Mindfulness คือ อะไร ? ชวนรู้จักศาสตร์แห่งการฝึกสติ เพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้นแบบองค์รวม
Mindfulness คือ อะไร รู้จักการฝึกสติเพื่อบริหารความคิด อารมณ์จิตใจ ให้มีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดีขึ้น ชวนมาเข้าใจ และฝึกไปพร้อมๆ กัน
Guest : คุณสิริพร เหล่าดำรงกุล (เพลิน) เจ้าของช่อง Pin to Plant
ท่ามกลางเทรนด์สุขภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเคยได้ยินคำว่า Plant Based กันบ้างมั้ยคะ ? สำหรับคนรักสุขภาพ เราคิดว่าต้องเคยได้ยินกันมาบ้างอย่างแน่นอน แพลนต์เบส คือ อะไร ในบทความนี้ DIYINSPIRENOW ได้โอกาสพูดคุยกับคุณเพลิน เจ้าของช่องที่แบ่งปันสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องของ Plant Based เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อนำมาปรับใช้ดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นไปด้วยกันค่ะ
ส่วนตัวแล้ว เราเป็นคนกินมังสวิรัติเป็นประจำในวันเกิดของสัปดาห์ และวันพระค่ะ ส่วนเทศกาลกินเจก็ไม่เคยพลาด กินต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยอยากเนื้อสัตว์ เป็นพวกชอบกินผักเสียมากกว่า และด้วยความที่มีนิสัยการกินแบบนี้ ก็เลยทำให้เราติดนิสัยชอบที่จะหาอ่านข้อมูลเรื่องของสุขภาพจนมาเจอกับ Pin to Plant ช่องที่ทำคอนเทนต์ที่บอกเล่าข้อมูล และแบ่งปันเมนู Plant Based น่ากิน แถมทำตามได้จริง จนทำให้อยากพูดคุยเรื่องแพลนต์เบส กับคุณเพลินผู้เป็นเจ้าของคอนเทนต์หัวข้อน่าสนใจเหล่านี้ขึ้นมา และนั่นแหละค่ะ จึงเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เรามาทำความเข้าใจเรื่อง Plant Based ให้มากขึ้น แล้วมาเติมพืชในมื้ออาหารของคุณเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
“ชื่อเพลินนะคะ ตอนนี้ก็เป็นคุณแม่ลูกสอง แล้วก็มีน้องหมาตัวเล็กคนนึงเป็นน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรกในชีวิต ทําธุรกิจครอบครัวนะคะ ส่วน Pin to Plant เป็นความสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนโควิดค่ะ”
“เริ่มกินเพลนต์เบสน่าจะช่วงโควิดค่ะ แต่จริงๆ แล้วตัวเพลินไม่ได้เป็นวีแกนนะคะ แล้วเพลินก็ไม่ได้แบบทานแบบ strict ขนาดนั้น เผอิญเริ่มมาจากว่าตัวเองมีบางช่วงที่เรามีปัญหาสุขภาพ เราก็หาข้อมูลไปเรื่อยๆ แล้วเราพอมาเจอเรื่องนี้ เราศึกษาไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่ามันมีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว เราก็ลองมาทําจริงๆ แต่ว่าเพลินก็ยังเป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่ มีภารกิจที่ต้องทํางานมีชีวิตประจําวันที่ไม่แตกต่างจากคนอื่นเราไม่ได้สามารถจะทําอาหารทานเองทุกมื้อ แต่เพลินรู้ว่าการทานพืชให้มากกว่าเดิมมันเป็นสิ่งที่ดีมากกว่าเดิม”
“ถ้าถามคนไทยก็จะเข้าใจเป็นคําว่า เจ มังสวิรัติ อะไรทํานองนี้ใช่มั้ยคะ ซึ่งเหมือนก็จะมี defination ของแต่ละคําที่แตกต่างกันไป แต่ว่าถ้าเป็นฝรั่งก็จะเป็นประมาณวีแกนกับ Plant Based จริงๆ มันก็อยู่ในเครือเดียวกัน แต่เพลินมองว่า แพลนต์เบสมันดูจะยืดหยุ่นในยืดหยุ่นกว่า แพลนต์เบส คือการทานเน้นพืช อาจจะ 5% หรือ 10% อาจจะมีทานเนื้อสัตว์บ้าง หรือว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์บ้างแล้วก็สักประมาณ 90% หรือ 95% ก็เป็นพืช ก็แล้วแต่คนว่าชีวิตประจําวันเค้าจะเป็นยังไง แล้วก็ให้ความสําคัญแค่ไหน ทําได้ยังไงเท่าไหร่ คือเหมือนกับ Plant Based จะเบนไปทาง vegetarian มากกว่าก็คือทานพืชผักให้มากขึ้นแล้วก็ลดผลิตภัณฑ์จากสัตว์ให้น้อยลงแต่สัดส่วนก็แล้วแต่นะ”
“เพลินโตมาในครอบครัวคนจีน อาม่าที่เป็นแม่ของพ่อทําอาหารเก่งมากก็จะเป็นอาหารสไตล์จีน พอคุณแม่แต่งงานกับคุณพ่อก็แยกครอบครัวออกมาแต่เราก็ยังมีสัมพันธ์กับครอบครัวอาม่าก็ได้เห็นแกทําอาหาร เรื่อยๆ แล้วคุณแม่เลี้ยงดูพวกเรามา คุณแม่ก็ทําอาหารให้พวกเรากินเพราะว่าอยากให้กินของดี คือแม้กระทั่งหมูหยองที่มันต้องทําเป็น process จากโรงงาน คุณแม่กลัวว่าหมูหยองเค้าจะใส่ผงชูรส ก็เลยทําหมูหยองเอง คือกินอาหารแต่อาหารที่ในบ้านทําเอง ในวัยเด็กจําได้เลยว่าถ้าวันไหนไม่ได้ไปโรงเรียน ตื่นมาบางวันนะคะก็จะเดินลงมาข้างล่างก็จะมาขอผัก ขออะไรมาเล่นทําอาหาร ไม่ได้เล่นตุ๊กตา เราชอบเล่นเป็นผัดกับข้าว ผัดอะไรเล่น แล้วก็ชอบลงครัว แบบไปทําอาหารให้คนที่บ้านกิน ก็จะมีความผูกพันกับอาหารตั้งแต่เด็กค่ะ”
“ตอนเด็กเพลินจะอยู่นครสวรรค์ พอเริ่มเป็นวัยรุ่นก็ย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ มาอยู่บ้านของอาม่า ก็คือจะไม่ได้ทําอะไรเกี่ยวข้องกับอาหารเลย เพราะว่าเราอยู่บ้านบ้านของอาม่าก็คือดูแลอาหารให้เราเรียบร้อย แล้วก็มีช่วงนึงอยู่โรงเรียนประจําด้วยหนึ่งปีก็เลยหยุดเบรกเรื่องการทําอาหารไปแต่ว่า พอช่วงเรียนมหาลัย คุณแม่ก็มาสร้างบ้านที่กรุงเทพฯ คราวนี้อยู่เองก็ได้มีโอกาสเริ่มกลับมาทําอาหารอีกครั้งไปจนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี เรียนปริญญาโท ก็ทําอาหารทานเองบ้าง ยุคนั้นไม่มียูทูปก็ซื้อหนังสืออาหารมาเปิดดูว่าเค้าทํายังไงนะ ดูทีวีแล้วก็ทําตาม แต่ว่าไม่ได้แบบว่าเป็นคนชอบทําอาหารขนาดมีความรู้สึกว่าจะไปเป็นเชฟหรืออะไรนะคะ แค่บางครั้งบางคราวเราทําอาหารทานเองบ้างเป็นงานอดิเรกแค่นั้นเลยค่ะ แล้วอาหารที่ทําช่วงนั้นน่ะค่ะเป็นอาหารทั่วไป”
“ไม่มีแนวคิดสุขภาพเลยค่ะ แค่เป็นผู้หญิงกลัวอ้วนคนนึงแค่นั้นเอง ก็ทําอะไรก็รู้ว่า อ๋อระวังนะเราต้องทานผักเยอะ อย่าใส่น้ํามันเยอะ ณ วัยนั้นนะคะ แล้วก็จะเป็นคนทานเก่งที่ทานแบบเหมือนเป็นคนทานเยอะ แต่ว่าจะระวังเรื่องคุณภาพของอาหารเองนะคะ แล้วก็เป็นคนไม่ชอบอด อดแล้วมันรู้สึกว่า mood มันไม่ได้ แล้วคุณพ่อสอนมาแนวบอกว่า ถ้าจะทําอะไรนะ ร่างกายต้องพร้อมนะ ถ้าง่วงก็นอนพักก่อน ถ้าหิวก็กินก่อน แล้วจะทําอะไรก็ค่อยมาทํา ก็เลยจะไม่อดอาหาร เราก็จะทําเมนูง่ายๆ ที่เราชอบ เราชอบอาหารจานเดียว ข้าวผัด ส้มตําอะไรง่ายๆ พวกนี้”
คุณเพลินเล่าต่อถึงจุดเริ่มต้นของการรักสุขภาพ ที่มาเริ่มแบบจริงจริงก็ช่วงก่อนโควิด ว่าพออายุเยอะขึ้น ก็เริ่มป่วย จากเมื่อก่อนเป็นคนติดไอศกรีม กินตั้งแต่ตอนที่เรียนต่างประเทศ กินเป็นอาหารเช้า กินมาเรื่อยๆ จนมีลูกก็ยังกินอยู่ กินจนรู้สึกว่าเริ่ม 40 แล้วอ้วนง่าย เป็นผื่นแพ้ก็เลยกินน้อยลง จนเปลี่ยนเป็นเลิกกินในที่สุด
“มีช่วงนึงตอน 40 เป็นหนักหนักเลยนะคะ คือเป็นผื่นแพ้เซ็บเดิร์มขึ้นมาแบบเหมือนทั้งตัวเลยอย่างเงี้ยค่ะ รักษาด้วยการกินสเตียรอยด์เป็นเดือนเลยนะคะโดยแบบไม่รู้สาเหตุ ไปหาคุณหมอ ก็คือคุณหมอยุคนั้น 10 กว่าปีก่อน เค้าจะไม่พูดเรื่องพวกลําไส้ หรือว่าอะไรเกี่ยวกับระบบภายในของร่างกาย เค้าจะมองเป็นโรคผิวหนัง แล้วก็รักษาแบบโรคผิวหนัง ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่ดีมากๆ เคยเป็นหนักๆ แล้วก็เป็นคนที่เครียดง่ายด้วย พอเรามีอะไรที่เข้ามาในชีวิต ต้องจัดการเยอะ เราเริ่มมีความเครียดโดยที่เราไม่รู้ตัวแล้วก็สะสมด้วยกลายเป็นคนนอนยาก แล้วก็กลายเป็นสุขภาพไม่ดี พอนอนไม่ดี สุขภาพไม่ดี เราเป็นนานๆ เรื้อรังนานๆ เข้าเนี่ย เราก็เป็นโรคจุกจิก เช่น ที่เห็นชัดก็คือเกี่ยวกับผิวหนังกับการนอนน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ แล้วพอหาหมอก็รู้สึกว่ามันปลายเหตุ แต่ยุคนี้มียูทูปแล้ว เราก็เริ่มหาฟังยูทูบทั้งในและต่างประเทศ เราก็เริ่มเอาตัวเองเข้าไปในโลกของ Plant Based กับ Anti-Aging ค่อยๆ blend เข้าไป มันทําให้เราเอาจากหลายๆ แหล่งมาตกผลึกรวมกัน แล้วเราก็ลองนํามาปรับใช้ เรารู้สึกว่า นี่มันคือวิทยาศาสตร์สุขภาพ เราไม่เคยรู้มาก่อนแล้วมันเป็นอะไรที่ไม่ได้ใช้เงินทองอะไรเลย แค่เราต้องศึกษาแล้วก็ปรับตัวเรา”
“ก่อนจะขยายความคํานี้ จริงๆ มันมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เผอิญเข้ามา เพลินเป็นคนที่มีหน้าที่พาคุณพ่อ คุณแม่ ไปหาหมอ แล้วได้ฟังคุณหมอเยอะๆ พอเราฟังเรื่องสุขภาพของพ่อแม่ คุณหมอแต่ละท่านเนี่ย เวลาคนป่วย เค้าก็จะบอกว่าป่วยเป็นอวัยวะใช่ไหมคะ คนอายุมากใช่ไหม ป่วยที่กระดูก ป่วยที่กล้ามเนื้อ ป่วยที่ตา ป่วยที่หัว ป่วยที่เส้นประสาทนะ ป่วยเป็นจุดๆ แล้วก็จะหาคุณหมอเป็นจุดๆ ป่วยเรื่องนี้ก็ไปคุณหมอแผนกนั้น ป่วยเรื่องนั้นก็เป็นคุณหมอแผนกนี้ เราก็จะฟังเรื่องราว แล้วก็คุณหมอก็จะจ่ายยามา เพลินก็มีหน้าที่บริหารจัดยาให้คุณพ่อคุณแม่ เพราะว่ามันเยอะมากเขาไม่สามารถจะหยิบยาเป็น 10 อย่าง เพลินก็เลยจะอยู่กับวงจรหมอสมัยใหม่ แต่ทําไมพอเรามาฟังเรื่อง Anti-Aging กับอาหาร Plant Based เค้าไม่ได้มองมันเป็นอวัยวะ เค้ามองร่างกายมนุษย์เป็นองค์รวมทั้งหมด แล้วก็มีฮอร์โมนเป็นสิ่งสําคัญเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งหมอสมัยใหม่มักไม่ค่อยพูดถึงเลย แต่ด้วยความที่ตัวเรายังไม่ได้ป่วยขนาดจะต้องไปกินยาเยอะๆ อย่างงั้น เราก็เลยเหมือนเราอยู่ในช่วงอายุของการป้องกัน ก็เลยฟังข้อมูลพวกนี้แล้วเอาไปปรับใช้ ถามว่าวิทยาศาสตร์สุขภาพคืออะไร เพลินคิดว่าน่าจะเป็นการที่ข้อมูลเหล่านี้มันเป็นข้อมูลที่มาจากการวิจัย แล้วการวิจัยเค้าไม่ได้อยู่นิ่งก็คือโดยเฉพาะในต่างประเทศ เค้าก็จะมีการวิจัยในทุกๆ ปี เพราะมันก็จะมีเรื่องใหม่มาจริงๆ มันมาตลอดเวลาเลยในทุกๆ เรื่อง สิ่งที่เคยรู้ว่าแบบนี้ พอสักพักนึงมันก็จะมีเรื่องเป็นงานวิจัยใหม่มาที่อาจจะบางทีสิ่งที่เคยวิจัยไว้ อาจจะไม่ใช่แบบนั้นแล้ว หรือมีอะไรมาซัพพอร์ตมากขึ้นอะไรแบบนี้ มันก็เหมือนถ้าเราอยากจะดูแลสุขภาพตัวเองเราก็ศึกษาสักนิดนึงค่ะ แล้วก็เอามาปรับใช้ มันก็เป็นการช่วยในการป้องกันได้ในระดับนึง”
“จริงๆ มันมีหลายมุมมากเลยนะคะ ถ้าค้นไปทุกวันนี้ ข้อมูลมันอยู่ในอินเตอร์เน็ตเยอะแยะเลย ถ้าไปหานะก็คือจะต้องรู้ละว่าทานพืชเนี่ยดี อาจจะบางคนหันมาทานผักโดยที่ไม่แตะสัตว์เลย หรือว่าจะแตะสัตว์น้อยลง แต่ก็จะไม่มีข้อมูลที่ว่าให้เลิกกินพืชเถอะมากินสัตว์อย่างเดียวอันนี้มันจะไม่มี ใช่มั้ย มันก็จะมีแต่ว่าให้กินพืชมากขึ้น ก็คือมันมีให้เห็นอันแรกเลยก็คือว่ามันมีกากใยเยอะ
สมมติอย่างโปรตีนจากพืช เราหาได้จากถั่วธัญพืชซึ่งเป็นโปรตีนจากพืช เค้ามาคู่กับไฟเบอร์ซึ่งเป็นกากใยซึ่งมันดีมากต่อลําไส้ มันช่วยบํารุงลําไส้ซึ่งเป็นสมองที่สองของร่างกาย ลําไส้ดี สมองดี การทํางานต่างๆในร่างกายก็ดี แต่ว่าถ้าเราเน้นทานโปรตีนสัตว์มากจนเกินไป เค้าไม่มีไฟเบอร์เลยนะ เพลินคิดว่าเราก็บาลานซ์บ้าง ลดตรงนั้นบ้าง หรือถ้าโปรตีนสัตว์ก็อาจจะลดเหลือโปรตีนเนื้อขาวที่เป็นโปรตีนคุณภาพหรืออาหารทะเลอะไรแบบนี้ อาจจะเนื้อแดงเลี่ยงไปได้มั้ยอะไรอย่างนี้ แต่ว่าโปรตีนสัตว์เนี่ยจริงๆ มันเป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจําเป็นครบทุกชนิด แต่โปรตีนพืชเนี่ยอาจจะมีเป็นบางอย่างเท่านั้นที่มีกรดมิโนจําเป็นครบทุกชนิด เพราะฉะนั้นการกินโปรตีนจากพืชเราจะต้องกินพืชให้หลากหลายเพื่อที่จะได้มิกซ์กรดอะมิโนให้ผสมผสานกันแล้วเราจะได้กินโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจําเป็นครบทุกชนิดเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย”
“อย่างเช่น ข้าวกับถั่วง่ายสุดเลย อย่างเพลินก็คือจะง่ายๆ เลย จะเอาข้าวมาหุงไปกับถั่วเลย จะเป็นถั่วที่ต้มสุก สะดวกก็ต้มเอง ไม่สะดวกก็ใช้ถั่วกระป๋อง คนไทยทานข้าวเป็นหลักอยู่แล้ว ทุกครั้งที่เราตักข้าวมาไม่ว่าเราจะกินกับเป็นอะไร เราก็จะได้โปรตีนจากถั่วกับข้าวที่ผสมผสานกันแล้วมีคอมพลีทโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจําเป็นครบทุกชนิดละ”
“ก็จริงๆ อยากให้เน้นทานเป็นถั่วเปลือกอ่อน จริงๆ การทานอาหารที่ดีก็คือเราควรจะทานให้หลากหลาย เพราะอาหารแต่ละอย่างเค้าก็จะมีประโยชน์ที่ไม่เหมือนกันอย่างพืชเนี่ยเค้าก็จะมีพฤกษเคมีใช่มั้ยคะ แล้วก็แต่ละสี เค้าก็จะมีประโยชน์ที่ไม่เหมือนกัน การที่เรากินอาหารหลากสีก็จะได้ประโยชน์จากสารนู้นสารนี้ผสมผสานไป เราควรจะทานอาหารให้หลากหลายแม้แต่กระทั่งถั่ว ก็ควรกินถั่วให้หลากหลายค่ะ”
“มีค่ะ รสชาติถั่วยังไงก็ไม่มีวันเหมือนเนื้อค่ะ แล้วคือถ้าเรามองอาหารไทย คือคนไทยจะกินถั่วเป็นของหวาน อย่างเช่น เราเอาถั่วเขียวมาต้มน้ําตาลใช่ไหมคะ หรือว่า ถั่วดําบวชกินกับข้าวเหนียวมูน หรือว่าถั่วเหลืองเป็นไส้ของขนมเปี๊ยะใช่มั้ยคะ แต่เราจะไม่ค่อยนึกถึงแบบต้มแกงยําอะไร หรือผัดอะไรที่เอาถั่วไปเม็ดๆ ไปผัด แต่อาหารอินเดียเค้าจะถั่วอยู่แล้ว เค้าก็ง่ายเลย เค้าโตมาแบบนั้น เค้าจะคุ้นชินกับอาหาร แค่ไปหาข้อมูลอาหาร Plant Based เนี่ยจะเจอเว็บไซต์อินเดียขึ้นมาเยอะมากเลยค่ะ
ส่วนตัวเพลินนะคะ จะเริ่มจากเราเป็นคนชอบทานอาหารไทยมากสุดแล้ว เพลินก็จะทานอาหารไทยเหมือนเดิมนี่แหละ แต่เปลี่ยนจากใช้เนื้อสัตว์เป็นถั่วแทน อย่างเช่น แพนงถั่วลูกไก่ หรือผัดกระเพราเต้าหู้ หรือว่าบางทีเราก็ใช้เห็ด คือใช้ถั่ว ใช้เห็ด แต่ถั่วเนี่ยมันจะอยู่ทั้งหนึ่งในรูปแบบเป็นเม็ดๆเลย สองเป็นเต้าหู้ เป็นฟองเต้าหู้ เป็นเทมเป้ อีกอย่างที่โปรตีนสูงถึง คือควินัว หุงข้าวทานกับควินัว ข้าวหุงกับควินัว กับถั่วธัญพืช หรือบางทีถ้าเราไม่ได้สะดวกต้องไปหุงอย่างงั้นนะ คือเอาว่าสมมุติชีวิตเราผูกกับเซเว่นนะ ไม่เป็นไรเลยนะ ง่ายมากเลย เราซื้อข้าวกล้องเซเว่นมา เรามีถั่วกระป๋องอยู่ที่บ้าน ควินัวหุงสุกแล้วเดี๋ยวนี้ก็มี แทนที่เราจะตักข้าวสองทัพพี อ่ะตักข้าวทัพพีเดียวพอตักถั่วสักครึ่งทัพพี ควินัวอีกสักครึ่งทัพพี อย่างเนี้ยได้แล้ว ทานกับกับข้าวปกติอย่างเงี้ยได้ได้แพลนท์เบสไปแล้ว 50% ละ”
“ค่ะ เพลินก็คิดว่าคนกิน Plant Based ไม่ควรทานอาหารแปรรูปมากจนเกินไป ส่วนตัวเพลินนะคะ คิดว่าถ้าทานอาหาร Plant Based แปรรูปมากๆ แบบแปรรูปเป็น ultra process food ไปทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ที่มันเป็นเนื้อสัตว์แบบคลีนๆ น่าจะยังดีกว่า คือถ้าเป็นแปรรูปมากๆ อย่างพวกเนื้อสัตว์ก็จะเป็นพวกไส้กรอก เบคอน แฮมอะไรพวกนี้ ซึ่ง Plant Based ก็มีเหมือนกัน แต่ว่าก็ไม่ใช่ว่าแบบโอ้โห…เราจะ strict กับชีวิตเรามาก คือในบางครั้งมันก็คือทานได้ หรือว่าเป็นช่วงที่เรารีบเร่ง หรือว่าบางทีอยากกินอร่อย อยากเปลี่ยนบรรยากาศ หรือว่าเราไม่เคยลองอาหาร Plant Based เลย เราค่อยๆ ขยับสเต็ปเปลี่ยนเป็นมากิน Plant Based แต่เป็น process หน่อยนะ แล้วค่อยปรับคุณภาพ ลด process food ลง เพิ่มเป็นเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติมากขึ้นอย่าง ค่อยๆ ปรับไปค่ะ”
“ต้องทานโปรตีนให้ถึงค่ะ โปรตีนมันอยู่ในถั่วและธัญพืช ถ้าแบบสมมุติเคสที่ไม่ทานเนื้อสัตว์เลย ไม่แตะผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย ก็คือถั่วและธัญพืชต้องถึง แล้วก็อาจจะเสริมด้วยโปรตีนเชคก็แล้วแต่ความสะดวก ก็ต้องแล้วแต่วิถีชีวิตของแต่ละคน อีกอย่างก็คือวิตามินบี 12 ค่ะ ที่ควรจะทานเสริมเพราะว่าวิตามินบี 12 เนี่ยมันหาไม่ค่อยได้จากพืช ก็คือคนที่ทานอาหารวีแกน Plant Based ควรจะทานวิตามินบี 12 เสริม ซึ่งวิตามินบี 12 มันอยู่ในไหนบ้างส่วนใหญ่มันจะอยู่ในผลิตภัณฑ์จากสัตว์”
วิตามินบี 12 เป็นสารอาหารสำคัญที่พบได้มากในอาหารจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ปลาและอาหารทะเล ไข่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงตับและเครื่องในสัตว์ สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารแบบ Plant Based มังสวิรัติ หรือวีแกน ควรเลือกรับประทานอาหารที่เสริมวิตามินบี 12 เช่น นมถั่วเหลืองหรือซีเรียลที่มีการเสริมวิตามิน หรือเลือกใช้อาหารเสริมวิตามินบี 12 โดยตรง สำหรับใครที่ตั้งใจจะกินในระยะยาวก็ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และอาจต้องตรวจระดับวิตามินบี 12 ในเลือดเป็นระยะ เพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามินซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวนั่นเองค่ะ
“ถ้าสไตล์เพลินนะคะ แนะนําว่าอย่าเพิ่งเริ่มกินให้เริ่มหาความรู้ก่อน เพราะว่าพอเรารู้มันจะทําให้เราเปิดใจค่ะ แล้วสุดท้ายเราไม่ได้ต้องไปหา ไม่ต้องไปสร้างกฎเกณฑ์กระบวนการอะไรเลยเพราะว่าพอเราเริ่มมีความรู้ปุ๊บ เราจะเริ่มมีภาพฝันอะไรบางอย่างว่าถ้าเราเปลี่ยนแปลงตรงนั้นตรงนี้นะ เราจะเริ่มตั้งเป้าหมาย แล้วพอเราเริ่มมีเป้าหมายเราก็จะเริ่มขยับตัวเองเล็กๆ ไปทีละเรื่อยๆ หาข้อมูลหาความรู้ก่อนเลยค่ะ”
คุณเพลินเล่าต่อว่า “ปีนี้โอลิมปิกที่ประเทศฝรั่งเศส เค้าเสิร์ฟอาหาร Plant Based นะคะ แล้วเค้าก็โปรโมทนักกีฬาวีแกนเยอะมาก นักกีฬาที่เป็นแบบระดับยกน้ําหนัก เล่นกล้าม หรือวิ่งมาราธอน หรืออะไรพวกนี้ แต่เค้าศึกษานะ เค้าต้องเค้าต้องศึกษา Nutrition ทํายังไง เค้ายังสามารถมีกําลังพอที่จะไปแข่งขันกีฬา ฝึกซ้อมแล้วก็ได้กล้ามเนื้อ เพราะฉะนั้นเพลินก็ว่าเพลนต์เบสมันออกแบบมาให้ยืดหยุ่นเหมาะสําหรับการเริ่มต้นค่ะ”
“เพลินรู้แต่ว่า เขาจะมีบลูโซน คือประเทศที่คนอายุเกิน 100 ปี เป็นจํานวนมาก แล้วก็พอเขาไปศึกษาเนี่ยส่วนใหญ่คนในประเทศพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งมันไม่ได้เป็นทั้งประเทศค่ะ มันมักจะเป็นพื้นที่นึงอย่างเช่น ที่ญี่ปุ่นก็คือแถวโอกินาวา แล้วก็ประเทศอื่นถ้าไปศึกษาอาหารเค้าก็จะเป็นแนวเมดิเตอร์เรเนียน Plant Based ประมาณนี้ค่ะ แล้วเค้าก็จะมีวิถีชีวิตที่แบบมีไลฟ์สไตล์ที่ใช้ชีวิตกลางแจ้งแบบชอบออกกําลัง ไปปลูกผักไป เดินเข้าไปในป่า ออกกําลังกายแบบมีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติแล้วก็ไม่ค่อยเครียด”
“มีโอกินาวาที่ประเทศญี่ปุ่น อิคาเลีย ที่กรีซ โลมา ลินดา ที่แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ซาร์ดิเนียร์ อิตาลี นิโคยา คอสตาริกาค่ะ อันนี้ 5 พื้นที่ แล้วก็มีที่เพลินทําไปเรื่องสิงคโปร์ ก็คือเค้ามีคนอายุยืนค่อนข้างอายุยืนมาก ก็เลยไปศึกษาเค้าใช้ชีวิตกันยังไงนะถึงได้อายุยืนแต่จริงๆ แล้ว หลังจากการศึกษาพบว่า คนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาก็เพี้ยนไป เช่น ตอนนี้ถ้าเราไปอ่านคอนเทนต์ของโอกินาวาเขาจะบอกว่า คนรุ่นใหม่เริ่มไม่ได้อายุยืนอย่างนั้นแล้ว ก็คือเขาก็จะได้วัฒนธรรมการกินของตะวันตกมาอะไรอย่างนี้ ก็เริ่มมีฟาสต์ฟู้ดเข้ามา”
“จริงๆ ได้เยอะนะคะ คืออันนึงที่ว่าเป็นเป้าหมายของแต่ละคนคือคงไม่ได้อยากมีอายุยืนแบบไม่มีคุณภาพ คือต้องมีอายุยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี หมายถึงว่าช่วงที่เราอายุมากแล้วเนี่ยแต่ว่าเราไม่ป่วยเร็วจนเกินไป ยังมีไลฟ์สไตล์ที่มันทําให้เราแฮปปี้ได้ เพลินเคยได้ฟังสัมภาษณ์ใครเพลินจําไม่ได้แล้วนะ เค้าบอกว่าเหมือนเค้าอายุ 80 แล้วนะเค้าจะยังไปต่างประเทศได้ยกกระเป๋าขึ้นไปเก็บด้วยตัวเองได้เดินเหินเองได้อะไร เป้าหมายแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน สมมติคนที่พูดแบบเนี้ยแสดงว่าเป็นคนชอบเที่ยว หรือสมมุติถ้าคนชอบขี่จักรยานก็อาจจะบอกว่าตอนตัวเองที่อายุ 80 แล้ว ยังสามารถขี่จักรยานกี่กิโลๆ ได้ ยังสามารถอุ้มหลานได้ ไม่เป็นภาระของลูกหลาน ไม่ดึงทั้งเงินแล้วก็เวลาของลูกหลานมา เลยคิดว่าอันเนี้ยมันก็น่าจะเป็นเป้าหมายของใครหลายๆ คน
แล้วคือชีวิตในโลกยุคทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เราอยู่กับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ อะไรๆ ก็ควบคุมยากมากเลย แต่เรื่องกินน่ะ มันเป็นเรื่องนึงที่ไม่มีใครมาบังคับเราได้ เราเอาอะไรเข้าปากเรา ประเภทไหน เมื่อไหร่ มากน้อยแค่ไหน มันควบคุมตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะฉะนั้นอย่างน้อยมันเป็นปัจจัยหนึ่งที่เราควบคุมได้ เราก็ควบคุมนะคะ อะไรที่เราควบคุมไม่ได้ มันจะได้ไม่มาดึงชีวิตเราลงมากจนเกินไปนักค่ะ”
“เพลินช่วง 30 เป็นช่วงที่มีลูกก็ทํางานที่บ้านกับเลี้ยงลูก แต่ว่าช่วง 40 ที่ลูกโตขึ้นมามากขึ้นก็ได้มาทํางานที่ตัวเองส่วนที่ตัวเองเรียนมาก็คือเรื่องการตลาดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ลูกเริ่มโตก็มาลงลึกเรื่องที่ตัวเองสนใจมากขึ้น“
“เพลินมีน้องปอมคนนึงนะคะ เอาแล้วว่าตอนนี้เค้าเป็นลูกสาวคนเล็ก มีเค้าเมื่อเมื่อ 4 ปีครึ่งที่แล้ว ทั้งชีวิตเพลินไม่เคยมีสัตว์เลี้ยง คือพ่อแม่จะสอนมาให้กลัวหมา ต้องหนีแต่ว่าพอเพลินมีลูกสาวคนเล็ก เค้าไปเจอน้องปอมชื่อแซลมอนแล้วเค้าก็มีความฝันว่าเค้าอยากเลี้ยง เค้าขอมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน แล้วเราไม่ให้จนกระทั่งผ่านมา 10 ปี และตอนนั้นเค้าน่าจะประมาณ 16 แล้ว ซึ่งเค้าก็โตแล้ว น่าจะมีความรับผิดชอบที่จะดูแลได้ค่ะ เพลินก็เลย ตัดสินใจให้เลี้ยง เราเคารพความคิดเห็นของเค้า พ่อลูก 3 คนเค้าโอเคกันหมด เพลินก็ต้องตามนั้น ได้มาไม่ถึงสองอาทิตย์โอ้โห…มันทําให้รู้สึกถึงความเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง น้องมาปุ๊ป โควิดเลย เราเลยรู้สึกว่าเออเนี่ยนะ มันก็ดีนะเรามาทานอาหารเน้นพืชมากขึ้น เราก็รู้สึกว่าเหมือนเราได้รู้สึกฟีลกู๊ดที่ได้ทําอะไรดีๆ ไม่เบียดเบียนสัตว์มากจนเกินไป มันเป็นไทม์มิ่งที่ได้กันพอดีเลย”
“สุขภาพดีขึ้น การขับถ่ายเนี่ยคือเปลี่ยนเลย คือถ้าใครที่ทานเนื้อสัตว์เยอะๆ นะคะแล้วลองปรับมาทาน Plant Based สิ่งแรกที่คุณจะรู้สึกได้เลยคือการขับถ่าย ต้องเป็นแพลนต์เบสที่ถูกถูกวิธีด้วยนะ ที่ถูกวิธีก็คือ ไม่ควรทานน้ําตาลเยอะ เลี่ยงได้ดีเลี่ยงไปเลย แล้วก็ไม่ควรจะทานน้ํามันสกัดเยอะด้วยค่ะ คือใช้ได้บ้างแต่น้อยเพราะสูตรอาหาร Plant Based แบบ healthy มันจะทําให้เราน้ําหนักลงอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องลดน้ําหนักและไม่ต้องทนหิว เราเคยกินสามมื้อ กินสามมื้อเลยค่ะ กินกี่มื้อก็ได้ตามที่เคยกินไม่ต้อง IF ด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ต้องอด ขับถ่ายดีไปสักระยะนึงลําไส้ก็จะดี ลําไส้ดีไปสักระยะหนึ่ง สมองก็จะดี การนอนหลับก็จะดีขึ้น
เดี๋ยวนี้คนชอบเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ อาหารนี่มีความสัมพันธ์กับจิตใจด้วยนะ คือเดี๋ยวนี้คนเป็นโรคแบบซึมเศร้าเอย อะไรเอย หลายๆ เรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ถ้าเราปรับอาหารนะ มันไม่ได้แทนยาได้นะ แต่ว่าการปรับอาหารทําให้สุขภาพองค์รวมของเราดีขึ้น แล้วก็มันจะทําให้เรามีสุขภาพใจที่ดีขึ้นด้วย”
“จริงๆ น่าจะอยากขอบคุณ คุณพ่อคุณแม่มากกว่าค่ะ ถ้าไม่มีเค้าก็ไม่มีเรา เพลินคิดว่าขนาดเราอายุ 50 แล้ว เค้า 80 กว่าแล้ว เพลินยังไม่รู้ ยังนึกไม่ออกเลยนะว่าตัวเองอายุ 80 กว่าเนี่ยเราจะยังห่วงลูกได้เท่าเค้ามั้ย คือแต่เรายังไม่ถึงจุดนั้น โอเค เราก็รักลูกแหละ แต่ว่าเราเห็นว่าพ่อแม่เราเนี่ย เค้ารักเรามาก แล้วก็ห่วงเราจนถึงแม้ว่าในวันที่เค้าควรจะห่วงตัวเองนะ แต่เค้ากลับห่วงเราเสียมาก ก็เลยมองว่าอยากจะขอบคุณเค้าก่อนจะขอบคุณตัวเองอะ อันนี้มากกว่า”
เป็นยังไงกันบ้างคะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว มีใครที่รู้สึกอยากจริงจังกับเรื่องการเติมพืช กินโปรตีนจากพืชให้มากขึ้นในมื้ออาหารกันบ้าง ? ส่วนใครที่กินแพลนต์เบสอยู่แล้ว อยากลองปลูกผักเอาไว้กินเองที่บ้าน อาจเริ่มจากไฮโดรโปนิกส์จากของเหลือใช้ที่บ้านก็ได้นะคะ แล้วมาสนุกกับการดูแลสุขภาพไปด้วยกันนะคะ 🙂
Inspire Now ! : สุขภาพกาย กับสุขภาพใจ เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน และอาหารก็เป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนการใช้ชีวิตของเราค่ะ ฝรั่งเค้าจะมีประโยคที่ว่า You are what you eat ! คำนี้ไม่ได้มีไว้แค่พูดเท่ๆ แต่มันคือเรื่องจริงที่คุณสามารถเลือกของที่จะกินเข้าไปได้ และแน่นอนเมื่อเรากินอะไรเข้าไป สุขภาพเราก็เป็นอย่างนั้น มาดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยการสนุกกับการเติมพืชในมื้ออาหารของคุณกันนะคะ |
---|
สำหรับใครที่อยากได้ไอเดียเติมผักในมื้ออาหาร และความรู้ด้านสุขภาพกับการกิน Plant Based เพิ่มเติมสามารถติดตามคุณเพลินกันต่อได้ที่ Pin to Plant มีให้เลือกติดตามหลายช่องทางเลยค่ะ ลองกดติดตามกันได้เลยนะคะ
DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันอยากเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมหรือเปล่า ? อ่านจนจบแล้ว มีใครอยากจะเริ่มกินแพลนต์เบส กันบ้างแล้วหรือเปล่าคะ คอมเมนต์มาพูดคุยกันนะคะ ♡
Mindfulness คือ อะไร รู้จักการฝึกสติเพื่อบริหารความคิด อารมณ์จิตใจ ให้มีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดีขึ้น ชวนมาเข้าใจ และฝึกไปพร้อมๆ กัน
ชวนทุกคนมาเรียนรู้ว่าการ รักตัวเองคือ อะไร มาฝึก และรู้จักความรักที่ดีที่สุดไปกับนักจิตวิทยาการปรึกษา มาเข้าใจตัวเอง และบอกรักตัวเองให้เก่งขึ้นกัน
Gratitude คืออะไร ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณสิ่งรอบตัวทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร ชวนรู้จัก และฝึกเป็นหนึ่ง mindset ที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นอย่างยั่งยืนกัน