องยังไม่เกิดขึ้น แต่จิตของเราก็นึกปรุงแต่งไปในทางลบเสียแล้ว แต่ถ้ามีสติ เราจะอยู่กับความจริงในปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้ใจจมอยู่กับอดีตหรือพะวงกับอนาคต เมื่อคิดกังวลเตลิดไปไกลก็มีสติสามารถดึงตัวเองมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้ การมีสติจะช่วยให้เราปล่อยวางความคิดที่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้มากขึ้น

2. ฝึกการมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น และต่อตนเอง

การมีเมตตากรุณา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ไม่คิดทำร้ายกัน มีความรักใคร่ใจดีกับผู้อื่น มีความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มีความสงสารและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่กำลังมีความทุกข์กายทุกข์ใจ แล้วการมีเมตตากรุณาจะทำให้เราปล่อยวางได้อย่างไร ? การมีเมตตา จะทำให้เราไม่คิดร้ายกับผู้อื่นหรือคิดโกรธเคืองผู้อื่น ไม่ถือสาว่าความกันหากมีใครมาทำเกิดเกิดความขุ่นข้องหมองใจ การปล่อยวาง ธรรมะได้กล่าวเอาไว้ว่า “ความสุข เกิดจากจิตใจที่สะอาดและบริสุทธิ์ ” ถ้าเรามีจิตดี มีเมตตาต่อผู้อื่น และต่อตนเอง ไม่คิดเคียดแค้นผู้อื่นให้เกิดความทุกข์กับตัวเอง เหมือนกับเอาไฟมาสุมในอกตัวเอง เราก็จะปล่อยวางความโกรธแค้นได้จากการมีเมตตานั่นเองค่ะ

JOURNAL จัดระเบียบใจ

3. มองเห็นทุกสิ่งเป็นสิ่งชั่วคราว

ปล่อยวาง คือ, ปล่อยวาง ธรรมะ
Image Credit : freepik.com

การปล่อยวาง ธรรมะได้กล่าวไว้ว่า “ธรรมดาของชีวิต มีแล้วก็กลับไม่มีได้ โลกสลับกันไปมา เหมือนมืดแล้วสว่าง อย่าเสียใจหรือดีใจกับสิ่งใดให้มากนัก” สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหน้าที่การงาน ลาภยศเงินทอง แม้กระทั่งความรักความสัมพันธ์ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงเป็นแค่สิ่งชั่วคราว แม้ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งๆ นั้นจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งเราตายจากโลกนี้ไป (ซึ่งทุกคนจะต้องตาย) สิ่งที่เรายึดถือก็จะตายไปกับเราด้วย หากรู้สึกว่าใจยึดติดกับอะไร ทั้งสิ่งของ ตำแหน่งหน้าที่ สถานะทางสังคม ความรักความรู้สึก ให้ลองจินตนาการดูว่า อีก 100 ปีข้างหน้า สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นอยู่นี้จะเป็นอย่างไร จะยังคงอยู่ไหม เมื่อระรึกได้ว่าทุกสรรพสิ่งล้วนไม่จีรังยั่งยืน ก็จะทำให้เราปล่อยวางได้ง่ายขึ้นค่ะ

4. มองข้ามสิ่งเล็กน้อยที่ไม่ถูกใจเราไปบ้าง

เมื่อรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างขัดหูขัดตาเรา หรือไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เช่น คนรักไม่ได้ดั่งใจ ลูกไม่ได้ดั่งใจ พนักงานร้านอาหารไม่ได้ดั่งใจ ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดคับข้องใจ จนลืมตัวไปว่า ทำไมเราต้องใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้แล้วเก็บเอามาเป็นความทุกข์ ในเมื่อเทียบกันแล้ว ก็ยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นอีกมาก ซึ่งมีค่ามากกว่าการที่เราจะเอาเวลามานั่งเครียดนั่งหงุดหงิดกับการไม่ได้ดั่งใจ “ของตนเอง” เมื่อคิดได้ดังนี้ ก็จะปล่อยวางกับเรื่องหยุมหยิมได้มากขึ้นค่ะ

5. ปล่อยให้มันเป็นไป

จุดประสงค์ที่แท้จริงของการปล่อยวางคือ การหยุดคาดการณ์และบังคับควบคุมอนาคต เพราะไม่มีใครล่วงรู้อนาคตได้ แม้ว่าเราจะเตรียมตัวเตรียมพร้อมมาอย่างดีแล้วก็ตาม ดังนั้น แทนที่เราจะไปวิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ให้เราทำวันนี้ให้ดีที่สุด ซื่งก็เป็นรากฐานที่ดีของอนาคตในวันข้างหน้า ในเมื่อทำวันนี้ให้เต็มที่ ก็ไม่มีอะไรจะต้องเสียดายเสียใจอีกต่อไป จงปล่อยให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยกฏของเหตุและผล อย่างไรก็ตาม เราสามารถวางแผนและกำหนดเป้าหมายของตนเองได้ แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะไม่เป็นไปตามแผนเสมอไป และถ้าที่สุดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโตต่อไปนั่นเอง

แค่โอบกอดตัวเองให้เป็น
Inspire Now ! : การปล่อยวาง ไม่ใช่การปล่อยเลยตามเลย หรือปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามทางของมันโดยที่ไม่คิดจะทำอะไร แต่การปล่อยวางหมายถึง การตระหนักได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่นอน มักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การไปยึดมั่นถือมั่นกับมันจะทำให้เราเป็นทุกข์ รวมถึงการเข้าใจได้ว่าการมีสุขมีทุกข์เป็นเรื่องปกติของชีวิต เช่นเดียวกับในโลกที่มีความมีดำ มีมืดมีสว่าง มีเกิดมีดับ และตัวตนของเราก็เป็นอัตตาที่สร้างขึ้น เช่นเดียวกับสังขารที่เป็นสิ่งไม่เที่ยง การที่เรายึดมั่นกับบางสิ่งบางอย่างมากเกินไปก็จะทำให้เกิดความทุกข์ในจิตใจได้ จึงต้องฝึกปล่อยวาง กล่าวคือ เข้าใจความเป็นไปของโลกตามหลักธรรมคำสอนนี้ แล้วมองโลกตามความเป็นจริง มองอย่างที่เป็น เป็นเหตุการณ์หนึ่งๆ และปล่อยวางอารมณ์ลบๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้จิตใจของเราเบาสบายขึ้นนั่นเองค่ะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันได้คำตอบใช่ไหม ? การปล่อยวางคืออะไร จะปล่อยวางได้อย่างไร ตอนนี้ก็ทราบกันแล้วนะคะ เราจะฝึกใจให้ปล่อยวางได้ใจเป็นสุขได้อย่างไรบ้าง คอมเมนต์บอกกันมาได้นะ ♡

Featured Image Credit : freepik.com/vecstock

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW