รู้หรือไม่ว่า เราทุกคน ล้วนเป็นผู้บริโภคด้วยกันทั้งนั้น เพราะทุกวันนี้เรามีการจับจ่ายใช้สอยซื้อของกินของใช้กันในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าหรือไปใช้บริการต่างๆ ก็ตาม ทั้งซื้อของในตลาดหรือช็อปปิ้งในห้าง กรุงเทพฯ ก็เรียกว่าเป้นการบริโภคจับจ่ายใช้สอยทั้งสิ้น และบางคนก็อาจจะเคยได้ยินข่าวในกรณีที่ว่า ผู้บริโภคไม่ได้รับความยุติธรรมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้จำหน่ายสินค้าบริการ ซึ่งก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เรียกว่า “สิทธิผู้บริโภค” เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิในด้านต่างๆ และสามารถเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ ทั้งนี้ ความสำคัญของสิทธิผู้บริโภค ยังมีความสำคัญในระดับสากล เพราะได้มีการกำหนด วันสิทธิผู้บริโภคสากล เอาไว้ด้วย ทำไมถึงต้องให้ความสำคัญกับสิทธิบริโภคด้วย ? มาทำความรู้จักและทำความเข้าใจให้มากขึ้นกันค่ะ
ชวนรู้จัก และทำความเข้าใจ วันสิทธิผู้บริโภคสากล
Image Credit : freepik.com
วันสิทธิผู้บริโภคสากล หรือ World Consumer Rights Day ตรงกับวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง และส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทุกคนอย่างทั่วถึงทั้งโลก ซึ่งวันสิทธิผู้บริโภคสากลเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า Consumer Right Day โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ซึ่งมีการกล่าวถึงสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานเริ่มต้น ดังนี้
สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร
สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย
สิทธิที่จะเลือกบริโภค
สิทธิได้รับการเยียวยา
อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ.1983 โดยจัดแคมเปญให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม และเผยแพร่ความสำคัญของวันสิทธิผู้บริโภคสากลตามสื่อต่างๆ ณ ขณะนั้น และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ก็เป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกจะได้ตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง และส่งเสริมให้เกิดความเคารพและปกป้องสิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นอย่างทั่วถึง
สิทธิของผู้บริโภคที่ควรรู้ มีอะไรบ้างตามหลักสากล
Image Credit : freepik.com
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลได้บัญญัติสิทธิผู้บริโภคสากลพื้นฐานไว้ 8 ประการ ดังนี้
สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อันได้แก่ อาหารปลอดภัย ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการการศึกษาและสาธารณสุข (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นสาธารณสุขได้ที่ วันส้วมโลก )
สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีผลิต และบริการที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิต
สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการหลอกลวงของโฆษณา หรือการแจ้งประกาศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ
สิทธิที่จะได้เลือกสินค้าและบริการในราคายุติธรรม ในราคาที่เกิดการแข่งขัน และในกรณีที่มีการผูกขาดสินค้าก็จะวางใจได้ว่า จะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจในราคายุติธรรม
สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารจัดการ
สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย ในกรณีที่ถูกละเมิด หลอกลวงให้ได้รับสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ กล่าวคือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินเรื่องราวที่ร้องเรียนอย่างถูกต้อง ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการชดใช้เมื่อได้รับสินค้าและบริการที่บกพร่องหรือเสียหาย รวมถึงการช่วยเหลือหรือชดใช้อื่นๆ
สิทธิที่จะได้รับความรู้และไหวพริบอันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน ซึ่งเป็นสิทธิที่จะได้รับความรู้ในการตัดสินใจของผู้บริโภค
สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ชวนดู ประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิผู้บริโภค
Image Credit : freepik.com
1. สหรัฐอเมริกา
วันสิทธิผู้บริโภคสากลได้เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้บริโภคมาเป็นอันดับต้นๆ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา การคุ้มครองผู้บริโภค หรือ Consumer Protection ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ ทางภาครัฐมีองค์กรสำคัญทั้งในระดับสหพันธรัฐและมลรัฐ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคุ้มครองผู้บริโภคกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประชาชนสามารถติดต่อได้สะดวก กฎหมายที่บัญญัติออกมาโดยรัฐบาลมลรัฐแต่ละรัฐมีความสอดคล้องกัน มีรายละเอียดชัดเจนที่เหมาะสมกับรัฐของตนเอง ทำให้การใช้กฎหมายส่งผลดียิ่งขึ้น เป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม
[affegg id=4626]
2. บราซิล
ในประเทศบราซิล มีการคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกควบคุมโดย Consumer’s Defense Code ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐธรรมนูญบราซิลปี 1988 โดยกฎหมายบราซิลกำหนดให้ “ข้อเสนอและการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน เกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ปริมาณ ส่วนประกอบ ราคา การรับประกัน ความถูกต้องและแหล่งที่มาของสินค้า รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ด้วย เนื่องจากเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค” ในบราซิล หากมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานว่าจำเลยมีความผิด แต่ฝ่ายจำเลยที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้นๆ ต้องเป็นผู้แสดงหลักฐานเองว่ามีความบริสุทธิ์ ทั้งนี้ ได้มีการให้คำนิยามแต่ละคำอย่างชัดเจน เช่น คำว่า ผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ ว่าแต่ละคำมีความหมายว่าอย่างไร เพื่อเป็นการปกป้องผู้บริโภคจากช่องโหว่ทางกฎหมายอีกด้วย
3. สิงคโปร์
ในสิงคโปร์มีกฎหมายด้านมาตรฐานความปลอดภัยของผู้บริโภคที่เรียกว่า Consumer Protection Regulations 2011 กำหนดให้นำมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น International Organization for Standardization (ISO), International Electrotechnical Commission(IEC), European Committee for Standardization และ ASTM International มาบังคับใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความควบคุมของกฎหมายเฉพาะอื่นๆ ทำให้สินค้าหลายชนิดมีความปลอดภัยสูงเป็นอย่างมาก ซึ่งการนำมาตรฐานระหว่างประเทศมาใช้ถือเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในสิงค์โปร์ เนื่องจากมาตรฐานระหว่างประเทศมีการกำหนดระดับความปลอดภัยที่ชัดเจนและแน่นอน อันจะส่งผลดีต่อผุ้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง
[affegg id=4477]
ชวนรู้จักสิทธิผู้บริโภคไทยให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์และการตระหนักรู้ถึงสิทธิของตัวเอง
Image Credit : freepik.com
สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษราหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริง และปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค ตลอดจนสิทธิที่จะได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐาน เหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
สิทธิ์ที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1,2,3, และ 4 ดังกล่าว
หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย
ตอนนี้ก็ได้รู้ว่า สิทธิผู้บริโภค หมายถึงอะไร ทั้งสิทธิในระดับสากลและสิทธิผูบริโภคในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับในประเทศไทย มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค อยู่ 2 แห่ง ได้แก่ 1) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. และ 2) สำนักงานอาหารและยา หรือ อย. เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบการ หากได้รับความไม่เป็นธรรมจากสินค้าและบริการต่างๆ สามารถร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ทางเว็บไซต์ ocpb.go.th หรือโทรสายด่วน สคบ. 1166 ได้เลยค่ะ
[affegg id=4478]
Inspire Now ! : วันสิทธิผู้บริโภคสากล จัดตั้งเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสิทธิผู้บริโภคของตนเอง และรู้ถึงความสำคัญของสิทธิผู้บริโภคว่าสามารถเรียกร้องสิทธิหรือปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างไรบ้าง สำหรับในประเทศไทยแล้ว สิทธิผู้บริโภค หมายถึงสิทธิ 5 ประการดังที่กล่าวไปในข้างต้น ถ้าหากว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถร้องเรียนหรือร้องทุกข์ไปยังองค์กรที่รับผิดชอบในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ซึ่งก็คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ทั้งนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่า เรามีสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองในการที่จะได้รับข่าวสาร ได้รับความปลอดภัย มีสิทธิที่จะเลือกบริโภค รวมถึงมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาด้วย หากทุกคนตระหนักถึงสิทธิของตนเอง และเรียกร้องสิทธิของตัวเองในการได้รับความยุติกรรม ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ค่ะ
DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? รู้ถึงสิทธิผู้บริโภคของตนเองแล้ว ถ้าหากไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่คุ้มครอง เพื่อเรียกร้องสิทธิผู้บริโภคของตนเองได้ จะได้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมนะคะ และถ้าใครชอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับวันสำคัญต่างๆ ไปอ่าน วันคนพิการแห่งชาติ เพิ่มเติมได้นะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : web.senate.go.th, consumerthai.org, moj.go.th , ocpb.go.th , consumersinternational.org
Featured Image Credit : freepik.com