สาเหตุน้ำในหูไม่เท่ากันคืออะไร ? ดูแลรักษา และป้องกันได้อย่างไรบ้าง
357
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่เราได้ยินกันมานาน และพบได้ในหลายๆ คน น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่ามันเกิดจากอะไร รวมถึงรู้ว่ามีอันตรายอย่างไรบ้าง เพื่อการดูแลตนเอง และเป็นแนวทางการดูแลผู้สูงอายุด้วย วันนี้ DIY INSPIRE NOW จึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้มาฝากกัน ว่า สาเหตุน้ำในหูไม่เท่ากัน อาการที่พบ วิธีรักษาและป้องกันนั้น มีอะไรบ้างค่ะ
สาเหตุน้ำในหูไม่เท่ากันคืออะไร ?
Image Credit : thairath.co.th
เคยไหม ? ที่จู่ๆ ก็มีอาการปวดศีรษะ บ้านหมุน ขึ้นมากะทันหัน ซึ่งอาการดังกล่าวนี้คือหนึ่งในสาเหตุน้ำในหูไม่เท่ากันที่พบได้บ่อยๆ โรคนี้มีอันตรายหรือไม่ เกิดกับใครได้บ้าง เรามาทำความรู้จักให้มากกว่าเดิมกัน
น้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคมีเนีย เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีน้ำภายในหูชั้นในที่มากผิดปกติ ที่อาจเกิดจากการดูดซึมของน้ำภายในหูไม่ดี ทำให้ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาท ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน เมื่อเซลล์ดังกล่าวทำงานผิดปกติจึงเกิดอาการเช่น วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ สูญเสียการได้ยิน รู้สึกถึงแรงดันภายในหู เป็นต้น โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และเกิดขึ้นในหูข้างใดข้างหนึ่ง
อาการของโรค
อาการที่พบ มักเกิดขึ้นที่หูข้างใดข้างหนึ่งแบบกะทันหัน และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบางคนอาจมีอาการนานเป็นชั่วโมง และจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ อีก ได้แก่ จะมีอาการวิงเวียนศีรษะแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนนั้นจะเป็นความรู้สึกที่ว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวหมุน ที่ไม่ใช่แค่อาการมึนงง แต่จะค่อนข้างรุนแรงกว่า ทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นยืนหรือทรงตัวได้ ต้องนอนนิ่งๆ หลับตา รวมถึงอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก มักเป็นนาน 2-3 ชั่วโมง และเป็นๆ หายๆ ในบางรายจะมีอาการทางหู เช่น หูอื้อ เสียงดังในหู ซึ่งอาการเวียนศีรษะนั้นแม้จะไม่ได้รุนแรง แต่เป็นอาการที่รบกวนผู้ที่เป็นมากที่สุด เพราะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ต้องนอนพักทันที นอกจากนี้ยังพบว่าอาจสูญเสียการทรงตัวหรือมีอาการเซร่วมด้วย
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้
หลายคนเข้าใจว่าโรคนี้จะพบได้ในผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคนี้ไม่ได้พบแค่ในคนสูงอายุเท่านั้น เพราะสามารถพบได้ในคนอายุตั้งแต่ 30-60 ปี และพบได้ทั้งชายและหญิง โดยมากแล้วอาการมักจะเริ่มเมื่ออายุ 30 ปี เพราะฉะนั้น หากยังอยู่ในวัยคนหนุ่มสาวก็มีโอกาสที่จะเป็นได้เช่นกัน
วิธีการรักษา
การรักษาโรคนี้นั้น สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา การบำบัด การฉีดยา และการผ่าตัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
-
รักษาด้วยการกินยา
ยาที่แพทย์จะจ่ายให้เพื่อทำการรักษานั้น จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น
- ยามีไคลซีน ยารักษาอาการป่วยจากการเคลื่อนไหว เพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน และป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ยาโปรเมทาซีน ช่วยรักษาอาการอาเจียน
- ยาขับปัสสาวะ จะช่วยให้น้ำคั่งในหูชั้นในน้อยลง เป็นการรักษาจากสาเหตุน้ำในหูไม่เท่ากัน และทำให้มีอาการดีขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นการรักษาในระยะยาว โดยจะกินยาควบคู่ไปกับการลดการกินอาหารที่มีรสเค็ม
- ยาสเตียรอยด์ แพทย์จะสั่งเมื่อวินิจฉัยว่าสาเหตุน้ำในหูไม่เท่ากันมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
-
รักษาด้วยการบำบัด
การบำบัดเป็นการรักษาอีกทางหนึ่ง ที่บางรายอาจมีอาการที่ดีขึ้นได้จากการรักษาด้วยวิธีดังนี้
- การฟื้นฟูระบบการทรงตัว แพทย์จะใช้การบำบัดวิธีนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวจากอาการวิงเวียนศีรษะ ให้ทรงตัวได้ดีขึ้น
- การใช้ Meniett Device ที่เป็นเครื่องมือใส่เข้าไปในหูเพื่อให้หูปรับความดันเอง ช่วยปรับความดันในหูชั้นกลาง ทำให้ของเหลวในหูไหลเวียนได้ดีขึ้น เป็นวิธีแก้อาการหูอื้อ และจะทำให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้นด้วย
-
รักษาด้วยการฉีดยา
การฉีดยาเป็นอีกวิธีในการรักษา โดยยาที่นิยมใช้ในการรักษามี 2 ชนิด คือ
- Dexamethasone เป็นยาฉีดที่ช่วยให้ความถี่ในการเวียนศีรษะลดลง และมีผลช่วยให้การได้ยินดีขึ้น โดยแพทย์จะฉีดเข้าไปที่หูชั้นกลางให้ดูดซึมเข้าไปที่หูชั้นใน เพื่อช่วยบรรเทาอาการ สามารถฉีดได้บ่อยได้ทุก 1-3 เดือน
- Gentamicin เป็นยาฉีดที่ช่วยควบคุมอาการเวียนศีรษะ แต่อาจมีผลข้างเคียงในเรื่องการได้ยินที่ลดลง แต่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่มากกว่า
-
รักษาด้วยการผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้ในการรักษาผู้ที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ข้างต้นแล้วไม่ตอบสนอง โดยมีหลายวิธี ดังนี้
- Endolymphatic Sac Procedure เป็นการผ่าตัดกระดูกบางส่วนออก หรือใส่ท่อเพื่อช่วยระบายน้ำส่วนเกินออกจากหูชั้นใน จะช่วยให้อาการวิงเวียนศีรษะดีขึ้น
- Vestibular Nerve Section เป็นการผ่าตัดเส้นประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นในและสมอง ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะนั่นเอง
- Cochleosacculotomy เป็นการผ่าตัดเพื่อระบายน้ำที่อยู่ในหูชั้นใน วิธีนี้จะเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน
- Labyrinthectomy วิธีนี้แพทย์จะทำในผู้ที่เกือบจะสูญเสียการได้ยินทั้งหมดแล้ว โดยทำการผ่าตัดอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินและทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน
วิธีการป้องกัน
เนื่องจากอาการของโรคนี้นั้นมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น วิธีการป้องกันจึงสามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ การทำกิจกรรมผาดโผน หรือขับขี่รถยนต์และยานพาหนะอื่นๆ นอกจากนี้การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ สามารถป้องกันอาการได้ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ รวมถึงงดการสูบบุหรี่ด้วย ก็จะช่วยป้องกันอาการของโรคได้ค่ะ
Inspire Now ! : ได้รู้ถึง สาเหตุน้ำในหูไม่เท่ากัน ไปแล้วนะคะ ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพของเรากันด้วย โดยนอกจากจะป้องกันตนเองจากวิธีที่เราแนะนำไปแล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือและผงชูรสอีกด้วย รวมถึงควรดื่มน้ำทุกวันให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือประมาณ 6-8 แก้ว และหากพบว่ามีอาการวิงเวียนศีรษะแบบกะทันหัน ให้รีบนั่งพักทันที และควรมียาแก้วิงเวียนติดบ้านไว้เสมอ การดูแลตัวเองไม่ใช่แค่ให้ปลอดภัยจากโรคนี้เท่านั้น เพราะยังช่วยให้ห่างไกลจากอาการต่อมทอนซิลอักเสบได้อีกด้วย เพราะเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้ทุกเพศและทุกวัย และเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเราเช่นเดียวกันค่ะ |
---|
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันได้ไอเดียสุขภาพใช่หรือไม่ ? ใครมีวิธีดูแลและป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากันบ้าง มาแชร์ประสบการณ์กันได้นะคะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : pobpad.com, vichaiyut.com, si.mahidol.ac.th
Facebook Comments