มัดรวมสถานที่ บริจาคหนังสือ รับถึงบ้าน ส่งไปรษณีย์ก็ได้ พร้อมคำแนะนำเมื่อต้องส่งต่อหนังสือ !
ชวนบริจาคหนังสือ รับถึงบ้าน หรือ ส่งไปรษณีย์ นอกจากหนังสือก็สามารถรวมอย่างอื่นได้ ใครมีของเหลือใช้ อยากส่งต่อ ลองดู 10 สถานที่ที่เราแนะนำได้เลย
คุณคิดว่า “ความซื่อสัตย์” หมายถึงอะไรหรอคะ ?
เราลองเสิร์ชด้วยคำว่า “ซื่อสัตย์ หมายถึง” ใน google และเลือกผลลัพธ์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาค่ะ “คำว่า ซื่อสัตย์ ประกอบด้วยคำว่า ซื่อ แปลว่า ตรง และ สัตย์ แปลว่า จริง. ซื่อสัตย์ หมายถึง ประพฤติตรงโดยยึดถือความจริง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ปิดบังอำพรางสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ปั้นน้ำเป็นตัว”
แล้วประโยคที่ว่า “ประพฤติตรงโดยยึดถึอความจริง” คุณคิดว่าสำคัญกับชีวิตเราแค่ไหน ? ส่วนตัวแล้วเราคิดว่า หากคนเรามีความซื่อสัตย์ ก็จะนำพาสิ่งดีๆ มาให้กับชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านใดๆ ก็ตาม เพราะเมื่อเราซื่อสัตย์กับตัวเอง เราก็จะตอบคำถามตัวเองได้ว่าชีวิตเราต้องการอะไร เราจะเลือกสิ่งที่ดีกับเรา และทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นผลดีกับเราได้เก่ง และแน่นอนเมื่อเราซื่อสัตย์ ก็จะนำพาความสัมพันธ์ที่ดี ที่เฮลท์ตี้ต่อชีวิตเราเข้ามาได้ ลองถามตัวเองดูก็ได้ ว่าเราอยากเสวนากับคนที่ซื่อสัตย์ จริงใจ กับเรามากกว่าหรือเปล่า ?
สำหรับบทสัมภาษณ์ในเดือนแห่งวันสตรีสากลนี้ เราอยากชวนผู้อ่านไปรู้จัก อาชีพล่าม หนึ่งในอาชีพที่เราคิดว่าต้องใช้ความซื่อสัตย์กับตัวเองในการขับเคลื่อนค่ะ เพราะอาชีพนี้เกี่ยวข้องกับผู้คน และการถ่ายทอดสื่อความ เรียกได้ว่าต้องมีศิลปะในการถ่ายทอด และเข้าถึงใจผู้คนอย่างมากเลยทีเดียว และล่ามที่เราโอกาสพูดคุยกันในเดือนนี้ก็คือ คุณเมล่อน ณัฐรดา ศรีบัวทอง ล่าม พิธีกร และโค้ชสอนล่ามมากความสามารถ เราไปพูดคุยกับคุณเมล่อน พร้อมกับทำความรู้จักกับอาชีพล่ามกันเลยดีกว่าค่ะ
“สวัสดีค่ะ เมล่อน นะคะ ณัฐรดา ศรีบัวทองค่ะ ปีนี้เมล่อนอายุ 30 แล้ว ตอนนี้เมล่อนเป็นล่ามค่ะ เป็นโค้ชสอนล่าม เป็นพิธีกร เป็นวิทยากร แล้วก็มีประสบการณ์สอนมา 14 ปี ค่ะ เป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวมา 9 ปี แล้วค่ะ”
“ต่างกันนะ เมล่อนจะบอกแบบนี้ว่า เวลาที่เราเป็นล่าม จริงๆ เราคือเสียงของวิทยากร หรือเสียงของคนอื่นถูกมั้ยคะ ดังนั้นสมมุติ let’s say นะ ว่าเป็นงานบนเวทีเหมือนกันแบบนี้ คนที่คุมเวทีมันจะต้องเป็นพิธีกร หรือวิทยากรที่พูดอยู่ ซึ่งเราน่ะล่ามในสิ่งที่เค้าพูด สำหรับการเป็นล่ามน่ะค่ะ ก็คือเรา interpret ในสิ่งที่คนอื่นเค้าสร้างสารขึ้นมา แต่เวลาเราเป็นพิธีกรเราคือ creator ดังนั้นเราต้องเป็นคนคุมเวทีเองนะ คิดเองว่าเราจะพูดอะไร จะสร้างอะไรให้มันเกิดขึ้น ดังนั้นมันจะเป็นคนละ role คนละบทบาทกัน”
“ถ้าเอาตอน 10 ปีแรก ก็คือก่อน ป.3 จริงๆ ครอบครัวเมล่อนไม่ได้กดดันอะไรนะ ครอบครัวก็เป็นครอบครัวที่ชอบเรียน ถ้าพูดถึงพ่อ สิ่งนึงที่จำได้ก็คือ พ่อเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ห้องของพ่อก็เต็มไปด้วยหนังสือเต็มไปหมดอะไรแบบนี้ ส่วนแม่เป็นหมอฟันค่ะ ตอนเด็กๆ เราจะไม่ชอบให้ใครมาบังคับ พ่อแม่ไม่เคยเจ้ากี้เจ้าการเรื่องการเรียนเลยสักนิดเดียว เพราะว่าเรามีวินัยในตัวเองตั้งแต่เด็กเองอยู่แล้ว กลับบ้านมาสิ่งที่ชอบทำคืออ่านหนังสือเรียน คือเราชอบของเรา ส่วนถามว่าชอบภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กเลยมั้ย เอาจริงๆ ถ้าช่วง 10 ปีแรกคือไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ซึ่งทำให้เมล่อนได้มาค้นพบว่าคุณครูสำคัญมาก เราเจอครูแบบไหน มันจะส่งผลมากๆ ว่าเราจะชอบเรื่องนั้นๆ หรือเปล่า”
“ช่วงที่เข้าเรียนประถมปลาย มันเป็นช่วงที่เราเริ่มหันมาชอบภาษา เพราะทุกๆ ปี ครูก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วคุณครูจะเชื่อในตัวเรา แล้วเราก็จะอยากแข่งนู่น แข่งนี่ อย่างภาษาไทยก็เป็นตัวแทนไปแข่งเพชรยอดมงกุฏภาษาไทย ภาษาอังกฤษก็เป็นตัวแทนแข่งของจังหวัด แข่งของโรงเรียน แข่งแต่งกลอนสด แข่ง Crossword แข่ง IQ Word Up มันเริ่มมาเปลี่ยนว่าชัดเรื่องภาษาเลยก็คือช่วงประถมปลายเนี่ยแหละ เมล่อนไปแข่ง IQ Word Up มันคือการแข่งขันความรู้ทั่วไปแต่เป็นภาษาอังกฤษ คุณครูเค้าจะมีการติวเพิ่มหลังเลิกเรียน เสาร์ อาทิตย์ แล้วเราก็เป็นตัวแทนไปแข่ง และคุณครูก็เชื่อในตัวเรามาก มันก็เลยทำให้รู้สึกว่าเราเจอคุณครูที่เชื่อในตัวเรามาก มากกว่าที่เราเชื่อในตัวเองตอนนั้นอีก ก็เลยทำให้กลายมาเป็นความฝันของเราในวัยเด็กว่า เราอยากจะเป็นครู เพราะเรารู้สึกว่า พอเราได้เจอครูที่เชื่อในตัวเรา มากกว่าที่เราเชื่อในตัวเอง มัน impact มากเลยอ่ะ เรารู้สึกว่าเราอยากส่งต่อสิ่งนี้ให้คนอื่น”
“ตอนนั้น คุณครูชื่อว่า เหมือนฝัน เค้าส่งเราไปแข่ง IQ Word Up ตอนนั้นโรงเรียนเมล่อนมีแค่ ป.6 คือ ม.1 นักเรียนทุกคนต้องไปสอบเข้าที่อื่น เค้าก็จะมีความเชื่อว่าเดี๋ยวเราไปสอบเข้าเราต้องได้ที่ 1 แน่ๆ เราต้องสอบเข้าที่นั่นได้ ที่นี่ได้ โอเค ได้มั้ย มันก็ได้แหละ แต่เหมือนเดิมทีเราอาจไม่ได้ฝันไว้ขนาดนั้นว่าเราไปแข่งแล้ว เราจะได้ระดับประเทศใดๆ ซึ่งคือตอนที่เมล่อนอยู่ ป.6 เมล่อนก็ไปแข่ง IQ Word Up เพราะว่ามันเป็นปีสุดท้ายที่อยู่โรงเรียนนั้น แล้วก็ไปแข่งกับครูเหมือนฝันนั้่นแหละ แล้วก็ได้ที่ 3 ของประเทศมา แล้วเราก็ร้องไห้หนักมาก เพราะเรารู้สึกว่าเราทำให้เค้าผิดหวัง แต่จริงๆ เราไม่ได้ทำให้เค้าผิดหวังหรอก เราทำให้ตัวเองผิดหวัง คือเรามี tendency ที่จะกดดันตัวเองในระดับนึงอะไรแบบนี้ มันก็เลยทำให้เวลาเราเข้ามัธยมอ่ะ เราก็ส่งตัวเองไปแข่งเองคนเดียว โรงเรียนไม่รู้เรื่องเลย เพราะเรารู้ว่าถ้าเราไปเราจะได้เจอครูเหมือนฝันที่เอาเด็กประถมมาแข่ง แล้วสุดท้าย มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เมล่อนได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ แล้วได้ที่ 1 ของประเทศ แล้วคนที่มานั่งเชียร์อยู่ข้างหน้าก็คือครูเหมือนฝันและเด็กอนุบาล และเด็กประถมที่ครูเอามา คือเรารู้สึกว่า เพราะว่าคนหนึ่งคน ที่เค้าเชื่อเรา มันผลักดันเราไปจนแบบ เมล่อนอยู่ ม.3 แล้วอ่ะ มันส่งผลไปตลอด พอเราวันนึงมาเป็นครู เราก็จะเป็นครูแบบนี้คือเชื่อในนักเรียน เช่น เมล่อนสอนหนังสือมา 14 ปี มันจะมีนักเรียนหลายๆ คนที่เหมือนกับว่า Self Talk มัน Negative ทำไม่ได้หรอก พี่ไม่มีทางทำได้ พี่ไม่เก่ง อย่างโน้น อย่างนี้ อย่างนั้น ก็เชื่อว่ามันก็มีอย่างนี้ในหลายๆ คน ก็เพราะว่ามันไม่มีคนที่เชื่อในตัวเค้า แต่พอวันที่เมล่อนเชื่อในตัวเค้า มันทำให้เค้าดึงศักยภาพในตัวเค้าออกมาได้มากกว่าที่เค้าคิดว่าเค้าจะทำได้”
“จริงๆ มีเรียนภาษาอื่นไปด้วย อย่างตอนที่เราอยู่ ป.6 เรามีโอกาสได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นกับครอบครัว ก็มีความรู้สึกว่าทำไมเค้าไม่พูดภาษาอังกฤษ ก็เลยกลับมา ม.1 เราก็เรียนภาษาญี่ปุ่น แล้วพอ ม.3 เราได้ไปเที่ยวเยอรมัน เราก็งงว่า เค้าไม่พูดภาษาอังกฤษอีกแล้ว เราก็เลยเรียนภาษาเยอรมัน”
คุยมาจนถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกได้เลยมั้ยคะว่า คุณเมล่อนเป็นคนที่ช่างสังเกต และสนุกที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มาก คุณเมล่อนเล่าให้เราฟังต่อว่า “พอมาถึงตอน ม.4 เมล่อน สอบชิงทุนไปเรียนอเมริกาได้ แล้วเราก็รู้สึกว่าเราชอบสังคมที่นั่นมากเลย แล้วก็เห็นว่ามันสามารถทำ Early Graduation ได้ หมายความว่า ระบบอเมริกา จะมีการกำหนดเลยว่ามันต้องเก็บกี่เครดิตให้ครบ ในแต่ละหมวดหมู่เพื่อที่เราจะได้เรียนจบ เมล่อนก็เลยศึกษาและวางแผนว่า ถ้าเมล่อนกลับมาเรียนที่นี่ต่อ เมล่อนจะสามารถจบเร็วได้ปีนึง เรียกว่าอัดหน่วยกิจทั้งหมดที่ต้องเก็บทั้งหมดใน 2 ปี ก็เลยปีแรกไปในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน และปีที่สองกลับไปในฐานะลูกบุญธรรมของ host แล้วก็ไปเรียนจนจบ อันนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตนะ คือก่อนที่จะไปอเมริกา ในเมืองไทยเราก็เจอฝรั่งเราก็พูดได้ปกติ เราก็แข่ง IQ Word Up เราก็ได้ที่ 1 ก็รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเราก็แข็งแรงแล้ว แต่พอไปอเมริกาเท่านั้นแหละคือเรางงเลย ทำไมฉันพูดกับฝรั่งในเมืองไทยรู้เรื่อง แต่มาที่นี่ฉันฟังไม่รู้เรื่อง มันก็เป็นจุดเปลี่ยนมากๆ คือเราไปที่นู่น เราก็ไปคนเดียว เราก็รู้สึกว่าไม่ได้นะ เราไปถึงนู่นแล้วเราต้องได้สิ ก็เลยทำมันทุกอย่างเลย รู้สึกว่าเราต้องใช้เวลาอยู่กับพวกเค้าให้ได้มากที่สุด เช่น เล่นดนตรีไม่เป็นเลย แต่ฉันไปสมัครเข้า Marching Band แม้ฉันจะเล่นอะไรไม่ได้ อ่านโน้ตก็ไม่เป็นอะไรแบบนี้ แล้วก็ไปเล่นละครเวทีที่โน่น คือทำทุกอย่าง เพื่อให้เราได้ขลุกอยู่กับพวกเค้า เอาจริงๆ มันช่วยมากจนถึงทุกวันนี้ เพราะว่าโรงเรียนที่เราไปอยู่คือมันอินเตอร์มาก ในแง่ที่ว่ามีทั้งคนแอฟริกา เอเชีย อินเดีย everythings เลยอ่ะ ทำให้พออย่างวันนี้เราเป็นล่าม เราจะปรับหูไวมาก ฟังได้แทบจะทุกสำเนียง เพราะเราโตมาแบบนั้น“
คุณเมล่อนเล่าต่อว่า พอกลับมาที่เมืองไทย ก็ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคอินเตอร์ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เธอได้รู้จักกับภาษาจีน “จริงๆ เมล่อน ม.ปลาย เรียน ศิลป์ ญี่ปุ่น แล้วไปเรียนญี่ปุ่นต่อที่อเมริกา แล้วพอตอนกลับมาก็เรียนมหิดลอินเตอร์ เรียนเอกการท่องเที่ยวและโรงแรม โทภาษาจีน อาจจะงงว่าทำไมกลายร่างเป็นภาษาจีน คือที่มหิดล เค้าจะให้นักเรียนเรียนภาษาที่ 3 แต่ต้องเรียนแบบระดับแรกเริ่ม ซึ่งฉันเรียนภาษาญี่ปุ่นมา 4 ปี แล้วอ่ะ จะให้เริ่มใหม่ก็คงไม่ใช่ แต่มันจะมีตัวจีนของญี่ปุ่น โอเคมันยากใช่มั้ย งั้นเรียนจีนแล้วกัน แล้วก็ลืมญี่ปุ่นไปเลยตอนนี้”
“เมล่อนเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ แต่ไหนแต่ไรก็ชอบเข้าสัมมนา ตอนอยู่มหาลัยก็มีเหมือนกันที่เข้าสัมมนา หรือจัดสัมมนา แล้วก็ตอนปี 4 เรามีโอกาสได้ไปสัมมนาอินเตอร์ของ MMI ซึ่งถ้าใครเป็นสายสัมมนาจะรู้ว่าสัมมนาของต่างชาติระดับอินเตอร์มันแพงมาก หมายถึงถ้าอยากเรียนต่อ ส่วนมากที่เราเข้าไป 1 หรือ 3 วัน มันคือพรีวิว ถ้าเราอยากเรียนให้ลึกขึ้นเราก็ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งมันหลักแสน ตอนนั้นด้วยความเด็กปี 4 อยากเรียน ไม่มีตังค์ ทำไงดี แล้วบังเอิญตอนนั้นคนข้างๆ เค้าเปิดอะไรไม่รู้ เสียงดังมาก เราฟังเป็นภาษาอังกฤษต้นทางอยู่แล้ว เราก็งงว่าทำไมเปิดอะไรเสียงดัง มันเป็นภาษาไทย แล้วเราก็เห็นว่าเค้ามีเครื่อง เราก็หาต้นทางว่ามันมาจากไหน หาไปหามามีคนอยู่ในตู้ เราก็เลยแบบ มีล่าม ล่ามอยู่ในตู้ ตอน break เราก็เลยไปหาพี่เค้า บอกว่า พี่คะ หนูอยากทำแบบพี่ หนูอยากล่ามบ้างได้มั้ย แล้วพี่เค้าก็แค่พูดกับเมล่อนว่า ได้ เดี๋ยวช่วงถัดไป น้องก็ขึ้นมาแล้วล่ามเลย งง ไปอีก แต่เค้าบอกว่า ห้ามดีเลย์เกิน 3 วิ นะ เราก็คิดว่าทำไม เราชอบภาษาอังกฤษมันก็น่าจะได้ ซึ่งคนหลายๆ คนมันจะเข้าใจแบบนี้ แต่ในโลกความเป็นจริงมันไม่ใช่ คือเมล่อนจะพูดเสมอว่า การที่คุณได้ภาษาไม่ได้แปลว่าคุณจะเป็นล่ามได้ แต่การที่คุณจะเป็นล่าม คุณจะต้องได้ภาษา เพราะในตอนนั้นเราก็เป็นคนที่ได้ภาษาคนนึง แต่มันไม่ได้แปลว่าฉันจะล่ามทันใน 3 วิ มันคนละเรื่องกันเลย แล้วพอตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันไม่ได้ มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าแบบ ไม่ได้ ต้องได้ แล้วก็ได้”
เวลาที่คนเราสนใจอะไรมากๆ ตั้งใจ และมีเป้าหมายชัดเจนก็มักจะตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เราว่านี่คือหนึ่งในสกิลที่คนอยากพัฒนาตัวเองต้องมี คุณเมล่อนมีเป้าหมายในใจชัด ก็เลยมองหาต้นตอของเสียงภาษาไทยที่ได้ยิน และเมื่อมีความตั้งใจ และซื่อสัตย์กับตัวเองมากแล้ว ก็เลยไม่ลังเลที่จะถามพี่ล่ามที่อยู่ในตู้วันนั้น ทำให้เธอได้โอกาสที่จะได้ลอง และรับประสบการณ์การเป็นล่ามจริงๆ แบบไม่ทันตั้งตัวเป็นครั้งแรก
“สิ่งที่เมล่อนชอบ สเน่ห์ของ อาชีพล่าม สำหรับเมล่อนนะ คือทุกวันมันไม่เหมือนเดิม มันเหมาะกับคนที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วคือเมล่อนก็ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เหมือนกับว่ามีคนจ้างให้เราเรียน คือคนเป็นล่ามต้องเป็นคนหัวไว คำถามที่คนถามบ่อยมากคือ เค้ามีสคริปต์มาให้ก่อนหรือเปล่าคะ ? บอกเลยค่ะว่างาน 99 – 99.5% สดร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นคุณได้ยินครั้งแรกพร้อมคนอื่น แต่คุณต้องเข้าใจก่อนคนอื่น คุณไม่สามารถฟังแล้วงงได้ ต้องฟังแล้วเข้าใจว่าจะถ่ายทอดยังไงให้คนฟังเค้าเข้าใจด้วย เป็นงานที่สนุก แต่ละวันไม่เหมือนเดิม เราใช้สมองเยอะมาก ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ คนทำ อาชีพล่าม เมล่อนเห็น 70 กว่า ก็ยังเป็นล่ามได้ มันจะมีอาชีพไหนอีก ก็คุณได้ใช้สมองตลอด แล้วก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อัปเดตหลายๆ อย่างที่คนทั่วไปอาจจะเข้าไม่ถึง แต่พอเราเป็นล่าม เราก็เลยได้เข้าถึง เราก็จะได้รู้อะไรหลายๆ อย่าง เมล่อนว่ามันสนุกตรงนี้ ส่วนงานพิธีกร มันสนุกตรงที่ ไม่ว่าจะงานไหนก็ตาม เมล่อนคิดว่าที่สำคัญคือสติ เรื่องของการคุมเวลา พิธีกร มันจะเป็นอีกระดับนึงแล้ว เพราะว่าฉันต้องคุมเวทีให้อยู่ คนที่ถือไมค์ เป็นคนที่มีอำนาจ ว่าจะให้มันเกิดอะไรขึ้น ฉันจะเรียกเธอเข้าห้องแล้ว มานี่เร็ว ทุกคนปรบมือ ทุกคนยืน คนที่บอกคิวก็คือพิธีกร มันก็สนุกกับการที่เราทำให้บรรยากาศของแต่ละงานมันไม่เหมือนกัน หรือว่าเราสามาถช่วยให้งานที่มันดูยุ่งเหยิง ดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันก็มีความสนุกของมันในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”
“ความท้าทายของล่าม หนึ่ง คือเรื่องของเนื้อหา แน่นอนว่ามันจะต้องมีหลายๆ ด้านที่เราไม่คุ้นเคย เคยมีนักเรียนมาถามว่า ถ้าเราเจอหัวข้อนี้ เราต้องคิดเพิ่มมั้ย หรือเราต้องเตรียมตัวเท่าไหร่ เมล่อนบอกเลยว่า ตอบไม่ได้ เพราะว่าทุกคนมีความถนัด และประสบการณ์ไม่เท่ากัน ถ้าเราไม่ได้เป็นคนที่รู้กว้าง ไม่ได้รอบรู้ในหลายๆ เรื่อง เราจะต้องทำการบ้านเยอะหน่อย แต่พอเราเจอบ่อยๆ เราก็คุ้นไปเอง ข้อสอง เรื่องของอุปกรณ์หรือ setting งาน อันนี้สำคัญมาก”
ส่วนของพิธีกร นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว คุณเมล่อนเสริมต่อว่า “ต่อให้เค้าให้มาแล้ว หน้างานก็เปลี่ยนอยู่ดี เป็นเรื่องปกติ มันก็มีหลากหลายรูปแบบ แต่เมล่อนคิดว่ามันก็อยู่ที่สตินะ ไม่ว่าจะล่ามหรือพิธีกรก็ตาม งานพิธีกรบางงาน เปลี่ยนทุก 5 นาที เลยก็มี คือเราต้องดีลกับคนเยอะมาก เราอาจจะรับงานจากออแกไนซ์ก็จริง แต่พอถึงหน้างานจริง อาจจะมีลูกค้าขออันนี้ ออแกไนซ์ขออันนี้ เราต้อง สติ จริงๆ”
“ถ้าเอาคร่าวๆ ถ้าพูดถึงลักษณะงานของล่ามน่ะค่ะ หลักๆ มีแค่ 2 ประเภท แต่ถ้าพูดถึงประเภทของงานล่าม มันอีกกว้างมากๆ ประเภทของล่ามโดยรวม 2 ประเภท คือ ล่ามแปลสลับ กับ ล่ามพูดพร้อม ล่ามแปลสลับ หมายความว่าพูดๆ แล้วก็หยุดเว้นสลับให้ล่ามล่าม ล่ามพูดพร้อม หมายถึง ล่ามพูดพร้อมไปกับวิทยากรเลย ก็คือจะเป็นเสียงเดียวกัน ความแตกต่าง ถ้าหากว่าเป็นล่ามแปลสลับ ล่ามจะใช้สมองไม่เหมือนกัน ล่ามต้องใช้ memory คือคุณต้องจำให้ได้ว่าเค้าพูดอะไร แต่ว่าถ้าเป็นล่ามพูดพร้อม มันจะต่างตรงที่คนฟังจะต้องใส่หูฟัง แล้วมันจะไปพร้อมๆ กัน อันนี้จะใช้สมองอีกแบบนึง คือมันเรียกว่า เราห้ามกักเก็บ มันจะมีหลายครั้ง ที่แบบติดคำนั้น เอ๊ย มันแปลว่าอะไรนะ แล้วเสร็จแล้วเราเลยไม่ได้ตั้งใจฟังประโยคถัดไปที่วิทยากรพูด แล้วไปแล้ว มันจะไม่สามารถทำแบบนั้นได้เลย เราจะมีเสียงแบบนั้นไม่ได้เลย เราจะต้องปล่อย ไปต่อๆ ตลอดเวลา แต่หลักๆ ก็มี 2 ประเภท”
“เมล่อนมองแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักแปล ล่าม หรือสายอาชีพอื่นก็ตาม เมล่อนรู้สึกว่าถ้าเราเก่ง เราจะอยู่รอดทุกสถานการณ์ เรื่องของการใช้ภาษา ถ้าคุณแปลเป็นแบบบัญญัติไตรยางศ์ ให้ AI แปล มันก็เป็นบัญญัติไตรยางศ์ เวลาที่เราเคยคุยกับใครสักคนนึงที่เค้าพูดแล้วเราเข้าใจ แต่มันไม่เข้าถึงใจ เหมือนคุยกับฝรั่งที่เค้าพูดภาษาไทย ก็เข้าใจว่าอยากจะสื่ออะไร แต่คนไทยเค้าไม่พูดกันแบบนี้ มันไม่โดนใจ มันไม่เข้าถึงใจ เมล่อนต้องบอกแบบนี้ จากประสบการณ์การสอน นักเรียนส่วนมาก ภาษาไทยไม่แข็งแรง คิดว่าพอเรียนภาษาอื่น ก็จะโฟกัสแต่ภาษาอื่นจนเวลาพูดภาษาไทย ประหลาดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาแปล แล้วเค้าแบบพยายามคิด เค้าจะพูดภาษาไทยออกมาแบบประหลาดมาก แล้วเมล่อนก็จะถามว่า คนไทยพูดแบบนี้หรอ แล้วเค้าก็จะบอกว่า เออ คนไทยไม่ได้พูดแบบนี้ จะเกิดบ่อยมาก นี่แหละ ถ้าคุณแปลแบบบัญญัติไตรยางศ์ แปลแบบ google translate แปล มันก็น่ากลัว แต่ถ้าคุณแปลแบบที่ คนไทยคุยกันจริงๆ มันเป็นสิ่งที่มันมีความเป็นมนุษย์อยู่ตรงนั้น แล้วเรื่องภาษามันต้องเข้าใจวัฒนธรรม มันต้องมีสไตล์หลายๆ อย่าง ซึ่งถ้าคุณมีตรงนั้น AI มันจะมา copy ยังไง มันทำไม่ได้”
“Life goes on ชีวิตมันก็ดำเนินต่อไป คือจริงๆ สิ่งที่บอกนักเรียนตลอดเลยก็คือ The Show must Go on ถ้าหากพูดให้กว้างขึ้น แล้วถ้าหากเป็นความท้าทายอื่นๆ ในชีวิต มันก็คือ Life goes on โอเค เราอาจจะเจอเหตุการณ์ใดๆ วันนี้ หรือฉันอาจจะเพิ่งแปลผิดไปเมื่อตะกี้ แต่ชีวิตมันก็ต้องดำเนินต่อไป มันไม่มีใครมาหยุดกับเรา ดังนั้นก็ไปต่อ แค่นั้น”
“เราก็มี boundary ของว่า อันนี้คือหน้าที่ของเราที่ฉันทำ แล้วฉันก็คือไปในฐานะคนทำงาน เราก็เลยไม่ค่อยไปมีปัญหาอะไรกับใคร เพราะงานก็คืองาน แค่นั้น”
“เมล่อน คิดว่าเรื่องนี้สำคัญ คือเมล่อนจะพูดเสมอว่าก็ทำในสิ่งที่รัก แล้วก็รักในสิ่งที่ทำ คืออย่างที่เมล่อนทำ เราก็รู้สึกว่าเราซื่อสัตย์กับตัวเอง อย่างสมมุติ ตอนที่เราเพิ่งจบใหม่ๆ เราก็มีแรงเสียดทานเหมือนกัน ก่อนที่จะเป็นฟรีแลนซ์ เมล่อนก็เคยทำงานออฟฟิศ แล้วเวลาที่ทำงานออฟฟิศมันก็จะต้องมีตำแหน่ง ฉันเป็น Manager คนก็จะมีความแบบ you know Manager แปะป้าย แต่พอเราออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ก็คือ no name tag ไง you are ใครอ่ะ มันก็คือเราสร้างตัวเอง เราก็รู้สึกว่า เราก็ซื่อสัตย์กับตัวเองจริงๆ ถามว่าทำงานออฟฟิศได้มั้ย ทำได้ แต่เราแค่ซื่อสัตย์กับตัวเอง ว่าชอบงานแบบนี้มากกว่า เราก็แค่ชอบสิ่งที่เราทำอยู่ สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราทำไปได้เรื่อยๆ”
“คุณต้องเป็นคนที่ ทำในสิ่งที่รัก สำหรับ soft skills ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการฟัง สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นล่าม ไม่ใช่ทักษะทางด้านภาษา ไม่ใช่การฟังแล้วจับใจความ แต่คือการฟังแบบ 100% ฟัง เพื่อ ฟัง คนส่วนมากไม่เข้าใจการฟัง ที่ผ่านมาคุณแค่ได้ยิน แต่การได้ยินมันไม่มากพอถ้าคุณจะเป็นล่าม ถ้าคุณไม่ได้ฟังให้ลึกจริงๆ ถ้าหากว่าคุณฟังได้จริงๆ คุณจะเข้าใจเลย แม้แต่ว่าคุณฟัง speaker ที่เค้าคุยไม่รู้เรื่อง คุณก็จะรู้ว่าเค้าต้องการสื่ออะไร แล้วคุณก็จะล่ามออกมาให้รู้เรื่องได้ นั่นคือการฟังจริงๆ คือมันไม่ใช่แค่การได้ยิน หรือแบบฟัง แต่มันคือการฟังจริงๆ นั่นคือสิ่งที่เมล่อนสอน”
เราให้คุณเมล่อน ช่วยแชร์เพิ่มเติมว่านอกจาก soft skill ที่ต้องมีอย่างการฟังแล้ว มีอะไรอีกบ้างมั้ย คุณเมล่อนแชร์เพิ่มเติมว่า “สติ เวลาทำงานอีเว้นท์ ล่ามก็คือมนุษย์คนนึง พิธีกรก็คือมนุษย์คนนึง เราก็มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างในชีวิตเหมือนกัน แต่คนทำงานสายอีเวนท์ เมื่อถึงเวลาที่ Action คุณต้องวางอย่างอื่นลงก่อน แล้วก็ต้อง Present ตรงนั้นให้ได้ นั่นก็คือต้อง สติ มาก นอกจากนั้นก็ต้องรู้จักการวางตัวให้เป็น เข้าคนให้เป็น เราต้องเจอกับคนที่หลากหลาย หรือบางทีเราต้องมีเพื่อนร่วมงาน เราต้องคิดว่าเราจะวางตัวยังไง เข้ากับคนอื่นยังไง ก็คือต้องเป็นคนเข้ากับคนง่ายในระดับหนึ่ง” สำหรับ Hard Skills คุณเมล่อนเพิ่มเติมว่าเป็นเรื่องของทักษะภาษาที่ต้องแข็งแรงทั้งภาษาต้นทาง และปลายทาง
“ไม่ว่าจะเป็นล่ามภาษาอะไร เราก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจในความเป็นเค้าในระดับนึง อย่างของคนไทย ท้าทายกับล่ามคือ คนไทยชอบเล่นมุก ผวนคำ แล้วมันแปลไม่ได้ อย่างจีนเค้าก็จะชอบมีมุกที่เล่นกับตัวอักษรจีน ซึ่งมันอาจจะเป็นองค์ประกอบนึงของตัวอักษรนี้ ซึ่งแบบชาติอื่นเค้าไม่เข้าใจด้วย”
“เมล่อนชอบงานที่ทำอยู่ ถ้าถามว่าจะทำไปเรื่อยๆ มั้ย ก็คงทำไปเรื่อยๆ เพราะเราก็รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ฉันชอบ มีคนชอบถามว่าทำไมไม่ไปทำงั้นงี้ที่มันดูอลังการใหญ่โต แต่เราก็รู้สึกว่า นี่คือตัวเรา แล้วเราก็ชอบชีวิตตอนนี้อยู่แล้ว แล้วก็คงจะชอบไปเรื่อยๆ และก็คงจะทำไปเรื่อยๆ”
“จริงๆ ก็ขอบคุณตัวเองอยู่ตลอดนะ เมล่อนเป็นคนที่ผ่านอะไรในชีวิตมายอะ ผ่านมรสุมชีวิตมาเยอะมาก แต่ว่าเรารู้ว่าเราผ่านไปได้ มันไม่ได้ง่ายเลย แล้วเราก็อดทนมาเยอะมาก แต่ว่าเราก็เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเอง เราก็แบบเก่งมาก”
Inspire Now ! : ต้องบอกว่าตลอดเวลาที่คุยกันกับคุณเมล่อนสัมผัสได้เลยว่า มีความ active สดใส และมีสายตาที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และมีความสุขกับงานที่ตัวเองทำ คุณสมบัติเหล่านี้เป็นข้อสำคัญที่พบได้ในคนที่มีเป้าหมาย รู้จักตัวเอง และต้องการเปิดรับที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ “ทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่ทำ” เราเห็นด้วยกับคุณเมล่อน เพราะหากเราได้ทำในสิ่งที่เรารักแล้ว เราก็จะมีความสุขในการทำงาน และความสุขนั้นก็จะนำพาสิ่งดีๆ มาให้เราเสมอ ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการพัฒนาตัวเองในเส้นทางที่ตัวเองได้เลือกนะคะ |
---|
สำหรับใครที่อยากติดตามพลังดีๆ จากคุณเมล่อน สนใจเรียนเพื่อทำอาชีพล่าม หรือสนใจจ้างงาน ร่วมงานกับคุณเมล่อนก็สามารถติดตาม ติดต่อไปได้ตามช่องทางต่างๆ ทั้ง FB Fanpage : Interpreter Mastermind | Youtube | Tiktok : @melontheinterpretermc และ IG ได้เลยนะคะ
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันอยากเป็นคนที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? ประสบการณ์อาชีพล่ามของคุณเมล่อนจุดประดกาย หรือสร้างแรงบันดาลใจให้คุณในแง่ใดบ้าง คอมเมนต์มาพูดคุยกับเรากันนะคะ ♡
ชวนบริจาคหนังสือ รับถึงบ้าน หรือ ส่งไปรษณีย์ นอกจากหนังสือก็สามารถรวมอย่างอื่นได้ ใครมีของเหลือใช้ อยากส่งต่อ ลองดู 10 สถานที่ที่เราแนะนำได้เลย
อยากสำเร็จต้องทำยังไง มาดูวิธีการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals แต่ละตัวหมายถึงอะไร ต้องทำยังไง ตั้งเป้าหมายยังไงให้สำเร็จ อยากรู้ต้องอ่าน
แจก Bullet Journal Ideas สำหรับคนที่อยากจัดระเบียบชีวิตตัวเอง อยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม แค่จัดระเบียบความคิด ชีวิตก็จะดีแบบติดปีกแล้ว