Dunning Kruger Effect คืออะไร ? ชวนรู้จักอาการของคนโง่ แต่อวดฉลาด มีจริงหรือไม่ ! แก้ยังไงดี ?!
ถ้าพูดถึงคนฉลาด เราอาจจะนึกถึงคนที่มีความรู้รอบด้าน หรือมีความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบละเอียดลงลึก มีไหวพริบ สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี หรือแก้ไขปัญหาเชาว์ปัญญาได้ มี IQ สูง และเราสามารถรับรู้ได้ว่า คนๆ นั้นเป็นฉลาด แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้มีคุณสมบัติดังกล่าวแต่เข้าใจไปว่าตนเองเป็นคนฉลาดหรือเป็นคนเก่ง มีความสามารถ ทั้งยังคิดว่าคนรอบข้างมองตัวเองแบบนั้นด้วย สิ่งนี้เรียกว่า Dunning Kruger Effect คือ อาการโง่แต่อวดฉลาด เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น และจะรับมือได้อย่างไร มาดูกันค่ะ
Dunning Kruger Effect คืออะไร ชวนเข้าใจปรากฏการณ์ โง่แต่อวดฉลาด
เราคงเคยได้ยินสำนวน “โง่แต่อวดฉลาด” กันมาก่อน แต่ทราบหรือไม่ว่า อาการนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Dunning Kruger Effect คือ อาการที่คนๆ หนึ่งคิดว่าตัวเองเก่งและฉลาด แต่ความจริงแล้วอาจจะไม่มีความรู้ความสามารถมากนัก ซึ่งได้มีการนิยามเอาไว้ว่า เป็นภาวะที่คนๆ หนึ่งยิ่งไร้ความสามารถมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเต็มไปด้วยความมั่นใจว่าตนเองมีความเก่งและมีความฉลาด แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นคนที่มีความสามารถมากหรือมีความฉลาดมาก กลับจะยิ่งมี Self Doubt คือ สงสัยในความสามารถและความฉลาดของตัวเอง
สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ได้มีการอธิบายเอาไว้ว่า คนที่รู้น้อยจะคิดว่าตัวเองฉลาด นั่นเป็นเพราะว่า ตัวเองไม่รู้ว่ายังมีอะไรที่ไม่รู้อีกมาก จึงมั่นใจในความรู้ที่มีทั้งหมด ในขณะที่คนที่มีความรู้มากๆ กลับคิดว่าตัวเองยังไม่ฉลาด เพราะรู้ว่ายังมีสิ่งที่พวกเขาไม่รู้อีกมากมายนั่นเอง
นายอินทร์ หนังสือ ถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่
สาเหตุของการเกิด Dunning Kruger Effect คืออะไร ?
ได้มีการค้นพบปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999 โดยนักจิตวิทยาที่ชื่อว่า David Dunning และ Justin Kruger ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความสามารถที่มีอยู่จริง กับความรู้ความสามารถตามความคิดของตัวเอง โดยการทำแบบทดสอบหลายแบบ ทั้งการทำแบบทดสอบที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ การใช้เหตุผล ความรู้ทางไวยากรณ์ ซึ่งก่อนจะทำการทดสอบนั้น ได้มีการให้ผู้เข้าร่วมการทดลองประเมินผลทดสอบของตัวเองออกมาก่อนว่าจะได้คะแนนเท่าไหร่ ปรากฏว่า ผู้ที่ได้คะแนนต่ำ จะประเมินคะแนนของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงมาก แต่ในขณะที่คนที่สามารถทำคะแนนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย กลับประเมินคะแนนของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง
การศึกษาครั้งนี้ ทำให้นักจิตวิทยาทั้งสองได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้เกิด Dunning Kruger Effect คือ คนไม่เก่งจะคิดว่าตัวเองเก่งกว่าความรู้ความสามารถที่แท้จริงของตัวเอง นั่นเป็นเพราะว่า พวกเขามีอคติทางการรับรู้ หรือ Cognitive Bias และเชื่อมั่นว่าตนเองคือคนที่มีความรู้ความสามารถและเป็นคนที่ฉลาด ทำให้เกิดการประเมินความรู้ความสามารถแท้จริงของตัวเองผิดเพี้ยนไป หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า โง่ อวดฉลาดนั่นเอง ในขณะที่คนรู้มาก มีความฉลาดและมีความสามารถ หรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะรู้ว่าขอบเขตความรู้เรื่องนั้นๆ อยู่ในระดับไหน และความรู้ความสามารถของตัวเองมีเท่าไหร่ และจะสามารถประเมินความรู้ความสามารถของตัวเองได้เป็นอย่างดี
นายอินทร์ หนังสือ จิตวิทยาสายดาร์ก
ขอเสียของ Dunning Kruger Effect คืออะไร ?
เป็นไปได้ว่า Dunning Kruger Effect คือสาเหตุของการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ พลาด ทำให้ประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง และทำให้เกิดการคาดการณ์ผิดเพี้ยนและทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้ มีคำกล่าวว่า การมีหลักฐานข้อมูลความรู้ที่น้อยนั้นจะเป็นภัยมากกว่าเป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้คนๆ นั้นมีกรอบที่คับแคบ และคิดว่าสิ่งที่ตัวเองรู้คือข้อมูลความจริงทั้งหมดและเกิดความเชื่อที่ผิดๆ ได้ ทั้งยังมั่นใจว่าความคิดตัวเองถูกต้องที่สุด จนอาจทำให้คนอื่นๆ เอือมระอาและมองว่าโง่ อวดฉลาดได้
วิธีรับมือกับคนที่มีภาวะ Dunning Kruger Effect
เป็นไปได้ว่าเราอาจจะต้องเจอคนที่มีภาวะ Dunning Kruger Effect คือ คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดและมีความสามารถ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น ทั้งในชีวิตประจำวัน ในที่ทำงาน ในคลาสเรียน ฯลฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเห็นที่ไม่ตรงกันและมีปัญหาขัดแย้งกันได้ หรือถ้าเป็นการทำงานเป็นทีม หากคนโง่ อวดฉลาดทำงานโดยยึดถือข้อมูลความรู้ที่ผิดๆ หรือเป็นข้อมูลที่ไม่รอบด้าน ก็อาจทำให้งานไม่มีคุณภาพได้ หรือแทนที่จะทำงานได้คุณภาพดีกว่านี้เพราะมีข้อมูลที่รอบด้านมากกว่านี้ กลับได้งานที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
แล้วเราจะรับมืออย่างไร ? หากต้องทำงานร่วมกันหรือมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน การแย้งด้วยข้อมูลความรู้ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น ข้อมูลจากงานวิจัย จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ จากผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ และพูดคุยอย่างเป็นเหตุเป็นผล ก็จะช่วยให้คนที่มีภาวะ Dunning Kruger Effect มองเห็นสถานการณ์ตามความเป็นจริงได้มากขึ้น ได้รับข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมากขึ้น และเกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ตระหนักได้ว่าสิ่งที่ตัวเองรู้นั้น อาจเป็นข้อมูลที่ไม่รอบด้านมากพอ หรือเป็นความเชื่อที่ผิดๆ แม้ว่าจะมีภาวะ Dunning Kruger Effect ก็สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและประเมินความรู้ความสามารถของตัวเองได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น
หนังสือดีแห่งศตวรรษที่ 21 ชุดพิเศษ (Sapiens, Homo Deus, 21 Lessons) (ชุดรวม3เล่ม)
เอาชนะ Dunning Kruger Effect ด้วย Growth Mindset
สิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของคนที่มีภาวะ Dunning Kruger Effect คือ ทัศนคติแบบ Growth Mindset หรือความคิดที่ว่า คนเราสามารถมีการเติบโตและพัฒนาตัวเองได้อยู่เสมอ สามารถพัฒนาความรู้ ทักษะ และความสามารถของตัวเองให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ สิ่งนี้จะทำให้เกิดความอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือขวนขวายศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่สนใจอย่างรอบด้านมากขึ้น ทำให้รับรู้ได้ว่ายังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย ยอมรับคำติชมที่จะทำให้ตนเองได้ปรับปรุงพัฒนาต่อไป ซึ่งทำให้เกิดการประเมินความรู้ความสามารถของตัวเองได้ตามความเป็นจริงหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริง ในทางกลับกัน คนที่มี Fixed Mindset จะไม่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ คิดว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่นั้นดีแล้ว ไม่ยอมรับฟีดแบคเพราะมองว่าเป็นการตำหนิ ไม่เปิดรับความเห็นต่าง มีอคติต่อการเปิดรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ และคิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุด ซึ่งนำมาสู่ภาวะโง่ อวดฉลาดได้นั่นเอง
หนังสือจิตวิทยา/พัฒนาตนเอง วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก (Leadership and Self-Deception) วีเลิร์น
Inspire Now ! : แม้ว่าภาวะ Dunning Kruger Effect จะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าเรามีสติรู้ตัวเอง เปิดรับข่าวสารอย่างรอบด้าน สนใจใคร่รู้สิ่งต่างๆ และขวนขวายหาวิธีพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก็ยากที่จะติดกับดักของการโง่แต่อวดฉลาด เพราะมีทัศนคติที่ว่าตนเองสามารถเรียนรู้และเติบโตได้เรื่อยๆ จึงไม่หยุดที่จะเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ ก็เป็นการยากที่เราจะจำกัดความรู้ความสามารถของตนเอง และนำไปสู่พฤติกรรมโง่แต่อวดฉลาดได้ |
---|
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? คิดว่าวิธีการใดอีกบ้างที่จะทำให้เราไม่ตกอยู่ในภาวะโง่แต่อวดฉลาดได้ คอมเมนต์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้นะคะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mhc7.dmh.go.th, scientificamerican.com, verywellmind.com, psychologytoday.com
Featured Image Credit : freepik.com/benzoix