อาลัยรัก ควีนอลิซาเบธที่ 2 ย้อนดูพระราชประวัติ ของหญิงเก่ง ที่ครองราชย์ยาวนานกว่า 70 ปี !
Image Credit : Britannica.com
ข่าวใหญ่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา คงไม่พ้นข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประชาชนชาวอังกฤษ และประชาชนในประเทศอื่นๆ ก็คงจะรู้สึกใจหายไม่แพ้กัน เนื่องจาก ควีนอลิซาเบธที่ 2 เป็นกษัตริย์ที่รู้จักกันไปทั่วโลกเลยก็ว่าได้ อีกทั้งราชวงศ์อังกฤษก็มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ยุโรปมาอย่างยาวนาน เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยต่อพระองค์ เราจึงขอนำเสนออัตชีวประวัติของกษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษกว่า 70 ปี อีกทั้งพระองค์ยังทรงพระปรีชาสามารถ มีบทบาทในฐานะประมุขของสหราชอาณาจักรและเป็นที่รักของปวงชนมากมาย มาย้อนรอยดูพระราชประวัติของสมเด็จพระราชินีแกร่งพระองค์หนึ่งของโลก ผ่านบทความนี้ได้เลยค่ะ
กำเนิดเจ้าหญิงของดยุกและดัชเชสแห่งยอร์ก สู่ ควีนอลิซาเบธที่ 2 แห่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ
Image Credit : royal.uk
เจ้าหญิงอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์ ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1926 ณ บ้านเลขที่ 17 ถนนบรูตัน เมย์แฟร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกของเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก และเลดี้ เอลิซาเบธ โบวส์ – ไลออน ดัชเชสแห่งยอร์ก ซึ่งพระราชบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี นอกจากนี้ เจ้าหญิงยังมีพระขนิษฐา (น้องสาว) คือ เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ซึ่งเติบโตมาด้วยกันในรั้วพระตำหนักที่ประทับท่ามกลางความสวยงามของสวนอังกฤษเล็กๆ รอบรั้วราชวัง
[affegg id=4325]
ชีวิตวัยเยาว์
Image Credit : royal.uk
เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงพระปรีชาในการศึกษาเล่าเรียนภาษาต่างประเทศหลายภาษา และทรงเรียนภาษาฝรั่งเศสอย่างเชี่ยวชาญ รวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และดนตรี และมีการจัดตั้งหน่วยเนตรนารีหมู่พิเศษขึ้นในพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อให้เจ้าหญิงและพระขนิษฐาได้มีโอกาสคบหากับเด็กหญิงในวัยเดียวกันด้วย อีกทั้งเจ้าหญิงยังมีความรู้อย่างแตกฉานด้านประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้รับการศึกษาในวิชาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญจาก เฮนรี มาร์เตน รองอาจารย์ใหญ่แห่งวิทยาลัยอีตัน เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษคนสำคัญของอังกฤษเคยกล่าวว่า เจ้าหญิงเอลิซาเบธนั้นทรงมีแววทักษะของผู้นำ ที่โดดเด่นเกินเด็กในวัยเดียวกัน
ขึ้นสู่ตำแหน่ง “รัชทายาทโดยสันนิษฐาน”
ในฐานะการเป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงมีพระนามเต็มว่า เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งยอร์ก และอยู่ในลำดับสามของการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ แม้ว่าการประสูติของพระองค์จะอยู่ในความสนใจของสาธารณชน แต่ก็ไม่มีใครคาดว่าเจ้าหญิงองค์น้อยจะได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชินีนาถ และดำรงตำแหน่งเป็น ควีนอลิซาเบธที่ 2 ราชินีในดวงใจของปวงชนชาวอังกฤษจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระอัยกาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเสด็จสวรรคตในปี 1936 และองค์มงกุฎราชกุมารเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แต่เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น พระปิตุลาของเจ้าหญิงก็ทรงสละราชสมบัติเพื่อไปสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน แม่ม้ายชาวอเมริกัน ทำให้พระราชบิดาของเจ้าหญิงต้องขึ้นครองราชย์อย่างกระทันหัน และทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธเองดำรงอยู่ในตำแหน่ง รัชทายาทโดยสันนิษฐาน (Heir Presumptive: ทายาทผู้อยู่ในสายของผู้มีสิทธิในการรับราชบัลลังก์) อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพระองค์มีพระเชษฐาหรือพระอนุชาร่วมบิดามารดาเดียวกัน พระองค์ก็จะสูญเสียสถานะรัชทายาทโดยสันนิษฐานไป เนื่องจากตามกฎสืบราชบัลลังก์อังกฤษจะให้สิทธิ์แก่รัชทายาทบุรุษเป็นรัชทายาทโดยนิตินัย แต่พระองค์มีเพียงน้องสาวคนเดียว จึงได้ดำรงตำแหน่งเป็นองค์รัชทายาทไปโดยปริยาย
ความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2
เมื่อพระราชบิดาของเจ้าหญิงขึ้นครองราชย์ ดำรงเป็นคิงพระเจ้าจอร์จที่ 6 สถานการณ์ทั่วยุโรปในขณะนั้นตึงเครียดไปด้วยความขัดแย้ง และทวีความรุนแแรงขึ้นจนกระทั่งปะทุเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยทั้งพระบิดาและพระมารดาของเจ้าหญิงทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างแข็งขัน เพื่อเป็นการเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กับสถาบันกษัตริย์หลังการสละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตมีส่วนช่วยเหลือกองกำลังทหารอังกฤษโดยการจัดแสดงละครใบ้ในงานคริสต์มาสเพื่อช่วยหาเงินเข้ากองทุนขนแกะของสมเด็จพระราชินี ซึ่งใช้ในการจัดหาเส้นด้ายทอเสื้อผ้าทหาร และเจ้าหญิงทรงจัดรายการวิทยุของ BBC ในรายการ Children’s Hour และทรงกล่าวต่อเด็กๆ ที่ต้องอพยพออกจากลอนดอนว่า “เราพยายามทุกวิถีทางในการช่วยเหลือเหล่าลูกเรือ ทหาร และนักบินผู้กล้าหาญของพวกเรา และเราพยายามแบกรับเอาความเศร้าโศกและอันตรายที่มีร่วมกันไว้ด้วยเช่นกัน เราทราบดีว่าท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนจะปลอดภัย” ซึ่งเป็นการกล่าวให้กำลังใจกับประชาชนพสกนิกร โดยที่ขณะนั้นเจ้าหญิงมีอายุได้เพียง 14 พรรษา
เมื่อเจ้าหญิงอายุได้ 16 พรรษา พระองค์ทรงเสด็จออกปฏิบัติราชการด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรกในการตรวจแถวสนามของกองทัพบก ซึ่งทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธได้สัมผัสกับชีวิตนอกรั้ววังเป็นครั้งแรก และรับรู้ถึงความยากลำบากของพลเมืองสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหญิงอายุได้ 20 พรรษา เจ้าหญิงได้ทรงอาสาเข้าร่วมกับหน่วยรับใช้ใต้ดินแดนพิเศษ (ATS) ซึ่งพระองค์ได้เรียนรู้การขับรถยนต์และการเป็นช่างยนต์ โดยทำหน้าที่เป็นช่างซ่อมบำรุงรถบรรทุกด้วยพระองค์เอง และได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้บัญชาการระดับอาวุโสในอีก 5 เดือนถัดมา
ในวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นวันที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ภาคทวีปยุโรปได้สิ้นสุดลง เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตทรงแฝงพระองค์ร่วมเฉลิมฉลองกับประชาชนบนท้องถนนในกรุงลอนดอน พระองค์ทรงรำลึกถึงวันสิ้นสุดสงครามในสมรภูมิยุโรปว่า “ผู้คนจำนวนมากมาร่วมฉลองกันที่หน้าวังบักกิงแฮม ข้าพเจ้ากับน้องสาวขออนุญาตพ่อแม่ออกไปดูด้วยตาตนเอง และได้อยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้ามากมายที่คล้องแขนกันเดินเป็นแถวตามท้องถนน ตอนแรกเรากลัวว่าจะมีคนจำได้ แต่ท้ายที่สุดเราก็ถูกกลืนหายไปกับกระแสของฝูงชนที่พากันปีติยินดีและโล่งใจที่สงครามสงบลงในที่สุด”
พบรักกับพระสวามี
Image Credit : royal.uk
เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธได้พบกับ “เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก” เมื่อปี 1939 ที่มหาวิทยาลัยราชนาวีอังกฤษ ในตอนนั้นเจ้าหญิงมีอายุ 13 พรรษา ทั้งสองพระองค์เป็นพระญาติกันผ่านทางสายพระโลหิตของพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และผ่านทางสายพระโลหิตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แม้จะเคยพบกันมาบ้างแล้ว แต่ในตอนนั้น นับเป็นครั้งแรกที่พระองค์ทรงสนใจในตัวเจ้าชายฟิลิป และได้เขียนจดหมายติดต่อกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จวบจนกระทั่งในช่วงหลังสงคราม เมื่อพระองค์ต้องการจะหมั้นกับเจ้าชายฟิลิปและได้ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย เนื่องจากมองว่าเจ้าชายฟิลิปเป็นชาวต่างชาติ อีกทั้งยังมีนิสัยโผงผางไม่เหมาะสมกับราชสำนัก อย่างไรก็ตาม ได้มีการประกาศหมั้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 กรกฎาคม 1947
ก่อนการอภิเสกสมรสจะจัดขึ้น เจ้าชายฟิลิปได้สละบรรดาศักดิ์ของกรีซและเดนมาร์ก และใช้พระยศเป็น “ร้อยเอกฟิลิป เมาท์แบตเตน” ซึ่งนามสกุลเมาท์แบตเตนนั้นเป็นของบรรพบุรุษฝ่ายอังกฤษของพระมารดา และก่อนพระราชพิธีอภิเสกสมรสจะมีขึ้นไม่นาน ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ดยุกแห่งเอดินบะระชั้นรอยอลไฮเนส และทั้งสองก็ได้อภิเสกสมรสกันในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 ณ เวสต์มินเตอร์แอบบีย์ และประสูติเจ้าชายชาลล์ พระโอรสองค์แรก ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 1948 และมีโอรส – ธิดา รวมทั้งสิ้น 4 พระองค์
[affegg id=4326]
ขึ้นครองราชย์ ดำรงตำแหน่งเป็น ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ
Image Credit : History.com
ช่วงปี 1951 พระพลานามัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสื่อมถอยลงเนื่องจากอาการประชวรด้วยโรคมะเร็งพระปับผาสะ (ปอด) ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธในฐานะองค์รัชทายาทลำดับแรกต้องออกปฏิบัติราชการแทนพระบิดาอย่างเต็มที่ ในระหว่างการเสด็จเยือนประเทศในเครือจักรภพเมื่อปี 1952 ขณะที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธและพระสวามีประทับอยู่ ณ ประเทศเคนยา เจ้าหน้าที่นำความกราบบังคมทูลว่า พระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้ทรงเสด็จสวรรคต และพระองค์คือสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร
เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเสด็จกลับสหราชอาณาจักร และประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพพระองค์ใหม่ จากนั้นจึงเสด็จย้ายเข้าไปประทับ ณ พระราชวังบักกิงแฮมพร้อมกับดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี และใช้ชื่อราชวงค์ว่า ราชวงศ์วินเซอร์สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 1953 ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงมีอายุได้ 27 พรรษา โดยมีการถ่ายทดสดผ่านทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก และมีผู้รับชมการถ่ายถอดพระราชพิธีดังกล่าวจำนวนหลายล้านคน ฉลองพระองค์ในพระราชพิธีได้รับการออกแบบและตัดเย็บโดยนอร์มัน ฮาร์ตเนลล์ ซึ่งประดับด้วยลายพรรณพืชของประเทศในเครือจักรภพตามคำแนะนำของพระราชินีนาถพระองค์เดิม ประกอบด้วย กุหลาบทิวดอร์แห่งอังกฤษ ดอกทริสเติลแห่งสกอตแลนด์ กระเทียมต้นแห่งเวลส์ ดอกแฌมร็อกแห่งไอร์แลนด์ ดอกแวทเทิลแห่งออสเตรเลีย ใบเมเปิลแห่งแคนาดา ใบเฟิร์นสีเงินแห่งนิวซีแลนด์ ดอกโพรทีแห่งแอฟริกาใต้ ดอกบัวหลวงแห่งอินเดียและศรีลังกา รวมไปถึงข้าวสาลี ฝ้าย และปอกระเจาแห่งปากีสถาน
การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ใหม่ เปรียบได้กับแสงสว่างยามรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นความหวังแก่พลเมืองสหราชอาณาจักรว่า ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองเช่นเดียวกับรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เมื่อหลายร้อยปีก่อนอาจจะกำลังเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
ควีนอลิซาเบธที่ 2 กับเครือจักรภพ
ตลอดช่วงพระชมน์ชีพของพระองค์ ควีนอลิซาเบธที่ 2 ทอดพระเนตรเห็นการเปลี่ยนแปลงของจักรวรรดิอังกฤษไปสู่เครือจักรภพแห่งประชาชาติ ตลอดช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์ ตั้งแต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1952 เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสถานการณ์โลก ทำให้จักรวรรดิอังกฤษต้องดำเนินมาถึงจุดจบในที่สุด โดยขณะที่เยือนประเทศเครือจักรภพเมื่อปลายปี 1953 หลายประเทศซึ่งรวมถึงอินเดียต่างก็ได้รับเอกราชและแยกตัวเป็นอิสระออกไป สิ่งเดียวที่ยังคงเชื่อมร้อยประเทศที่เป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษเอาไว้ด้วยกันได้ในยุคใหม่ คือการเป็นสมาชิกเครือจักรภพ ที่บางส่วนยังคงยกย่องให้ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นองค์ประมุขสูงสุด
นอกจากนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองหลายครั้งในช่วงต้นรัชสมัย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการที่ต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม โดยที่ทางพรรคขาดกระบวนการเลือกสรรผู้นำที่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้งและเกิดความสับสนขึ้น เช่น พระองค์ต้องเชิญให้นายฮาโรลด์ แม็กมิลแลน จัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังจากที่อังกฤษเผชิญวิกฤตเรื่องกรณีพิพาทอียิปต์อ้างกรรมสิทธ์ในคลองสุเอซเมื่อปี 1956
ช่วงเวลาเหล่านั้นถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของสมเด็จพระราชินีนาถ โดยพระองค์ทรงเคร่งครัดต่อความถูกต้องในบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งอยู่เหนือการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงใช้สิทธิในการทราบข้อมูลข่าวสารสำคัญจากทางรัฐบาล รวมทั้งใช้สิทธิในการเตือนและแนะนำรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ด้วย
The Royal Family
Image Credit : BBC.com
ควีนอลิซาเบธที่ 2 เคยโดนโจมตีในเรื่องส่วนพระองค์ว่า ราชสำนักของพระองค์มีความเป็นชนชั้นสูงแบบอังกฤษมากเกินไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นที่มีต่อสถาบันกษัตริย์และกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งธรรมเนียมเก่าๆ ถูกตั้งคำถามขึ้นมากมาย ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนของพระราชสวามี ดยุกแห่งเอดินบะระ ผู้ไม่โปรดความมากพิธีการและกฎเกณฑ์ตายตัวของราชสำนัก ทำให้พระราชินีนาถทรงเริ่มปรับพระองค์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ เปลี่ยนการใช้คำว่า “สถาบันกษัตริย์” หรือ The Monarchy เป็นคำว่า “พระราชวงค์” หรือ Royal Family ซึ่งฟังดูใกล้ชิดเป็นกันเองมากกว่า
ในช่วงปี 1960 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเริ่มดำเนินการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของพระราชวงศ์อังกฤษในรูปแบบที่เป็นทางการน้อยลง โดยอนุญาตให้ BBC เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีซึ่งถ่ายทอดกิจวัตรประจำวันของพระราชวงศ์ที่ประชาชนไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ภาพของ ดยุกแห่งเอดินบะระตกแต่งต้นคริสต์มาส หรือพาพระราชโอรสและพระธิดาไปขับรถเล่น ซึ่งต้องการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดูผ่อนคลายและเข้าถึงได้ง่าย แม้จะมีผู้วิจารณ์ว่าทำให้สถาบันกษัตริย์คลายความขลังศักดิ์สิทธิ์ลง แต่อย่างไรก็ตาม ทำให้ความนิยมต่อราชวงศ์อังกฤษของประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งในพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee: ฉลองวาระครบรอบรัชสมัยปีที่ 25 ) ในปี 1977 ผู้คนต่างออกมาเฉลิมฉลองกันอย่างคึกคัก และบรรยากาศของงานเเปี่ยมไปด้วยความยินดีอย่างแท้จริง แสดงให้เห็นว่า ประชาชนรักและชื่นชมในองค์สมเด็จพระราชินีนาถเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปี 1990 ราชวงศ์อังกฤษต้องเผชิญกับวิกฤตอีกครั้ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวและความล้มเหลวในชีวิตสมรสของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ และเป็นข่าวโด่งดังโดยเฉพาะเรื่องราวของเจ้าฟ้าชายชาลส์ องค์มงกุฏราชกุมาร และเจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ จนกระทั่งหย่าร้างกันในที่สุด
ควีนอลิซาเบธที่ 2 กล่าวว่า ในปี 1992 เป็นปีที่โหดร้ายยิ่งสำหรับพระองค์ และได้มีพระราชดำรัสขอความเห็นใจในเรื่องการปรับตัวของสถาบันกษัริย์ให้เปิดกว้างต่อสังคมยุคใหม่มากขึ้นว่า
“ไม่มีสถาบัน เมือง หรือกษัตริย์พระองค์ใด ที่ควรจะคาดหวังว่าตนจะปลอดจากการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้ที่มอบความจงรักภักดีและการสนับสนุนให้ เรื่องนี้ไม่ต้องไปกล่าวถึงกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับนับถือในสถาบันเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตาม เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของสายใยที่ถักทอขึ้นเป็นสังคมของคนชาติเดียวกัน การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อกระทำด้วยความนุ่มนวล มีอารมณ์ขันที่ดี และมีความเห็นอกเห็นใจกัน”
พระราชกรณียกิจครั้งประวัติศาสตร์
เมื่อตอนมีพระพรรษาได้ 21 ปี พระองค์ได้เสด็จเยือนต่างประเทศพร้อมกับพระบิดา พระมารดาเป็นครั้งแรกในบริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ในช่วงการเสด็จเยือน ทรงออกแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษไปยังประเทศเครือจักรภพเนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติปีที่ 21 ว่า “ข้าพเจ้าขอปฏิญาณต่อหน้าพวกท่านทุกคนว่า ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะยาวหรือสั้น จะมีไว้เพื่อรับใช้ท่าน และเพื่อรับใช้ครอบครัวใหญ่ของพวกเรา ที่พวกเราทุกคนอาศัยอยู่”
หลังสิ้นสุดสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ควีนเอลิซาเบธทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่ได้มีพระราชดำรัสต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ โดยในครั้งนั้น ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. บุช ได้กราบบังคมทูลว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็น “มิตรแท้แห่งเสรีภาพ” ผู้หนึ่งมาเป็นเวลานาน
ในเดือนพฤษภาคมปี 2011 สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่เสด็จเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ โดยมีพระราชดำรัสเรียกร้องให้ชาวไอริชมีความประณีประนอมต่อความขัดแย้งกับอังกฤษที่ผ่านมา และในปี 2012 ได้มีโอกาสไปเยือนไอร์แลนด์เหนือ และทรงจับมือกับนายมาร์ติน แม็คกินเนส อดีตผู้นำขบวนการไออาร์เอซึ่งเคยเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ นับเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระญาติสนิทถูกสังหารด้วยระเบิดของขบวนการไออาร์เอเมื่อปี 1979
เมื่อปี 2014 สกอตแลนด์จัดการลงประชามติเพื่อเตรียมตัวแยกเป็นเอกราช พระราชินีนาถทรงมีดำรัสกับประชาชนว่า “ข้าพเจ้านับว่ากษัตริย์หรือราชินีของอังกฤษและสกอตแลนด์ทุกพระองค์ รวมทั้งบรรดาเจ้าชายแห่งเวลส์นั้นเป็นบรรพบุรุษของข้าพเจ้า ดังนั้นจึงเข้าใจได้ดีถึงความปราถนาที่จะแยกตัวเป็นอิสระเช่นนี้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถลืมได้ว่า ตนเองผ่านพิธีราชาภิเษกและสวมมงกุฏเป็นกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือมาเช่นกัน” อย่างไรก็ตาม ผลการลงประชามติในครั้งนั้น ชาวสกอตแลนด์ยืนยันต้องการที่จะอยู่ร่วมในสหราชอาณาจักรต่อไป
ฉลองราชสมบัติ 70 ปี
Image Credit : BBC.com
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2015 ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ (ณ ขณะนั้นคือ ครองราชย์ครบ 63 ปี) โดยครองราชย์ยาวนานยิ่งกว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระปัยกา (ทวด) ของพระองค์ และเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2017 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัริย์แห่งสหราชอาณาจักรประองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 65 ปี และกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 70 ในปี 2022
อาลัยรัก สินพระชนม์
แม้ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะทรงมีพระวรกายแข็งแรง แต่พระพลานมัยของพระองค์เริ่มถดถอยลงหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระราชสวามี ดยุกแห่งเอดินบะระเมื่อเดือนเมษายน 2021
Image Credit : Britannica.com
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2022 สมเด็จราชินีนาถทรงติดเชื่อโควิด – 19 โดยมีพระอาการเล็กน้อย พระองค์ทรงหายประชวรและเริ่มปฏิบัติการพระราชภารกิจอีกครั้งในวันที่ 1 มีนาคม อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น สมเด็จพระราชินีนาถทรงปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะน้อยลง โดยพระราชภารกิจส่วนใหญ่ ทรงให้เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ในขณะนั้น เป็นผู้แทนพระองค์ ซึ่งรวมถึงรัฐพิธีการเปิดประชุมสภา และพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีด้วย
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและดินแดนในเครือจักรภพอีก 14 แห่ง ซึ่งครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์บริเตน เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบ ณ ปราสาทแบลมอรัล ประเทศสกอตแลนด์ สิริพระชนมายุ 96 พรรษา ซึ่งก่อนหน้านั้น สำนักพระราชวังประกาศว่า สมเด็จพระราชินีประชวรและอยู่ภายใต้การเข้าเฝ้ารักษาพระวรกายอย่างใกล้ชิดที่บาลมอรัล โดยในประกาศระบุว่า “คณะแพทย์ประจำพระองค์มีความกังวลต่อพลานามัยของพระองค์เป็นอย่างมาก และได้แนะนำให้พระองค์อยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้พระองค์ประทับอยู่โดยสบาย ณ ปราสาทแบลมอรัล โดยมีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 4 ของพระองค์ พร้อมด้วยพระสุณิสาเสด็จไปพร้อมกับพระองค์” จนกระทั่งถึงช่วงเย็นในวันเดียวกัน สำนักพระราชวังได้ประกาศว่าสมเด็จราชินีนาถทรงสวรรคตแล้ว เป็นผลให้ดำเนินการปฏิบัติการสะพานลอนดอน ต่อไป และเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรสืบต่อจากพระราชชนนี
ทั้งนี้ พระราชพิธีฝังพระบรมศพกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2022 เวลา 11 นาฬิกาตรง ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ จากนั้นจะมีการเคลื่อนพระบรมศพไปฝัง ณ โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินเซอร์ เพื่อนำไปฝังเคียงข้างเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี และพระประยูรญาติของพระองค์
Image Credit : BBC.com
หลังจากการประกาศการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ได้มีประชาชนรวมตัวกันนับพันคนนอกพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยต่อพระราชินีอันเป็นที่รักของประชาชนชาวอังกฤษ ซึ่งการครองราชย์อย่างยาวนานร่วม 70 ปีนั้น พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ตามที่พระองค์ได้พระราชดำรัสเนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษกว่า “เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ 21 ปี ได้ให้คำมั่นกับตนเองว่าจะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชน และได้ขอประทานพรจากพระเจ้าเพื่อให้ความหวังนั้นสำเร็จด้วยดี แม้การตั้งปณิธานนี้จะมีขึ้นในสมัยที่ข้าพเจ้ายังมีความคิดอ่านที่สับสนวุ่นวาย และยังอ่อนด้อยต่อการใช้วิจารณญาณนัก แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเสียใจที่ได้ตั้งใจไว้เช่นนี้ และจะไม่ขอถอนคำพูดแม้แต่คำเดียว” ซึ่งพระองค์ได้พิสูจน์แล้วว่า ตลอดเวลาของการเป็นกษัตริย์ของอังกฤษ แม้จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย และราชวงศ์จะต้องมีการปรับตัวอย่างมากมาย แต่ควีนอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงทำให้สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวอังกฤษต่อไปตราบนานเท่านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักของประชาชนที่มีให้กับองค์ราชินีเองจวบจนสิ้นรัชสมัย
[affegg id=4327]
Inspire Now ! : จะเห็นได้ว่า ควีนอลิซาเบธที่ 2 นั้นพระองค์ทรงเป็นหญิงแกร่งมาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ไมว่าจะเป็นการช่วยเหลือกองกำลังทหารโดยการจัดหาเส้นด้ายทอเสื้อผ้าทหาร ในช่วงสมัยสงครามโลก หรือการจัดรายการวิทยุให้กำลังใจเด็กๆ ในขณะที่พระองค์เองมีพระชันษาเพียง 14 ปี หรือแม้กระทั่งสมัครเข้าหน่วยรับใช้ใต้ดินแดนพิเศษ (ATS) โดยทำหน้าที่เป็นช่างซ่อมบำรุงรถบรรทุกด้วยพระองค์เอง ซึ่งพระองค์เป็นเพียงหญิงสาวตัวเล็กๆ ในวัยเพียง 20 ปีเท่านั้น แต่ทรงมีความกล้าหาญและมีพระปรีชาสามารถมาก พระองค์ทรงมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้นำแม้ในขณะที่ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ และเมื่องดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรแล้วก็ยังคงมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ พระราชดำรัสของพระองค์ในสถานการณ์ต่างๆ ที่แสดงถึงความชาญฉลาดในการประณีประนอมและทักษะการเจรจาในระดับสูง และพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักแม้ไม่ใช่เฉพาะประชาชนชาวอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเป็นที่รักในฐานะการเป็นองค์ประมุขแห่งรัฐของ 15 ชาติ สมาชิกในเครือจักรภพแห่งชาติ รวมสมาชิกทั้งสิ้น 56 ประเทศ กล่าวได้ว่าอัตชีวประวัติของพระองค์คงจะสร้างแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบของใครหลายๆ คนเลยทีเดียว
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันอยากเป็นคนที่ดีกว่าใช่ไหม ? เรื่องราวของพระองค์อาจจะจุดประกายอะไรบางอย่างให้กับเราก็ได้นะคะ อ่านพระประวัติของสมเด็จพระราชินีนาถแล้วมีความเห็นอย่างไรกันบ้าง ? คอมเมนต์บอกเราได้เลยนะ และถ้าใครอยากอ่านบทความแนวๆ หญิงแกร่ง เราแนะนำ นักธุรกิจหญิง ที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ไปตามอ่านกันได้เลยค่ะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bbc.com, royal.uk