Vaccine Hesitancy เมื่อผู้คนไม่มีความมั่นใจว่าจะรับวัคซีนดีไหม?
89
ปีใหม่ 2020 อาจเป็นช่วงที่เราตั้งเป้าหมายชีวิตกันไว้มากมายในปีเลขสวยนี้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เราทุกคนก็อยู่ในสภาวะการแพร่ระบาดใหญ่ (Pandemic) ของโคโรน่าไวรัส หรือที่เราเรียกกันว่า โควิด-19 นักมนุษยวิทยารวมถึงนักจิตวิทยาสังคมได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด เฟิร์นอ่านแล้วก็คิดว่าหลายคนคงนึกภาพตามออกค่ะ เริ่มจากมีการแพร่กระจายของข่าวลือต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนเกิดความสับสน ไม่มีความมั่นใจ เพราะความเป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีใครรู้อะไรแน่ชัด รวมไปถึงความเกลียดชังที่เกิดกับกลุ่มคนที่หลายคนเชื่อว่าเป็นแหล่งพาหะ ความหวาดระแวงและกังวลว่าเราจะติดโรคนี้ด้วยหรือไม่
ทั้งหมดนี้เราผ่านกันมาแล้ว และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการมีสุขภาพดีคือสิ่งสำคัญ ต่อมาคือเรื่องที่เราจะมาเรียนรู้กันในวันนี้ค่ะ นั่นก็คือ “Vaccine Hesitancy” หรือความลังเลที่จะรับวัคซีน ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากในตอนนี้ เพราะปัญหาที่คน ไม่มีความมั่นใจ ในการรับวัคซีนนั้น จะเป็นอุปสรรคของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ตามที่หลายๆ ประเทศได้ตั้งเป้าหมายไว้ รวมถึงไทยด้วยค่ะ ซึ่งการจะสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่หวังกันไว้ ต้องมีประชากรมากกว่าร้อยละ 70 ที่สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้สำเร็จ
-
สาเหตุของการไม่มีความมั่นใจที่จะรับวัคซีน
NCBI สื่อหลักที่รวบรวมข้อมูลด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้คนลังเลที่จะรับวัคซีน ถึงแม้ว่าจะมีการให้ข้อมูลจากภาครัฐและสื่อถึงความจำเป็นที่ทุกคนจะต้องได้รับวัคซีน สาเหตุหลักคือคนไม่ไว้ใจหรือไม่มีความมั่นใจในภาครัฐ บริษัทผลิตวัคซีน รวมไปจนถึงไม่เชื่อใจสื่อ
ภาครัฐไม่สามารถทำให้คนไว้วางใจว่าการรับวัคซีนนั้นปลอดภัยต่อพวกเขาจริงหรือไม่ ฉีดแล้วไม่ติดจริงหรือ? ฉีดแล้วจะเป็นอะไรไหม? ฉันจะตายเพราะวัคซีนก่อนจะตายเพราะโรคหรือเปล่า? ถ้าพิการหรือตายแล้วใครจะรับผิดชอบ? เฟิร์นว่านี่เป็นประสบการณ์ที่เรามีร่วมกันอย่างเห็นภาพชัดเลยล่ะค่ะ คนเราจะเกิดความลังเลได้แน่นอนเมื่อมีข้อมูลไม่เพียงพอ ยิ่งเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งใหม่ ไม่มีข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี 10 ปี ให้เรานำมาศึกษาแนวโน้มเหมือนเลือกซื้อกองทุนหุ้น การตัดสินใจที่ส่งผลต่อชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ยากอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในอีกทางหนึ่งก็เหมือนสมองเล่นตลกกับเราค่ะ
และเราจะมีความลังเลได้เช่นกันถ้าข้อมูลที่มีนั้นมากเกินไป! ปัจจุบันเรามีสื่อหลายช่องทางมากที่นำเสนอข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้วยังมีคนรู้จักที่แลกเปลี่ยนข้อมูลที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ได้ยินหมอคนนั้นบอกว่าวัคซีนตัวนี้ดี แต่หมออีกคนบอกว่าใช้ไม่ได้ เมื่อเจอทางแยกมากมายแล้วตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปทางไหน ก็มีโอกาสที่เราจะหยุดชะงัก ไม่กล้าลงมือทำอะไรทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มที่บางคนอาจนึกไม่ถึงว่าเขาปฏิเสธการรับวัคซีนด้วยเหตุผลจากความกลัวเลือดหรือกลัวเข็ม กลุ่มคนที่มีความกลัวเรื่องนี้ถือว่าพวกเขาประสบเหตุการณ์ลำบากมากเช่นกันค่ะ เพราะอยู่ในสถานการณ์ที่มองไปทางไหนทุกสื่อก็ดูจะเสนอภาพของเข็มฉีดยาทั้งนั้น
แม้ว่าตอนนี้ปัญหาขาดแคลนวัคซีนของไทยดูจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีกลุ่มคนที่ไม่มีความมั่นใจที่จะเข้ารับวัคซีนที่รัฐจัดหาไว้ให้อยู่ แม้พวกเขาจะมีสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนได้ก็ตาม และหากยังไม่สามารถจัดการปัญหาเรื่องการไม่มีความมั่นใจที่จะรับวัคซีนนี้ได้ เรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังภาวะวิกฤติคงไกลเกินเอื้อม
ถ้าถึงวันไทยมีวัคซีนที่หลากหลายอย่างเพียงพอแล้ว แต่ยังมีคนที่ไม่มีความมั่นใจที่จะรับวัคซีนอยู่อีกล่ะ? เราจะทำยังไงได้บ้าง?
เริ่มจากระดับบุคคลอย่างเราๆ กันก่อนนะคะ อย่างตัวเราเอง
- การเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้รับมาอย่างละเอียด และปรึกษากับแพทย์โดยตรงหากมีโรคประจำตัวคงเป็นสิ่งที่เราทำได้มากที่สุดแล้วเป็นการรักตัวเองในขณะนี้
- ส่วนถ้าคนใกล้ตัวลังเลไม่กล้าที่จะรับวัคซีนป้องกัน ถึงแม้ว่าจะมีสถิติชัดเจนแล้วว่าการรับวัคซีนมีผลเสียน้อยกว่าผลดี อันดับแรกคือควรฟังเขาก่อนค่ะ ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่มั่นใจบ้าง การอัดข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งน่าเชื่อถือให้เขาฟังอย่างเดียว หรือวิพากย์วิจารณ์ว่าการตัดสินใจของเขาไม่ฉลาด ไม่สามารถจะช่วยคนที่อยู่ในสภาวะลังเลได้นะคะ
- หากเราต้องการโน้มน้าวเขาให้ทำในสิ่งหนึ่งที่เขาปฏิเสธ เราต้องรู้และเข้าใจก่อนว่าอะไรที่ทำให้เขาปฏิเสธ แล้วค่อยชวนเขาพูดคุยกันถึงประเด็นนั้นๆ โดยละเอียด ถึงตอนนี้ค่อยใช้ข้อมูลที่เรามีมาอธิบายกันค่ะ
นอกจากระดับบุคคลอย่างตัวเราเองและคนใกล้ตัวแล้ว รัฐเองก็มีส่วนสำคัญมากก็การจัดการปัญหานี้
- ควรใช้วิธีสื่อสารที่มุ่งเน้นการบอกเล่าให้คนในสังคมทราบถึงผลลัพธ์ที่ดีและผลสำเร็จของวัคซีนอย่างตรงไปตรงมา
- จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้เพียงพอเพื่อให้คนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น
- มีสถิติจากนิตยสาร TIME ที่ได้จากผู้ตอบคำถามชาวอเมริกัน 273 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้ว พบว่า 63% ให้เหตุผลว่าตัดสินใจรับวัคซีนเพราะได้ยินข่าวจากคนใกล้ตัวที่รับวัคซีนแล้วปลอดภัย ดังนั้นจึงอาจคาดหวังได้ว่า หากคนรอบๆ ตัวได้รับวัคซีนแล้ว คนที่ไม่มีความมั่นใจจะตัดสินใจเข้ารับวัคซีนได้ง่ายขึ้น
- นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนควรร่วมกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมการรับวัคซีนด้วย ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยบางแห่งในสหรัฐอเมริกามีส่วนลดค่าเล่าเรียนให้กับนักศึกษาที่มีหลักฐานแสดงว่ารับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว หรือมาตรการที่คุ้มครอง รับผิดชอบความเสียหายต่อร่างกายและชีวิตของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีน
ท้ายที่สุดนี้ แม้เราจะยังไม่ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไป เฟิร์นขอเป็นกำลังให้ทุกคนที่กำลังพยายามรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่นะคะ
Inspire Now ! : เมื่อไม่มีความมั่นใจในการรับวัคซีน ควรเปิดรับข้อมูลและคิดวิเคราะห์เพื่อเลือกทางเลือกที่ให้ผลดีกับเราที่สุด และสื่อสารกับคนรอบข้างอย่างเข้าใจ |
---|
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนที่ดีกว่าเพราะได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้นใช่ไหม? ขอให้ทุกคนปลอดภัยในสถานการณ์เหล่านี้ และผ่านมันไปได้ด้วยกันค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : ncbi.nlm.nih.gov, voathai.com, time.com
Facebook Comments