อักษรควบแท้คืออะไร ? ใช้ต่างอย่างไรกับอักษรควบไม่แท้ ?

650

อักษรควบแท้คืออะไร ? ใช้ต่างอย่างไรกับอักษรควบไม่แท้ ?

แม้ว่าภาษาไทยจะเป็นภาษาที่เราใช้กันมาตั้งแต่เกิด และใช้ในการดำรงชีพเรื่อยมา ไม่ว่าจะใช้ในการอ่านออกเสียงหรืออ่านตามตำราหนังสือต่างๆ เช่น ชื่อดาวต่างๆ ในจักรวาล หรือใช้ในการสนทนาประจำวัน แต่ภาษาไทยก็มีความซับซ้อนในตัวมันเอง และมีสิ่งให้เราให้เรียนรู้ได้ตลอดเวลา หลายๆ คนอาจจะแยกไม่ออกว่าอักษรควบกล้ำคืออะไร แบ่งออกเป็นควบกล้ำแท้ และควบกล้ำไม่แท้นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ? ซึ่งหลายคนอาจจะเคยรู้และลืมกันไปบ้างแล้ว หรือนำมาใช้ไม่ถูกต้อง เรามาฟื้นฟูภาษาไทยของเรากับบทความนี้กันค่ะว่า อักษรควบแท้คืออะไร ? และอักษรควบไม่แท้มีอะไรบ้างค่ะ

อักษรควบแท้คืออะไร ชวรรู้และฟื้นฟูภาษาไทยกัน

อักษรควบแท้คือ, อักษรควบไม่แท้มีอะไรบ้าง

คำควบกล้ำ คืออะไร ? ก่อนจะไปลงรายละเอียดถึงอักษรควบแท้คืออะไร และอักษรควบไม่แท้มีอะไรบ้างนั้น เรามารู้จักกับ “คำควบกล้ำ” กันก่อนนะคะคำควบกล้ำ หรืออักษรควบ คือ พยัญชนะสองตัวที่เขียนเรียงกันและใช้สระเดียวกัน มักอยู่ในตำแหน่งต้นพยางค์ และจะอ่านออกเสียงครั้งละหนึ่งพยางค์เท่านั้น โดยจะต้องอ่านควบทั้งสองพยางค์เป็นพยางค์เดียวกัน และผันเสียงวรรณยุกต์ตามพยัญชนะตัวหน้า เช่น กรอบรูป (อักษรควบคือ กร-) หรือ ปลอดภัย (อักษรควบคือ ปล-) ซึ่งคำควบกล้ำนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. คำควบกล้ำแท้ หรือคำควบแท้

เทคนิคในการจำง่ายๆ เพื่อแยกระหว่างอักษรควบแท้ และอักษรควบไม่แท้ คือ อักษรควบแท้คือ คำที่มีพยัญชนะตัวหน้าเป็น ก ข ค ต ป พ ผ และพยัญชนะตัวหลังที่นำมาควบกับพยัญชนะตัวหน้าคือพยัญชนะ ร ล ว และจะออกเสียงควบกล้ำเสียงพยัญชนะทั้งสองตัวควบพร้อมกัน ดังนี้

  • 1คำควบแท้ที่พยัญชนะต้นควบกับ ร เช่น กราบกราน เกรงกลัว ขรุขระ ครอบครัว เคร่งครัด ตรากตรำ ปรับปรุง เป็นต้น
  • 2คำควบแท้ที่พยัญชนะต้นควบกับ ล เช่น กลมกล่อม ขลาด เขลา โคลงเคลง แปลก พลาดพลั้ง ผลีผลาม เป็นต้น           
  • 3คำควบแท้ที่พยัญชนะต้นควบกับ ว เช่น กวาด กว้างขวาง ขวนขวาย ไขว่คว้า เคว้งคว้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังในการจำอักษรควบแท้คือ บางคำที่มีพยัญชนะ ว นำ อาจไม่ใช่คำควบกล้ำแท้เสมอไป แต่จะเป็นพยัญชนะ ว ที่ใช้แทนเสียงสระอัว เช่นคำว่า ควร รวย สวย มวน เป็นต้น

อักษรควบแท้คืออะไร, อักษรควบไม่แท้มีอะไรบ้าง
  1. คำควบกล้ำไม่แท้ หรือคำควบไม่แท้

หลังจากรู้กันแล้วว่าอักษรควบแท้คืออะไร มาดูกันบ้างค่ะว่าอักษรควบไม่แท้มีอะไรบ้าง เทคนิคในการจำอักษรควบไม่แท้คือ พยัญชนะ ร เมื่อควบกับพยัญชนะตัวหน้าและผสมสระตัวเดียวกันแล้วนั้น จะอ่านแบบไม่ออกเสียงพยัญชนะตัว ร แต่จะอ่านเป็นเสียงอื่นแทน ซึ่งคำควบกล้ำไม่แท้หรืออักษรควบไม่แท้นั้นมี 2 ประเภท ดังนี้

  • คำควบไม่แท้ที่มีพยัญชนะตัวหน้าเป็น ซ ศ ส และพยัญชนะตัวหลังเป็น ร ให้ออกเสียงเฉพาะพยัญชนะตัวหน้าเท่านั้น เช่น ไซร้ (อ่านออกเสียงว่า ไซ้) เศร้า (อ่านออกเสียงว่า เส้า) เสร็จ (อ่านออกเสียงว่า เส็ด) เป็นต้น
  • คำควบไม่แท้ที่มีพยัญชนะตัวหน้าเป็น ท และพยัญชนะตัวหลังเป็น ร ให้ออกเสียง ทร เป็นเสียง ซ เช่น ทราย (อ่านออกเสียงว่า ซาย) ทรัพย์ (อ่านออกเสียงว่า ซับ) ทราบ (อ่านออกเสียงว่า ซาบ) โทรม (อ่านออกเสียงว่า โซม) เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว การใช้คำควบไม่แท้ บางคำที่มีพยัญชนะ จ นำ ก็สามารถอ่านออกเสียงเป็นคำควบไม่แท้ได้ด้วย เช่น จริง (อ่านออกเสียงว่า จิง)

เทคนิคการจำความต่างของอักษรควบแท้และควบไม่แท้

เทคนิคการจำในการนำคำควบกล้ำต่างๆ ไปใช้นั้น จำได้ไม่ยากค่ะ อักษรควบแท้ให้สังเกตง่ายๆ คือ เมื่ออ่านออกเสียงจะต้องเปล่งเสียงพยัญชนะทั้งสองพร้อมๆ กัน ในหนึ่งคำ และจะควบกล้ำกันจนออกเสียงเกือบจะเป็นเสียงเดียวกัน ในภาษาไทยนั้นมีทั้งหมด 11 เสียง 15 รูป ได้แก่ กร กล กว คร ขร คล ขล คว ขว ตร ปร ปล พร พล และ ผล ตัวอย่างเช่น กราบ กลม กวาด เครื่อง ขรม คล้ายคลึง ขลัง ควาย ขวาน ตรวจ ปรักปรำ ปล้อง แพร่งพราย เพลี่ยงพล้ำ ผลัด เป็นต้น

ส่วนการจำอักษรควบไม่แท้นั้น อักษรควบไม่แท้จะเป็นอักษรที่อ่านออกเสียงแต่พยัญชนะตัวหน้าเพียงตัวเดียวเท่านั้น หรือออกเสียงเป็นพยัญชนะตัวอื่นไปเลย โดยไม่ออกเสียงตัวควบกล้ำ ถึงแม้จะมีตัวควบกล้ำก็ตาม ได้แก่ จร ทร สร ศร ซร ตัวอย่างเช่น จริง ทรง ทราบ ศรัทธา พุทรา เศร้าโศก เสริม สร้อย ไซร้ เป็นต้น โดยจะไม่ออกเสียงควบกล้ำกับตัว ร เลยนั่นเอง

Inspire Now ! : ได้รู้จักและเข้าใจกันไปแล้วนะคะว่าอักษรควบแท้คืออะไร และแตกต่างจากอักษรควบไม่แท้อย่างไรบ้าง จากนี้หลายๆ คนคงนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและเข้าใจกันมากขึ้นนะคะ ซึ่งภาษาไทยเป็นภาษาที่เราสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มทักษะในด้านภาษาของเราให้มากขึ้น ไม่ว่าจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในงานเขียน ใช้ในการพูดต่างๆ หากเรานำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เราเป็นคนที่มีทักษะและการพัฒนายิ่งขึ้น แนะนำอีกวิธีในการช่วยให้เราจดจำได้ง่ายขึ้นคือ ทำที่คั่นหนังสือภาษาไทยค่ะ อาจจะลองเขียนโน้ตแยกคำควบกล้ำลงบนที่คั่น เมื่อนำไปใช้จะได้ฝึกจำไปในตัวนั่นเอง

DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? เมื่อได้เข้าใจคำในภาษาไทยมากขึ้นแล้ว อย่าลืมขวนขวายเพิ่มเติมเพื่อให้นำไปใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและถูกต้องยิ่งขึ้นนะคะ ♡

Facebook Comments

diyinspirenow Tips & Tricks อักษรควบแท้คือ อักษรควบไม่แท้มีอะไรบ้าง

DIY INSPIRE NOW Team
หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลต่างๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคุณ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหาให้เหมาะสมกับความสนใจของคุณ
    Cookies Details

บันทึก