วันพระบิดาแห่งฝนหลวง, ฝนหลวง คืออะไร

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง สำคัญยังไง ? คืออะไร ? เปลี่ยนสังคมยังไงบ้าง ?!

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง สำคัญยังไง ? คืออะไร ? เปลี่ยนสังคมยังไงบ้าง ?!

เมื่อครั้งที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน หลายๆ คนก็คงจะได้เรียนเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับการทำฝนหลวงกันมาบ้าง และทราบว่า ฝนหลวง เป็นฝนเทียมที่ทำขึ้นโดยคณะปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อให้มีฝนตกมากขึ้น แล้วจุดกำเนิดของการทำฝนหลวงนั้น มีความเป็นมาอย่างไร ? เนื่องในวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นวันสำคัญคือ “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เราจะพาทุกคนไปรู้ถึงประวัติความเป็นมาของโครงการฝนหลวงกันให้มากขึ้น ฝนหลวง แท้จริงแล้วคืออะไร ? มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไร ? ไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ประวัติ วันพระบิดาแห่งฝนหลวง มีความเป็นมาอย่างไร ?

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง, ฝนหลวง คืออะไร
Image Credit : rainmaking.royalrain

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงประวัติความเป็นมาของวันสำคัญวันนี้ เรามาดูกันก่อนว่า ฝนหลวง คืออะไร ? ฝนหลวง คือโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีจุดประสงค์เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาความแห้งแล้งให้กับพสกนิกร ที่เผชิญกับเดือดร้อน ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และสำหรับการทำการเกษตร จึงมีพระดำริที่จะแก้ไขปัญหาส่วนนี้ขึ้น

ฝนเทียม หรือฝนหลวง เป็นฝนที่เกิดจากเมฆที่ได้รับการกระตุ้นหรือเสริมกระบวนการให้ก่อตัวใหญ่ขึ้นจนสามารถตกลงเป็นฝนในพื้นที่เป้าหมาย และตกในปริมาณที่มากกว่าการตกเองตามธรรมชาติ  โดยความมาของวันพระบิดาแห่งฝนหลวงมีจุดเริ่มต้นดังนี้

  • เมื่อครั้นที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 และทรงพบว่าราษฎรเดือดร้อน พืชผลเสียหาย ทั้งจากภัยแล้งและภัยน้ำท่วม ทำให้ทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรว่า สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก (Check Dams) และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากมาขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่า และเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง 
  • ทั้งนี้ ทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้งๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน พระองค์ทรงคิดคำนึงว่าน่าจะมีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อตัวรวมกันจนเป็นฝนได้ และทรงมีการวิเคราะห์พิจารณาว่า ด้วยลักษณะของสภาพอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุม โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงน่าจะสามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเป็นฝนตกได้ 
  • ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ และถ่ายทอดพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญและนักประดิษฐ์ด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ขณะนั้น ให้ร่วมทำการศึกษาทบทวนเอกสารวิชาการ และให้วิจัยค้นคว้าลู่ทางการทำฝนตก จนสามารถทำการค้นคว้าทดลองในท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก 
  • และในปี พ.ศ. 2515 วันที่ 19 ตุลาคม ถือเป็นวันสำคัญประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่ง เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติงาน และประสบความสำเร็จ ฝนตกลงมาอย่างแม่นยำ ซึ่งได้ถือเอาวันนี้ เป็นวันเทคโนโลยีของไทย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” ด้วย 
  • การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนสามารถสรุปขั้นตอนกรรมวิธีดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝน คือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และ โจมดี โดยจะกล่าวรายละเอียดในส่วนต่อไป ทั้งนี้ พระองค์ได้พระราชธานวิธีนี้ใช้เป็นเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวงแบบหวังผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา และทรงพัฒนาเทคนิคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ปฏิบัติการ และสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับราษฎรในทุกพื้นที่ 
  • ด้วยปริมาณความต้องการให้มีปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือราษฎรมากขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2518 เพื่อเป็นหน่วยรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นองค์กรรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงมาตั้งแต่เริ่มโครงการ จึงได้เสนอในคณะรัฐมนตรีมีมติเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะ “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี ชื่นชมในพระบารมี และร่วมกันถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติในทุกปี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงคิดค้นการทำฝนหลวงขึ้น เพื่อบรรเทาทุกข์ภัยของราษฎรสืบมา

ความสำคัญของการทำฝนหลวง คืออะไร ?

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง, ฝนหลวง คืออะไร
Image Credit : royalrain

ฝนหลวง เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนอันเนื่องมาจากการประสบกับปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ท้องถิ่นหลายแห่งประสบปัญหาพื้นดินแห้งแล้ง หรือการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และทำการเกษตร อีกประการหนึ่งคือ ภาวะความต้องการใช้น้ำในประเทศมีปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรม และการทำเกษตรกรรม เพื่อมิให้เกิดการขาดแคลนน้ำใช้ และมีน้ำเพียงพอ จึงได้มีการทำฝนหลวงขึ้นนั่นเอง ซึ่งสารเคมีที่ใช้สำหรับการทำฝนหลวงนี้ ไม่ใช่สารเคมีอันตรายแต่อย่างใด เป็นสารที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน อาทิ เกลือแกง หรือยูเรียที่ใช้ผสมในปุ๋ยเพื่อการเกษตร รวมถึงน้ำแข็งแห้งที่ใช้กันทั่วไปนั่นเอง

ทั้งนี้ การทำฝนหลวงยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ในสมัยนั้น และในประเทศไทยยังไม่มีนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญในระยะเริ่มแรกโครงการ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงเป็นกำลังสำคัญ และทรงร่วมพัฒนาโครงการนี้ พระองค์ทรงวางแผนการทดลองปฏิบัติการติดตามและประเมินผลปฏิบัติการทุกครั้งอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โครงการสำเร็จเสร็จสมบูรณ์ได้ โดยพระองค์ทรงมีหลักทศพิธราชธรรม 10 ประจำใจ มีความเพียรพยายามมุมานะอุตสาหะ เสียสละเวลาส่วนพระองค์และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาให้กับเหล่าพสกนิกรได้สำเร็จ

วิธีการทำฝนหลวง

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง, ฝนหลวง คืออะไร
Image Credit : huahin.royalrain

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า วิธีการทำฝนหลวงมี 3 ขั้นตอนคือ เลี้ยงให้อ้วน ก่อกวน และโจมตี ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวนั้น ถูกพัฒนามาจากการทดลองโดยการหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่การทดลอง และทำให้กลุ่มเมฆเหล่านั้นเกิดการกลั่นตัวรวมกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และได้รับการยืนยันจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทำการทดลองจริง จึงได้มีการปรับปรุงต่อยอดเป็นโครงการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : ก่อกวน

เป็นขั้นตอนที่มีการใช้โซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง)ไปกระตุ้นให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการดูดซับไอน้ำและความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ และให้เมฆเริ่มมีการก่อตัวมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 : เลี้ยงให้อ้วน

เมื่อเมฆกำลังก่อตัว จึงทำการโปรยแคลเซียมคลอไรด์ตรงกลุ่มก้อนเมฆในอัตราที่เหมาะสม เพื่อเป็นการดูดความชื้นและคลายความร้อน เพื่อให้เมฆไหลเวียนและก่อยอดสูงขึ้น โดยจะต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับการลอยตัวของเมฆ มิเช่นนั้นจะทำให้เมฆสลาย ในขั้นตอนนี้ จำเป็นที่จะต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญเป็นอย่างมาก

ขั้นตอนที่ 3 : โจมตี

เมื่อกลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนการสร้างเม็ดฝนโดยการโปรยยูเรียลงในกลุ่มก้อนเมฆ เพื่อให้เกิดเป็นหยดน้ำขนาดใหญ่ และกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝนในที่สุด ซึ่งมีเทคนิคการโจมตีแบบ SUPER SANDWICH และพระราชทานให้ใช้เป็น “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” เป็นต้นมา

ประโยชน์ของฝนหลวง

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง, ฝนหลวง คืออะไร
Image Credit : rainmaking.royalrain

นอกจากการบรรเทาปัญหาภัยแล้งแล้ว การปฏิบัติการฝนหลวงก็ได้รับการร้องขอเพื่อให้ขยายขอบเขตการบรรเทาความเดือดร้อนจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การทำฝนหลวงจึงมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการมีส่วนช่วยเหลือในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่

  1. ด้านการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงยาวนาน ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เกษตรกรไม่มีน้ำใช้สำหรับปลูกพืชผล โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2542 ในช่วงฤดูแล้ง ได้เกิดภาวะวิกฤตต่อพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ เกิดไฟป่า น้ำเค็มขึ้นสูง และเกิดการขาดแคลนน้ำใช้ในท้องถิ่นธุรกันดาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง โดยใช้เทคนิคการโจมตีแบบ SUPER SANDWICH อันเป็นนวัตกรรมใหม่ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถกอบกู้ภัยแล้งได้ในที่สุด
  1. ด้านแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ ดินทางภาคอีสานมีหินเกลือเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาภาวะเกิดน้ำกร่อยหรือเกิดน้ำเค็มในภาคอีสานได้ ดังนั้น จึงต้องใช้ฝนเทียมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพื่อลดความเค็มของน้ำนั่นเอง นอกจากนี้ เมื่อน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลง น้ำเค็มจากทะเลฝั่งอ่าวไทยก็จะหนุนขึ้นเข้าไปแทนที่ ทำให้เกิดน้ำกร่อย และสร้างความเสียหายในการใช้น้ำ การทำฝนหลวง จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยการเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และเจือจางน้ำไม่ให้เกิดน้ำกร่อยนั่นเอง
  1. ด้านการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จากการประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าใช้ หากระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า การทำฝนหลวงจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน และใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้

นอกจากนี้ ยังสามารถแก้ไขปัญหาด้านการเสริมเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เมื่อปริมาณน้ำลดต่ำลง จะไม่สามารถสัญจรทางเรือได้ จึงต้องมีการทำฝนเทียมเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับแม่น้ำ และให้สามารถสัญจรทางเรือได้ตามเดิม ทั้งการสัญจรของผู้คน และการส่งสินค้าทางเรือด้วย

ตอนนี้ก็ได้รู้แล้วว่า ประวัติความเป็นมาของวันพระบิดาแห่งฝนหลวง มีความเป็นมาอย่างไร และความสำคัญของการทำฝนหลวง คืออะไร ฝนหลวง เป็นโครงการในพระราชพระราชดำริส่วนพระองค์ที่มีจุดเริ่มต้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากให้กับราษฎร ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้วยพระองค์เอง และพัฒนามาเป็นฝนเทียมกู้ภัยแล้งเพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับการใช้น้ำของพสกนิกรสืบมา

Inspire Now ! : จะเห็นได้ว่า จุดเริ่มต้นของการทำฝนหลวงนั้น มาจากพระประสงค์ที่อยากจะแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับพสกนิกร ประกอบกับการสังเกตสภาพอากาศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำให้เมฆบนท้องฟ้ามีการรวมตัวกันและเกิดเป็นฝนตกลงมาได้ ซึ่งใช้เวลาศึกษาค้นคว้าวิจัยนานถึง 14 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 – พ.ศ. 2512 ที่ได้ทำการทดลองครั้งแรก ด้วยความมุมานะอุตสาหะและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้โครงการนี้สำเร็จในที่สุด จึงได้มีการจัดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ซึ่งเป็นวันที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำฝนเทียมนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีโครงการในพระราชดำริอีกมากมาย ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาให้กับพสกนิกรชาวไทยนั่นเอง

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันอยากเป็นคนที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นได้ก็เพราะพระประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่อยากจะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น ล้วนมาจากความต้องการที่อยากจะแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งเราสามารถนำเอาแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตของตัวเองได้ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ และได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นนั่นเอง และถ้าใครชอบเรื่องราวแบบนี้ ไปอ่าน ประวัติไปรษณีย์ไทยกันต่อได้เลยนะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : rainmaking.royalrain.go.th, ipst.ac.th, mnre.go.th, huahin.royalrain.go.th

Featured Image Credit : unsplash.com/Anna Atkins

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW