8 ไอเดีย วิธีร้อยพวงมาลัย แบบ step by step สำหรับไหว้พระ-มอบให้ผู้ใหญ่ในโอกาสต่างๆ !
รวม 8 วิธีร้อยพวงมาลัย มือใหม่ก็หัดทำตามได้ไม่ยาก ได้มาลัยสวยๆ ฝีมือตัวเอง ต้องเตรียมอะไรบ้าง ใช้ดอกไม้ชนิดใด คนรักงานฝีมือ ชอบดอกไม้ห้ามพลาด
นับตั้งแต่ในอดีตกาลที่มนุษย์มีวิธีสื่อสารกับแบบส่งสัญญาณ เช่น เคาะไม้ จุดไฟ ส่งสัญญาณควันไฟ ส่งเสียงร้อง และได้มีวิวัฒนาการทางภาษาขึ้น จึงได้มีการสื่อสารผ่านทางภาษาแต่ละเผ่าพันธ์ุ โดยการส่งต่อผ่านบุคคลเป็นทอดๆ และมาถึงยุคที่มนุษย์รู้จักการประดิษฐ์อักษร การสื่อสารจึงได้มีการพัฒนาขึ้นอีกขั้น และอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นผลิตกระดาษเพื่อใช้ในการส่งสาร เป็นที่มาของการเขียนจดหมายของมนุษยชาติ ปัจจุบันวิธีการสื่อสารได้พัฒนาไปไกล และสามารถส่งสารกันได้ง่ายเพียงคลิกเดียว สืบเนื่องในวันที่ 9 ตุลาคม เป็นวันไปรษณีย์โลก ในบทความนี้ DIYINSPIRENOW จึงอยากจะชวนมาย้อนรอยดูประวัติของการส่งจดหมายในอดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร รวมถึงพาไปเจาะลึก ประวัติไปรษณีย์ไทย ก่อนที่เราจะส่งข้อความได้อย่าง่ายดายเหมือนในทุกวันนี้ ในสมัยก่อนเรามีวิธีส่งสารกันอย่างไร มาดูกันเลยค่ะ
การสื่อสารทางไกลของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่ยุคสมัยอารยธรรมโบราณหลายพันปีก่อนคริสต์ศักราช ในรัชสมัยพระจักรพรรดิออกัสตัส (Augustus) แห่งจักรวรรดิโรมัน ช่วง 63 ปีก่อนคริสต์ศักราช ได้มีการสื่อสารในกองพลโดยการใช้พลม้าเร็วในการส่งข่าวสาร ซึ่งจะต้องเดินทางไกลข้ามแผ่นดิน และพักตามจุดที่ตั้งค่ายเฉพาะ เรียกว่า “โพซิตัส” (Positus) จึงมีความเชื่อว่า สิ่งนี้คือที่มาของคำว่า Post และหมายถึงที่ทำการไปรษณีย์ในยุคปัจจุบันนั่นเอง ต่อมาในยุคกลาง ได้มีการใช้นกพิราบสื่อสาร (Pigeon Post) ซึ่งสามารถทำได้รวดเร็ว และปลอดภัยกว่าวิธีอื่นๆ และในระยะใกล้เคียงกัน คู่กับการส่งข่าวสารทางม้าเร็วเช่นเดิม
การส่งข่าวสารทางไกล เริ่มจัดตั้งเป็นบริษัทในประเทศอิตาลีและสเปน เมื่อราวๆ ศตวรรษที่ 13 ซึ่งได้มีการจัดตั้งบริษัทส่งข่าวสารขึ้น และให้บริการตามเมืองสำคัญๆ ในยุโรป สำหรับเมืองที่ไม่มีบริษัทรับส่งข่าวสาร จะใช้วิธีการฝากจดหมายและสิ่งของไปกับพ่อค้าที่มักเดินทางไปยังหลายๆ หัวเมือง และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็ได้มีการจัดตั้งไปรษณีย์เกิดขึ้นในแทบทุกประเทศ เนื่องจากมีการเดินทางมากขึ้น และการค้าขายเจริญมากขึ้น ทำให้ความต้องการบริการไปรษณีย์เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชน ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีการไปรษณีย์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ เมืองบอสตัน
ในฝรั่งเศส ยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นจุดเริ่มต้นของการประดิษฐ์ตู้ไปรษณีย์ โดยชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ De Valayer ซึ่งได้คิดค้นวิธีจัดตั้งไปรษณีย์ขนาดย่อมขึ้น โดยการประดิษฐ์ตู้ไปรษณีย์และนำไปตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ในเมือง และเมื่อปี 1680 มีพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ Dockwra เดินทางมาค้าขายยังกรุงปารีส และได้นำเอาแบบอย่างไปรษณีย์ขนาดย่อมที่ปารีส ไปใช้ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเพิ่มรายละเอียดการจัดส่งด้วยตราประทับ ระบุเดือน วัน ปี เพื่อลงทะเบียน และมีการทำประกันการส่งจดหมายด้วย
ตั้งแต่ช่วงปี 1800s เป็นต้นมา กิจการไปรษณีย์ได้มีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก พร้อมด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก เช่น เรือกลไฟ รถไฟ ยานยนต์ต่างๆ ทำให้การเดินทางและการคมนาคมทางไกล มีการพัฒนาก้าวไกลไปมากเช่นกัน และในปี 1840 รัฐบาลอังกฤษได้มีการพิมพ์แสตมป์แบล็คเพนนี (Black Penny) เป็นภาพสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria, 1819 – 1901) ซึ่งถือว่า เป็นแสตมป์ดวงแรกของโลก (ถ้าใครอยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับราชินีอังกฤษ ควีนอลิซาเบธที่ 2 อ่านเพิ่มเติมได้เลย)
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 1878 ได้มีการจัดตั้งสหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union) ขึ้น ซึ่งก่อนที่จะมีสหภาพไปรษีณีย์สากล วิธีส่งจดหมายในอดีตนั้นการที่ประเทศหนึ่งจะแลกเปลี่ยนไปรษณีย์กับประเทศอื่นได้ต้องมีการทำสนธิสัญญากับประเทศคู่สัญญาต่างๆ อีกทั้งการส่งจดหมายระหว่างประเทศต้องติดแสตมป์ของประเทศต่างๆ ที่จดหมายเดินทางผ่านด้วย จึงมีการเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติขึ้น และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 1874 ในการประชุมที่กรุงเบิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้มีการลงนามสนธิสัญญาเบิร์น จั้งตั้งองค์กรไปรษณีย์ระหว่างประเทศได้สำเร็จ และใช้ชื่อว่า สหภาพไปรษณีทั่วไป ซึ่งในปีถัดมา เห็นว่าสมาชิกประเทศได้เพิ่มขึ้น จึงลงมติเปลี่ยนมาใช้ชื่อ สหภาพไปรษณีย์สากล หรือ Universal Postal Union จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี 1969 หรือปี พ.ศ. 2512 สมาชิกสหภาพไปรษณีย์สากลทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้กำหนดให้วันที่ 9 ตุลาคม เป็นวันไปรษณีย์โลก หรือ World Post Day ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกได้ตกลงกันร่วมฉลองในโอกาสนี้โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเขียนจดหมาย เพื่อระลึกถึงการสื่อสารโดยการส่งจดหมายในอดีต อันเป็นการสร้างสัมพันธภาพและเสรีภาพผ่านตัวอักษร โดยไม่ได้จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และให้ทุกคนบนโลกนี้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างทั่วถึง
ประวัติของไปรษณีย์โลก มีเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่เริ่มต้นตั้งแต่ในยุคก่อนคริสต์กาล และมนุษย์ก็ได้มีการพัฒนาคิดค้นวิธีการ แนวทาง หรือนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้การสื่อสารผ่านทางจดหมายหรือการฝากสิ่งของทางไกลเป็นเรื่องง่ายจนถึงในยุคปัจจุบัน ต่อไปเราดูมากันว่า ประวัติไปรษณีย์ไทย จะมีความเป็นมาอย่างไร พร้อมแล้วก็ไปกันต่อเลยค่ะ
ก่อนที่จะเล่าถึงประวัติไปรษณีย์ไทย ต้องกล่าวย้อนไปถึงในสมัยที่มีการส่งจดหมายหรือการส่งข้อความสื่อสารกันในสมัยโบราณ ซึ่งคนไทยในสมัยโบราณใช้คนเดินข่าวเดินทางส่งสารด้วยการเดินเท้า หรือใช้ม้า แพะ เรือ เป็นพาหนะเดินทาง และหากเป็นในส่วนงานราชการ จะใช้วิธีแต่งตั้งข้าหลวงเชิญหนังสือ “ท้องตรา” หรือ “ใบบอก” ส่วนการส่งพระราชสาสน์ หรือหนังสือติดต่อกับต่างประเทศ จะมีวิธีคือ แต่งตั้งคณะทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปยังประเทศที่จะติดต่อโดยตรง เช่น ในยุคสมัยพระนารายณ์มหาราชได้มีการแต่งตั้งคณะทูตอันเชิญพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง
ในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 มีกลุ่มมิชชันนารี หรือหมอสอนศาสนาชาวยุโรป เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย และได้นำเอาวัฒนธรรมการเขียนจดหมายติดต่อกับญาติมิตรส่งไปทางเรือมาเผยแพร่ในประเทศไทยด้วย ต่อมาได้มีกงสุลอังกฤษ ใช้สถานที่บริเวณตึกยามท่าน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ทำการไปรษณีย์ โดยใช้ตราไปรษณียากร ของสหพันธรัฐมลายา และอินเดีย ซึ่งพิมพ์อักษร B ประทับลงบนดวงตราไปรษณียากรนั้นๆ แทนคำว่า “Bangkok” จำหน่ายและส่งต่อจดหมายไปต่างประเทศ โดยฝากไปกับเรือค้าขายของอังกฤษ ซึ่งสร้างความน่าสนใจให้กับประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่
ในปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภานุรังษี สว่างวงศ์กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน “ข่าวราชการ” ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์
เมื่อได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการเปิดบริการไปรษณีย์แล้ว ก็ได้มีการเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ซึ่งมีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ) โดยที่ทำการแห่งแรกนี้ ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร และเรียกกันว่า “ไปรษณียาคาร”
ในระยะแรกของการให้บริการ ครอบคุลมเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น ต่อมามีประชาชนได้มาใช้บริการและให้ความสนใจกับการไปรษณีย์มาก จึงเริ่มขยายไปยังต่างจังหวัดโดยเปิดทำการไปรษณีย์ที่สมุทรปราการและนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดงในปัจจุบัน) และขยายต่อจนถึงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2428 สำหรับบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศนั้น เริ่มเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 หลังจากที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพไปรษณีย์สากลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในปี พ.ศ. 2441 กรมไปรษณีย์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมไปรษณีย์โทรเลข” หลังจากที่มีการควบรวมกรมไปรษณีย์เข้ากับกรมโทรเลข และมีการเปิดที่ทำการไปรษณีย์กลางขึ้นที่ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก และใช้เป็นที่ทำการของกรมไปรษณีย์โทรเลข อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้มีการแยกงานบางส่วนออกจากกรมไปรษณีย์โทรเลข และจัดตั้งมาเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยใช้ชื่อว่า “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” หรือ ก.ส.ท ในช่วงปี 2520
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2546 ได้มีการปรับโครงสร้างอีกครั้งตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยแยกการสื่อสารแห่งประเทศไทยออกเป็น บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งไปรษณีย์ไทยได้ดูแลบริการด้านไปรษณีย์ทั้งหมด จนถึงปัจจุบัน
และนี่ก็เป็นประวัติไปรษณีย์ไทย ตั้งแต่ความเป็นมาที่เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งไปรษณีย์ไทย และได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ จนกลายเป็นบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ในปัจจุบัน ที่แม้ว่าในยุคนี้จะมีคนส่งจดหมายหากันน้อยลงมากๆ แล้ว ซึ่งสิ่งที่เริ่มเลือนหายไปก็คือ จดหมาย โทรเลข ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน ไปรษณีย์ทางรถไฟ ทางน้ำ และทางอากาศ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการแปรเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายไปรษณีย์ไทย 4.0 อันเกิดจากธุรกิจ E – Commerce หรือการซื้อของออนไลน์ และ E – Payment เช่น ใช้ Paypal ที่มีความทันสมัย ส่งผลทำให้ธุกิจ Logistic หรือการขนส่งพัสดุรายย่อย มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดแทน
หลักจากที่ได้รู้เกี่ยวกับการส่งจดหมายในอดีต ประวัติวันไปรษณีย์โลก และประวัติไปรษณีย์ไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาเรามาดูกันว่า มีนวัตกรรมอะไรบ้างที่มีความเกี่ยวข้องกับการไปรษณีย์ และเกิดขึ้นที่ประเทศใด
ไปรษณีย์ไทย มีตัวเครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ (Automated Postal Machine : APM) ซึ่งเป็นเครื่องให้บริการรับฝากส่งสิ่งของทั้งในและต่างประเทศ ด้วยบริการ Post & Fly นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไปรษณีย์ไทยพัฒนามาเพื่อผู้ใช้บริการที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางผ่านท่าอากาศยานฯ และมีสิ่งของที่ไม่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องได้ หรือต้องการส่งสิ่งของในเวลาเร่งด่วนโดยไม่ต้องรอที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ อย่างไรก็ตาม สิ่งของต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัมเท่านั้น
ประเทศสิงคโปร์ มีบริการระบบตู้จดหมายและสแตมป์อัจฉริยะต้นแบบซึ่งเป็นระบบแรกของโลก โดยระบบดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ E – Commerce ที่ส่งผลให้ยอดส่งพัสดุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้การจัดไปรษณีย์ภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการลดอัตราการสูญหายของจดหมายและพัสดุ โดยตู้จดหมายอัจริยะเป็นเสมือนตู้อัตโนมัติสำหรับจ่ายพัสดุและจดหมาย ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อใช้แทนกุญแจเปิดเข้ารับพัสดุหรือจดหมายของตนเอง ซึ่งพนักงานไปรษณีย์จะนำมาฝากไว้ที่ตู้อัจริยะนี้
ไปรษณีย์อังกฤษ ได้มีการเริ่มใช้แสตมป์ติดบาร์โค้ด ที่สามารถสแกนแล้วดูการ์ตูนได้ เนื่องจากถือเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการผลิตและใช้แสตมป์ในการส่งจดหมาย แม้จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นราว 180 ปีมาแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันแสตมป์ของการไปรษณีย์รอยัลเมล ในสหราชอาณาจักร มีบาร์โค้ดอยู่บนแสตมป์ ซึ่งผู้รับจดหมายสามารถแสกนบาร์โค้ดเพื่อดูวิดีโอการ์ตูนชุด Shaun the Sheep ได้ โดยผู้ส่งจดหมายจะเป็นผู้เลือกว่าคนรับจดหมายจะได้ดูการ์ตูนตอนใด และในอนาคตอาจมีการพัฒนาให้สแกนบาร์โค้ดเพื่อดูวิดีโอหรือรับข้อความอย่างการอวยพรวันเกิดได้ด้วย
บุรุษไปรษณีย์ยุคใหม่ในประเทศฝรั่งเศส จะมี Smartphone ที่ใช้ชื่อว่า Facteo ซึ่งในทุกๆ เช้าก่อนทำงาน บุรุษไปรษณีย์แต่ละคนต้องตรวจ Facteo ของตนเองว่ามีภารกิจอื่นที่ต้องทำหรือไม่นอกเหนือจากการนำส่งจดหมายหรือพัสดุ เช่น การให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย โดยการเดินทางไปหาผู้ที่ประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือ เพื่อเอาใบสั่งยาไปส่งที่ร้านขายยา และรับยาไปให้กับลูกค้า หรือการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการ Veiller sur mes parents ช่วยดูแลพ่อแม่ ซึ่งลูกค้าสามารถฝากข้อความเพื่อขอความช่วยเหลือบุรุษไปรษณีย์ให้ไปช่วยแวะดูพ่อแม่ของตนอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่ลูกๆ อยู่คนละบ้านกับพ่อแม่ซึ่งอาจจะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง นอกจากนี้ ยังมีบริการส่งอาหารไปยังบ้านผู้สูงอายุด้วย ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมประเภทการบริการประชาชนที่ครอบคุลมประโยชน์นอกเหนือไปจากการรับส่งจดหมายและพัสดุ และยังสอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย
Inspire Now ! : ระบบการไปรษณีย์ เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ต้องการจะสื่อสารทางไกล หรือส่งข่าวไปยังคนอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกล ซึ่งในสมัยก่อน แม้ต้องเดินทางแรมเดือน ก็จะต้องส่งสารไปยังผู้รับให้ได้ ทั้งนี้ ระบบไปรษณีย์ได้มีการพัฒนาขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยีนวัตกรรมในโลก เพื่อการสร้างสัมพันธภาพและเสรีภาพผ่านตัวอักษร โดยไม่ได้จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และให้ทุกคนบนโลกนี้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างทั่วถึง ในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่สามารถสื่อสารกันผ่านทางอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายรวดเร็วทันใจ แม้อยู่ไกลกันคนละซีกโลก แต่ระบบไปรษณีย์ก็ยังคงมีอยู่ และไม่ใช่เพื่อการสื่อสารอย่างเดียว แต่เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดย Logistic เพื่อสอดรับกับการมาของ E – Commerce ที่ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน และการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้นวัตกรรมที่เคยมีมานานยังคงอยู่ต่อไปได้ และยังสามารถอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้คนได้เช่นเดิม ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป |
---|
DIYINSPIRENOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? รู้ประวัติไปรษณีย์ไทย และไปรษณีย์โลกแล้ว แม้จะอยู่มานาน แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบัน ใครได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวไปรษณีย์บ้าง ? มาคอมเมนต์บอกเราได้นะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : postal.customs.go.th, e-library.siam.edu, saranukromthai.or.th, bbc.com, gotomanager.com, postfamily.thailandpost.com, thailandpost.co.th
รวม 8 วิธีร้อยพวงมาลัย มือใหม่ก็หัดทำตามได้ไม่ยาก ได้มาลัยสวยๆ ฝีมือตัวเอง ต้องเตรียมอะไรบ้าง ใช้ดอกไม้ชนิดใด คนรักงานฝีมือ ชอบดอกไม้ห้ามพลาด
แนะ วิธีสรงน้ำพระที่บ้าน ขั้นตอน การทําความสะอาด อย่างถูกวิธี ทำยังไง ต้องเตรียมอะไรบ้าง มาเช็กให้ถูก เพื่อความเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ไทยกัน
สงกรานต์ หมายถึง อะไร ทำไมถึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย สงกรานต์ 2568 ตรงกับวันไหน กิจกรรมตามประเพณีมีอะไรบ้าง เทศกาลนี้สอนอะไรกับเราบ้าง