อริยทรัพย์ 7 ประการ, อริยทรัพย์ คือ

อริยทรัพย์ 7 ประการคืออะไร ? ฝึกฝนตนเองได้อย่างไรให้มีคุณธรรมประจำใจ

หากเราพูดถึงทรัพย์ เราคงจะนึกถึงทรัพย์สินเงินทอง และทรัพย์สมบัติต่างๆ แต่ถ้าเราหมายถึงทรัพย์ที่เป็นของมีค่าในทางธรรมและทางจิตใจนั้น เราจะเรียกสิ่งนั้นว่า อริยทรัพย์ 7 ประการ ที่จะทำให้เรามีความสุขและยั่งยืนได้มากกว่าทรัพย์ในทางโลก เพราะเป็นทรัพย์ที่อยู่ภายในไม่ใช่ของมีค่านอกกาย และยิ่งเรามีมากเท่าไหร่ เราก็จะมีความสุขมากเท่านั้น ในบทความนี้เราจะมาชวนทุกคนให้รู้จักว่าอริยทรัพย์ คืออะไร ? และเราสามารถฝึกและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไรบ้าง ที่จะเพิ่มความสุขให้กับชีวิต

รู้จักอริยทรัพย์ 7 ประการ ทรัพย์อันประเสริฐที่จะทำให้ใจเรามีความสุข 

อริยทรัพย์ 7 ประการ, อริยทรัพย์ คือ

อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ ที่ประกอบไปด้วย 7 ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และ ปัญญา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ศรัทธา

ศรัทธา คือ ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและมั่นใจในความดีที่ทำ เป็นความเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ แม้ว่าเราเชื่อแต่ต้องมีเหตุผล เข้าใจ และรู้จักความเป็นมา ความเป็นอยู่ และความเป็นไปของเหตุนั้นด้วย อย่างการไหว้หิ้งพระในบ้านก็คือความศรัทธาเช่นกัน หรือตัวอย่างเช่น เชื่อมั่นและศรัทธาในความดีที่เราทำ และต้องมั่นใจแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์จริงๆ ซึ่งการมีศรัทธานั้นถือว่าเป็นทรัพย์สินทางธรรม เปรียบเสมือนทรัพย์สมบัติที่จะอยู่ติดตัวเราไป เป็นอริยทรัพย์ 7 ประการที่ก่อให้เกิดอานิสงส์ได้

  1. ศีล

อริยทรัพย์ 7 ประการ, อริยทรัพย์ คือ

ศีล คือ การรักษากายวาจาใจให้สุจริต และประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อริยทรัพย์ 7 ประการในข้อนี้คือสิ่งที่ทำให้เรายึดถือและปฏิบัติให้อยู่ในศีลในธรรม และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ควรทำ หากเราไม่มีศีลและไม่ปฏิบัติตามศีล ก็จะเกิดความวุ่นวาย แต่หากเรามีศีลและตั้งมั่นอยู่ในศีล พยายามให้ใจมีศีลเป็นกรอบ รักษาเอาไว้ให้เป็นปกติให้เรียบร้อย จิตใจของเราก็จะเป็นปกติไม่ทุกข์ร้อน ไม่สะดุ้งกลัว และไม่เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ เราสามารถนำไปใช้ได้แค่เพียงตั้งมั่นในศีล ไม่ไป

ล่วงล้ำสิทธิคนอื่น ไม่ไปล่วงละเมิดสิ่งอื่น ไม่ไปทำร้ายคนอื่น และไม่เอาเปรียบ และทำแต่สิ่งที่ตัวเราเองปรารถนาให้ผู้อื่นทำกับเรา สิ่งนี้จะเป็นหัวใจของศีล

  1. หิริ

หิริ คือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เราควรมีหิริรวมถึงโอตตัปปะเป็นเครื่องรักษาใจ ถ้าเรารักษาหิริไว้เป็นสมบัติของตัวเองหรืออริยทรัพย์ 7 ประการได้แล้ว โลกนี้ก็จะร่มเย็นเป็นสุข เพราะเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก เพราะหากเราไม่ละอายต่อความทำชั่ว ไม่กลัวต่อการทำผิด ก็จะเกิดความทุกข์ร้อนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การฝึกให้มีหิรินั้นเป็นสิ่งที่เราทำได้ไม่ยาก แค่ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีต่อผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลังเท่านั้น และหากจิตใจเราว้าวุ่นลองใช้วิธีนั่งสมาธิให้จิตนิ่งดูนะคะ

  1. โอตตัปปะ

โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวผลของการทำชั่ว เกรงกลัวต่อผลของบาป หากเรามีหิริ ที่เป็นการละอายในการทำชั่วเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาปอย่างโอตตัปปะก็จะไม่เพียงพอ เพราะแค่ความละอายก็แปลว่ายังสามารถทำความชั่วหรือสิ่งไม่ดีได้ แต่ถ้าเราเกรงกลัวต่อผลของมันด้วยจะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจในการทำความชั่วได้ยิ่งขึ้น นอกจากฝึกให้ตนเองมีหิริแล้วควรฝึกให้มีโอตตัปปะควบคู่กันด้วย เพราะหิริโอตตัปปะในใจของเราจะคอยเตือนเราให้เราเชื่อฟังและหยุดที่จะคิดทำชั่วใดๆ ผลที่ได้คือใจของเราจะเป็นใจที่เที่ยงธรรม ไม่คดโกง และไม่ทำอะไรที่เรารู้ว่าเป็นบาป

  1. พาหุสัจจะ

อริยทรัพย์_7_ประการ, อริยทรัพย์_คือ

อริยทรัพย์ 7 ประการข้อต่อไปคือ พาหุสัจจะ หรือความเป็นคนคงแก่เรียน การหมั่นศึกษาหาความรู้ เพื่อให้เข้าใจและรอบรู้อย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ทำก็เป็นทรัพย์สินติดตัวเราเช่นกัน เมื่อสิ่งที่เรารู้มาอย่างลึกซึ้งและได้นำไปสอนหรือบอกคนอื่น ก็จะกลับมาเป็นหลักสอนใจเราโดยอัตโนมัติจนกลายเป็นปัญญา เราสามารถฝึกฝนสิ่งนี้ได้ด้วยการหมั่นศึกษาหาความรู้ รู้ให้จริง รู้ให้ลึกซึ้งและถูกต้อง ก็จะสามารถนำไปใช้และเหมาะที่จะเอามาดำเนินชีวิตของเรา ด้วยการทำอยู่เสมอให้คล่องจนกลายเป็นปัญญาในที่สุด และปัญญานี้ก็จะติดตัวเราไปจนตาย

  1. จาคะ

จาคะ คือ ความเสียสละ และการแบ่งปัน จาคะเป็นอริยทรัพย์ที่จะเจริญความเป็นมหานิยม เพื่อให้คนรักและนับถือเรา เพราะการเสียสละ มีน้ำใจ รู้จักแบ่งปันและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่นนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ใจของเราร่มเย็นเป็นสุข แต่ทำให้เกิดกำลังเมตตาอีกด้วย ถ้าทุกคนมีจาคะ มีน้ำใจให้แก่กัน ก็จะเกิดความเมตตา เมื่อเมตตาแล้วก็รู้จักการให้อภัย ก็จะทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ เราสามารถฝึกได้ง่ายๆ แค่รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ตัวอย่างเช่น ช่วยเหลือเพื่อนที่กำลังเดือดร้อน หรือมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น เพียงเท่านี้ใจเราก็จะเป็นสุขแล้วค่ะ

  1. ปัญญา

ปัญญา คือ ความฉลาดรู้บาปบุญคุณโทษ รู้จักคิด และมีเหตุมีผล รู้ถูกผิด รู้พิจารณา และใช้ชีวิตตามความจริงไม่หลงไปตามอารมณ์หรือสิ่งเย้ายวนรอบตัว เมื่อเรามีความรู้ซึ้งประจักษ์แจ้งเห็นจริงแท้ในธรรม ก็จะเกิดปัญญาตามที่พระพุทธองค์บอก โดยใช้หลัก สุ.จิ.ปุ.ลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน) เราสามารถฝึกและพัฒนาปัญญาของเราได้ นอกจากการเรียนรู้ให้ประจักษ์แล้ว ต้องฝึกฝนต้องหมั่นกระทำเพื่อให้เรารู้ซึ้งขึ้นเรื่อยๆ หรือสามารถใช้การฝึกวิปัสสนาภาวนา คือการฝึกจิตใจด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง เพราะปัญญาเป็นทรัพย์ทำให้เราเดินทางได้ถูกต้อง รู้จักวิเคราะห์และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่เดินในทางที่ผิด และกระทำสิ่งใดด้วยการไตร่ตรอง ทำให้ความผิดพลาดน้อยลง

Inspire Now ! : การมีอริยทรัพย์ 7 ประการก็เหมือนการมีคุณธรรมประจำใจ เพราะอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ภายใน ไม่ใช่ทรัพย์ภายนอกอย่างเช่นทรัพย์สินเงินทอง ที่จะเป็นทรัพย์ติดตัวเราไม่สามารถมีใครมาขโมยไปได้ นอกจากจะทำให้เรามีความสุขปราศจากความทุกข์ได้แล้วนั้น หากเราขยันหมั่นฝึกฝนและรักษาทรัพย์ภายในอันประเสริฐทั้ง 7 ประการนี้ไว้ได้ ก็จะเกิดประโยชน์และความสุขต่อตนเองและส่วนรวมอีกด้วย

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าใช่ไหม ใครที่อยากมีความสุขมากขึ้น ลองฝึกฝนตนเองให้มีอริยทรัพย์ให้ครบทั้ง 7 ประการนี้ให้ได้นะคะ เพราะยิ่งเราฝึก ยิ่งเรามี ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้นได้นั่นเอง ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก :dharma-gateway.com, dhammathai.org

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW