“เหมือนฝนตกตอนหน้าแล้ง เหมือนเห็นสายรุ้งขึ้นกลางแจ้ง” ใครที่กำลังมีความรัก หรือเคยประสบพบเจอกับการตกหลุมรัก จะต้องเข้าใจดีว่าในโมเมนต์นั้น เราต่างก็มีคำถามขึ้นในใจว่า รักคืออะไร ? ความรัก เป็นแบบไหนกันแน่นะ ? นี่ใช่ความรักจริงๆ หรือเปล่า ? ความหมายของความรัก คืออะไร ? ซึ่งนอกเหนือไปจากบทเพลงแสนโรแมนติกที่ให้นิยามความหมายของความรักแล้ว ในทางจิตวิทยา ก็มีการอธิบายเกี่ยวกับความรักไว้เช่นกัน ทั้งนี้ ได้มีการแบ่ง ประเภทของความรัก ออกเป็นหลายรูปแบบ ตามทฤษฎี “สามเหลี่ยมแห่งความรัก” ของนักจิตวิทยาที่ชื่อ Robert Sternberg ถ้าอยากรู้ว่าความรักของเราเป็นแบบไหน และคนเรารักกันได้แบบไหนบ้าง ? ก็ไปค้นหาตำตอบของความรักพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ประเภทของความรัก และทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งรัก คนเรารักกันแบบไหนบ้างนะ ?
ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับความรักในรูปแบบต่างๆ ขอพูดถึงทฤษฎีความรัก จิตวิทยา ของ Robert Sternberg อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาจาก Yale University ซึ่งได้แบ่งองค์ประกอบของความสัมพันธ์ที่ก่อเกิดเป็นความรักไว้ 3 ประการ เรียกว่า “ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก” หรือ Triangular Theory of Love อันประกอบไปด้วย
Image Credit : psychopedia.in
Intimacy หรือ ความสนิทสนม เป็นความรู้สึกใกล้ชิด รู้สึกถึงสายใยที่มีต่อกัน เกิดเป็นความเข้าใจกันและกัน มีความห่วงใยให้กัน ไว้วางใจต่อกัน
Passion หรือ ความหลงใหล เป็นความเสน่ห์หา ความหลงใหลในตัวบุคคล หรือเป็นแรงดึงดูดทางเพศนั่นเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว องค์ประกอบส่วนนี้จะอยู่ในความรักแบบคู่รักหรือเป็นรักเชิงโรแมนติก
Commitment หรือ ความผูกพัน เป็นการผูกมัดอันเกิดจากการอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลานาน หรือมีการทำสัญญาร่วมกันว่าจะใช้ชีวิตด้วยกัน
ในตอนนี้เราก็ได้รู้จักองค์ประกอบของความรักตามทฤษฎี Triangular Theory of Love แล้ว ประเภทของความรักแต่ละแบบนั้น ล้วนมีองค์ประกอบดังกล่าวอย่างน้อย 1 องค์ประกอบในรูปแบบความรัก ซึ่งสามารถแบ่งได้กี่ประเภทนั้น ไปดูกันเลยค่ะ
[affegg id=4476]
1. Friendship หรือความรักแบบมิตรภาพ
Image Credit : pexels.com
ความรักประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อมีความสนิทสนมกันหรือมีความรู้สึกถูกใจอีกฝ่าย อาจเป็นเพราะมีความชอบคล้ายกัน หรืออยู่ด้วยแล้วรู้สึกสนุก มีความสุข มีความใกล้ชิดกัน ช่วยเหลือกัน แต่ไม่ได้มีความรู้สึกหลงใหลหรือมีความรู้สึกในเชิงโรแมนติกต่อกัน ซึ่งความรักแบบมิตรภาพนั้น อาจเป็นต้นกำเนิดของความรักในรูปแบบอื่นๆต่อไปได้
2. Infatuation หรือรักแบบลุ่มหลง
ความรักแบบลุ่มหลง เป็นความรู้สึกถูกดึงดูดจากอีกฝ่าย เป็นแรงดึงดูดอันแรงกล้าโดยปราศจากความรู้สึกผูกพัน และยังไม่ถึงขั้นใกล้ชิดสนิทสนม แต่ก็หลงอีกฝ่ายไปเรียบร้อยแล้ว เช่น การตกหลุมรักอีกฝ่ายโดยไม่ทันตั้งตัว หรือเป็น “รักแรกพบ” ที่ทำให้รู้สึกใจสั่น ตื่นเต้น หัวใจเต้นแรงเพียงแค่ได้เห็นหน้าหรือสบตา
3. Empty Love หรือรักที่ว่างเปล่า
ระเภทความรักในรูปแบบนี้ จะมีเพียงแค่ความผูกพันเท่านั้น โดยไม่มีความรู้สึกอยากใกล้ชิดหรือมีความรู้สึกหลงใหลใดๆ ซึ่งความรักประเภทนี้ บางครั้งพบในคู่รักที่แต่งงานกันมาหลายปีแล้วความรักความลุ่มหลงหมดไป หรือมีความสัมพันธ์กันมานานจนไม่รู้สึกหลงใหลอยากใกล้ชิดกันอีก ซึ่ง Sternberg ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ในความสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักเคยชินกับความรักแบบนี้มากที่สุด เพราะอยู่กันด้วยความรู้สึกคุ้นเคย เคยชิน เหลือแต่ความผูกพัน แต่ไม่มีความรักให้แก่กัน และมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ใกล้จะสิ้นสุดความสัมพันธ์หรือเลิกรากันไป แต่ในบางคู่ก็ยินดีที่จะอยู่กันแบบนี้ เหมือนคู่รักที่แต่งงานกันมานานและอยู่เป็นเพื่อนกันโดยปราศจากความรู้สึกโรแมนติกต่อกัน เป็นต้น
4. Romantic Love หรือ รักแบบโรแมนติก
Image Credit : pexels.com
ประเภทความรักแบบนี้ จะประกอบไปด้วย Passion และ Intimacy คือ มีความหลงใหลและมีความใกล้ชิดสนิทสนม มีความลึกซึ้งทางอารมณ์และความรู้สึกต่อกัน เต็มไปด้วยความเสน่ห์หา อยากอยู่ใกล้กันตลอดเวลาหรือมีช่วงเวลาหวานๆ ด้วยกัน มักพบในคู่รักที่กำลังคบกันใหม่ๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นมีความผูกพันระยะยาวต่อกัน โดย Sternberg เปรียบความรักแบบนี้ว่า เป็นความรักของ “โรมิโอกับจูเลียต” ซึ่งมีความรักความหลงใหลให้แก่กันอย่างมาก
[affegg id=4477]
5. Companionate Love หรือ รักแบบญาติมิตร
Image Credit : pexels.com
ความรักแบบนี้ เป็นประเภทความรักในเชิงความสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตร หรือเพื่อนสนิทที่มีความผูกพันและมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน แต่ไม่ได้มีความรู้สึกหลงใหลหรือลุ่มหลงต่อกัน ซึ่งแข็งแกร่งกว่าความรักแบบที่ 1 หรือความรักแบบมิตรภาพ เพราะมีความผูกพันระยะยาวอยู่ด้วย อาจเป็นความรักในครอบครัว เช่น ความรักระหว่างพี่น้อง ความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือปู่ย่าตายายกับหลานๆ หรือความรักระหว่างเพื่อนสนิทที่รู้จักกันมานานหลายปี ทั้งนี้ ประเภทของความรักในรูปแบบนี้อาจพบในคู่แต่งงานที่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ แล้วไม่มีแรงดึงดูดทางกายภาพต่อกัน แต่ยังมีความรักความผูกพันให้แก่กันอยู่ หรือเปลี่ยนมาเป็นเพื่อนสนิทแทนการเป็นสามีภรรยากัน เป็นต้น
6. Fatuous Love หรือ รักลวงตา
ในความรักประเภทนี้ จะประกอบไปด้วยความหลงใหลและความผูกพันที่ “สร้างขึ้น” โดยปราศจากความใกล้ชิดสนิทสนมหรือยังไม่รู้จักคุ้นเคยกันดี เป็นความสัมพันธ์ที่ตกลงปลงใจกันอย่างรวดเร็วเพราะเกิดความหลงใหลในกันและกัน โดยปราศจากการทำความรู้จักกันให้ดีเสียก่อนที่จะตกลงสานสัมพันธ์กันในระยะยาว เช่น ในคู่รักที่พบกันภายใน 1 เดือนและแต่งงานกันในเดือนถัดมา ซึ่งก็มีโอกาสที่จะล้มเหลวในชีวิตคู่หรือยังไม่ใช่ความรักที่แท้จริง เพราะขาดการใช้เวลาในการพัฒนาความสัมพันธ์และไม่ได้ทำความรู้จักกันให้ดีอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่รักที่ตกลงปลงใจกันในเวลาอันรวดเร็วแล้วชีวิตคู่ไม่มีความสุข กันทุกคน เพียงแต่เป็นความรักประเภทหนึ่งที่ Sternberg เห็นว่า ไม่ใช่ความรักที่แท้จริง แต่เป็นความรักแบบหุนหันพลันแล่นค่ะ
7. Consummate Love หรือ รักที่สมบูรณ์แบบ
Image Credit : pexels.com
ประเภทของความรักแบบนี้ เป็นความรักที่สมบูรณ์แบบในทฤษฎีความรัก จิตวิทยาของ Sternberg เพราะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบคือ ความหลงใหล ความใกล้ชิดสนิทสนม และความผูกพัน และยังเป็นความรักในอุดมคติของใครหลายคนอีกด้วย เพราะมีทั้งความรักในเชิงโรแมนติก มีความใกล้ชิดสนิทสนมต่อกัน รู้ใจกันและกัน รู้จักอีกฝ่ายเป็นอย่างดีและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดูแลกันและกัน และยังมีความผูกพันระยะยาวในความสัมพันธ์อีกด้วย ซึ่งในคู่รักที่มีความรักแบบสมบูรณ์แบบนี้ ก็จะเป็นคนที่มีความสุขในชีวิตคู่ หรือเป็นคู่แต่งงานในอุดมคติที่ใครๆ ก็อยากเป็นแบบนั้น เช่น คู่รักที่แต่งงานกันมายี่สิบสามสิบปีแต่ยังหวานกันอยู่ หรือคู่รักในผู้สูงอายุที่ยังคงมีความโรแมนติกต่อกัน เป็นต้น
รูปแบบความรัก ทั้ง 7 แบบนี้ เป็นเพียงการจัดประเภทของความรักตามแนวคิด Triangular Theory of Love ซึ่งแน่นอนว่า มีรูปแบบความรักรูปแบบอื่นๆ อีกมากมายบนโลกใบนี้ ที่อาจจะอยู่นอกเหนือจากความรักเหล่านี้ก็ได้ เพราะแต่ละคนก็ต่างนิยามความรักของตัวเองแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรู้สึกและประสบการณ์ความรักของตนเองทั้งสิ้น
[affegg id=4478]
Inspire Now ! : ทฤษฎีความรัก จิตวิทยาของ Sternberg ทำให้เราได้รู้จักความรักหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งแต่ละความสัมพันธ์นั้นก็จะประกอบไปด้วยปัจจัยต่างๆ แตกต่างกันไป บางความสัมพันธ์ก็มีแค่ความผูกพัน บางความสัมพันธ์ก็มีเพียงความลุ่มหลง แต่บางความสัมพันธ์ก็มีทั้งความรักใคร่ผูกพัน และใกล้ชิดสนิทสนมกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า เราสบายใจที่จะมีความรักแบบไหน หรืออาจะสบายใจในรูปแบบความรักที่อยู่เหนือนอกจากนี้ก็ได้ แต่ใดๆ คือ ต้องเป็นรักที่ทำให้เรามีความสุขมากกว่าความทุกข์ และเป็นรักที่ไม่เบียดเบียนใคร หรืออย่างน้อย ก็เริ่มต้นที่การ รักตัวเองคือ การมองเห็นคุณค่าตัวเองให้มากๆ เพราะก่อนที่จะรักใครได้ เราต้องเริ่มที่จะรักตัวเองเป็นอันดับแรกค่ะ
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันสบายใจ และอยากมีความรักดีๆ ใช่ไหม ? ความรักหลายรูปแบบและความสัมพันธ์ก็ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายส่วนเช่นกัน ความรักของคุณเป็นแบบไหนกันคะ แล้วรักแบบไหนที่เราอยากจะมี คอมเมนต์กันได้นะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : verywellmind.com, simplypsychology.org
Featured Image Credit : unsplash.com/Kristina Litvjak