โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากอะไร ? หาคำตอบพร้อมวิธีรับมือได้ที่นี่ !
121
การนั่งทำงานท่าเดิมเป็นเวลานานๆ มักจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยและชาตามตัว เช่น ปวดคอ บ่า หลัง ไหล่ หรือชาตามบริเวณต่างๆ ที่เรียกอาการรวมๆ นี้ว่า ออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต แม้ไม่ใช่ชาวออฟฟิศก็เป็นได้เช่นกัน อย่างเช่น นั่งผิดท่า นั่งหลังค่อม นั่งก้มคอ หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องนานหลายชั่วโมงต่อวัน และขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย และเพื่อเข้าใจโรคนี้ได้ดีขึ้น เราจะพาทุกคนมารู้ถึง โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจาก อะไร ? รวมถึงวิธีป้องกันและออฟฟิศซินโดรมรักษาที่ไหนดี เพื่อให้ทุกคนพร้อมรับมือกับโรคนี้กันค่ะ
โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจาก อะไร ? ใครเสี่ยงเป็นได้บ้าง
Image Credit : gominimalistoffice.com
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด ซึ่งโรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตต่างๆ เช่น นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือเปลี่ยนอิริยาบถ มักพบได้บ่อยในคนทำงานออฟฟิศ ในขณะเดียวกันคนที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ไม่ใช่แค่คนทำงานออฟฟิศเท่านั้น แม้จะทำงานอาชีพอื่นแต่หากทำงานอยู่ท่าใดท่าหนึ่งที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง ก็ก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน
นอกจากนี้อาการต่างๆ อาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง และเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้อีกด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบกระดูก เส้นประสาทต่างๆ ทำให้หลายคนต้องรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือแม้แต่โรคที่เกี่ยวกับระบบการย่อยอาหารและขับถ่ายอย่าง กรดไหลย้อน ท่อปัสสาวะอักเสบ และริดสีดวง เป็นต้น
สาเหตุของออฟฟิศซินโดรมเกิดจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากปัจจัยหลักๆ คือ
- ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไปและขาดการเคลื่อนไหว
- สภาพแวดล้อมที่ทำงานไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้ที่นั่งทำงานนั้น มีขนาดสูงหรือต่ำจนเกินไป เก้าอี้ไม่มีพนักพิง ทำให้นั่งหลังค่อม หลังงอ รวมถึงตำแหน่งของหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่อยู่สูงหรือต่ำจนเกินไป ทำให้ต้องก้มหรือเงยเป็นเวลานานๆ
- สภาพร่างกายและจิตใจอื่นๆ เช่น ความเครียดจากการทำงาน พักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน กินอาหารไม่ตรงเวลา ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน
อาการแบบไหน เรียกว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม
อาการออฟฟิศซินโดรมที่พบนั้นมีหลากหลาย ซึ่งในแต่ละคนก็จะมีอาการที่แตกต่างกันไปได้ โดยสามารถแบ่งกลุ่มของอาการได้ ดังนี้
- อาการปวดกล้ามเนื้อที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย เช่น มีอาการตึงที่คอ บ่า ไหล่ และท้ายทอยแบบเรื้อรัง มีอาการปวดหลังส่วนบนหรือส่วนล่าง ปวดบริเวณข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า หรือข้อเท้า บางคนปวดลงไปถึงสะโพกและต้นขา มักปวดตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
- อาการทางระบบประสาท โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการที่กล้ามเนื้อใช้งานหนักและเป็นเวลานาน และสามารถมีอาการของระบบประสาทร่วมด้วยได้ เช่น ชาบริเวณมือและแขน หากมีการถูกกดทับมากเกินไป ซึ่งมาจากการที่เราใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานในท่าเดิมๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทจนเกิดพังผืด และทำให้ปวดปลายประสาทได้
- อาการปวดศีรษะเรื้อรัง ทั้งอาการปวดแบบรุนแรง หรือบางทีมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย สาเหตุหลักๆ มาจากความเครียด หรือใช้สายตาในการทำงานมากจนเกินไป ทำให้อาจมีการปวดตา เมื่อยล้าดวงตา ตาพร่ามัว และแสบตาได้
- อาการทางผิวหนัง เช่น อาจมีอาการคันตามลำตัว เกิดผดผื่น ผิวหนังแดง แพ้ เป็นต้น
วิธีป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม
-
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน
โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากพฤติกรรมเป็นหลัก ลองปฏิบัติตามกฎ 20-20-20 ด้วยการหยุดพักจากงานทุกๆ 20 นาที พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 20 วินาที และมองดูอย่างอื่นที่ห่างออกไปราว 20 ฟุต รวมถึงปรับท่านั่งใหม่ให้ถูกต้อง นั่งตัวตรง หลังตรง หลังชิดขอบด้านในของเก้าอี้ และนั่งในท่าที่สบาย
-
ออกกำลังกาย หรือขยับท่าทาง
เพื่อยืดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่น และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ลุกจากโต๊ะออกไปเดินเล่นหรือเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเมื่อทำงานครบทุกๆ 20 นาที และเมื่อนั่งทำงานครบ 60 นาที ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อข้อมือและแขน
-
กินอาหารให้ถูกต้อง
เพื่อเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย กินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และอาหารจานด่วน ลองปรับมากินอาหารเพื่อสุขภาพดูบ้าง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลาต่างๆ ผัก และผลไม้สด เป็นต้น และควรกินอาหารให้ตรงเวลา เพื่อป้องกันการเป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งหากใครที่เป็นอยู่ลองดูสมุนไพรกรดไหลย้อนที่จะช่วยบรรเทาอาการได้ค่ะ
-
นอนหลับให้เพียงพอ
ควรนอนหลับอย่างมีคุณภาพสูงอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน เพราะการนอนหลับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแรง หากเรานอนหลับไม่เพียงพอหรืออดนอน ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมและเจ็บป่วยอื่นๆ ได้
แนวทางการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม
เนื่องจากโรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นส่วนมาก หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนวทางการรักษาที่ใช้ คือ รักษาด้วยยา และทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อร่วมด้วย รวมถึงออกกำลังกายเพื่อรักษาอาการปวดหลัง และเพิ่มสมรรถภาพร่างกายให้มีความแข็งแรงขึ้น ซึ่งออฟฟิศซินโดรมรักษาที่ไหนดีนั้น สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาล และคลินิกกายภาพบำบัด ที่จะมีศาสตร์ในการรักษาที่แตกต่างกันไป อาทิ กายภาพบำบัด ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ศาสตร์การฝังเข็ม อบสมุนไพร ครอบแก้ว หรือใช้เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า และการประคบร้อน เป็นต้น
Inspire Now ! : แม้ว่าโรคออฟฟิศซินโดรมจะมีทางรักษาได้ แต่วิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุด คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจาก พฤติกรรม ก็ควรแก้ที่พฤติกรรมก่อน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ สุขภาพร่างกายของเราก็จะดีขึ้น หากมีอาการออฟฟิศซินโดรม ก็จะช่วยลดการเจ็บปวดต่างๆ ได้ ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยค่ะ อย่าปล่อยให้โรคออฟฟิศซินโดรมทำร้ายสุขภาพของคุณ เรามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันดีกว่านะคะ ทั้งยังช่วยป้องกันโรคริดสีดวงได้อีกด้วย ซึ่งริดสีดวงหายเองได้ไหม สามารถอ่านจากบทความของเราได้เลยค่ะ |
---|
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันได้คำตอบว่าโรคออฟฟิศซินโดรมรักษาที่ไหนดี และมีอาการอย่างไรบ้างใช่หรือไม่ ? ใครที่กำลังมีพฤติกรรมเสี่ยง ลองปรับเปลี่ยนดูใหม่ตามที่เราแนะนำไป เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงจากโรคนี้กันนะคะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : thaiinterhospital.com, gominimalistoffice.com, blog.officechairsunlimited.com, samitivejchinatown.com
Facebook Comments