รู้จัก วิธีสอนลูก จาก Parenting Styles 4 แบบ เราเป็นพ่อแม่แบบไหน จะสอนลูกยังไงต้องดู !
116
รู้จักวิธีสอนลูก จาก Parenting Styles 4 แบบ เราเป็นพ่อแม่แบบไหน จะสอนลูกยังไงต้องดู !
ในบทบาทการเป็นพ่อแม่หรือการเป็นผู้ปกครองแล้ว นอกจากความกังวลว่าจะเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกาย เรื่องอาหารการกิน การมีพัฒนาการให้เหมาะสมตามวัย และแม้เด็กๆ จะถึงวัยไปโรงเรียนและได้รับการสอนสั่งจากโรงเรียนมาแล้ว วิธีสอนลูก ที่บ้านโดยพ่อแม่ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะครอบครัวและพ่อแม่ผู้ปกครอง ถือเป็นคุณครูคนแรกของเด็กๆ ในการอบรมสั่งสอนเลี้ยงดู อีกทั้งยังเป็นสถานบันที่สำคัญที่สุดในการฟูมฟักเด็กๆ ให้เติบโตมาอย่างดีอีกด้วย
แต่ก็ใช่ว่าจะมีวิธีสอนลูกที่ดีและเหมาะสมทุกวิธี บางครั้งเราอาจสอนลูกผิดๆ โดยไม่ได้ตั้งใจและสอนลูกด้วยวิธีการไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตได้ มาดูกันว่า วิธีการสอนลูกนั้นมีกี่แบบ และมีแบบไหนบ้าง และวิธีไหนคือวิธีที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด พ่อๆ แม่ๆ จะได้เลี้ยงลูกได้ดีขึ้น และเลี้ยงลูกอย่างมีความสุขมากขึ้นกันค่ะ
ชวนรู้จัก วิธีสอนลูก จากสไตล์การเลี้ยงดูของพ่อแม่ เราเป็นพ่อแม่ที่สอนลูกแบบไหนกันนะ ?
นักจิตวิทยาได้แบ่งสไตล์การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ ( Parenting Styles) ออกเป็น 4 แบบ แล้วเราล่ะเป็นพ่อแม่แบบไหน ? มีวิธีการสอนลูกอย่างไร ? ไปดูกันเลยค่ะ
1. แบบบงการ (Authoritarian)
ประเภทของครอบครัวที่มีการสอนลูกแบบบงการ หรือแบบเผด็จการ เป็นการเลี้ยงลูกที่ผู้ปกครองพยายามจะควบคุมกำหนดพฤติกรรม ความคิดของลูกๆ ตามมาตรฐานที่ตนได้วางไว้ ซึ่งมักจะเป็นมาตรฐานที่มีความสมบูรณ์แบบ เข้มงวด เป็นสิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเชื่อว่าถูกต้องและดีสำหรับเด็กๆ หากลูกๆ ไม่ทำตาม ก็จะถูกลงโทษหรือถูกตำหนิ ทั้งยังจำกัดความเป็นอิสระของเด็กๆ โดยการควบคุมดูแลไม่ให้คลาดสายตา และปลูกฝังว่าลูกๆ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ทุกอย่าง ห้ามโต้แย้ง และเชื่อว่าเด็กๆ ควรอยู่ในกรอบที่พ่อแม่กำหนดไว้ให้ ซึ่งวิธีสอนลูกแบบนี้ ในวัยเด็กอาจจะยังไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่เมื่อลูกโตขึ้นและเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาจจะเกิดความขัดแย้งกันได้
2. แบบละเลย (Uninvolved)
การเลี้ยงดูลูกแบบละเลย มักเกิดขึ้นในบระเภทของครอบครัวที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองมักไม่ค่อยมีเวลาให้เด็กๆ ไม่ค่อยดูแลใส่ใจเด็กๆ ในบ้าน หรืออาจมีท่าทีปฏิเสธลูก เช่น ลูกชวนเล่นด้วยก็บอกว่ายุ่ง ทำงานอยู่ ลูกชวนไปเที่ยวก็อาจจะขอให้พี่เลี้ยงหรือคนอื่นพาไปแทน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการปฏิเสธลูกแล้ว ยังไม่มีวิธีสอนลูกที่แสดงถึงความใกล้ชิดสนิทสนมอีกด้วย เด็กที่เติบโตมากับการเลี้ยงดูแบบนี้มักมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low Self – Esteem) และเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจ (Low Self – Confidence) ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยกล้าเข้าหาคนอื่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะเด็กรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการยอมรับและไม่มีค่า จากการเข้าหาพ่อแม่และถูกปฏิเสธอยู่บ่อยครั้ง เมื่อโตขึ้นอาจไม่มีความผูกพันกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองในบ้าน และแสวงหาความรักความอบอุ่นจากบุคคลอื่นเพื่อทดแทนในสิ่งที่พ่อแม่ละเลย การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปะละเลยและไม่ให้ซึ่งความรักความอบอุ่น เมื่อเด็กๆ โตขึ้น ในบางคนอาจเลือกคบคนหรือคบเพื่อนที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น เข้ากลุ่มเพื่อนที่เสพยาเพื่อแสวงหาการยอมรับ หรืออยู่ในความสัมพันธ์ที่ Toxic เป็นต้น
3. แบบตามใจ (Permissive)
วิธีสอนลูกแบบตามใจ จะเป็นการเลี้ยงดูลูกๆ แบบให้ความรักความอบอุ่น ใจดี แต่หละหลวมในกฎระเบียบหรือความเข้มงวดที่ควรมี พ่อแม่จะให้อิสระลูกอย่างเต็มที่ และไม่กล่าวตักเตือนหรือบอกลูกว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ ซึ่งในวัยเด็กควรจะได้รับการบอกกล่าวชี้แนะในสิ่งที่ถูกที่ควร เพื่อการเติบโตมาเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม พ่อแม่หรือผู้ปกครองคนไหนที่มีวิธีสั่งสอนเด็กๆ แบบตามใจ จะทำให้เด็กเติบโตมาเป็นคนที่หุนหันพลันเล่น เอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรก็ต้องได้ อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่อยู่ในกฏระเบียบของสังคม ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือมีบุคลิกภาพแบบพึ่งพาหรือมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้
4. แบบใส่ใจดูแล (Authoritative)
ประเภทของครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูลูกแบบใส่ใจดูแล พ่อแม่หรือผู้ปกครองแบบนี้จะคอยให้การสนับสุนช่วยเหลือลูก และมีความยืดหยุ่น รับฟังลูกๆ พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล และในขณะเดียวกันก็มีการกำหนดกฎระเบียบไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เด็กๆ มีวินัยในตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีวิธีการสอนลูกที่แสดงถึงความรักความอบอุ่น ใกล้ชิดกับลูกๆ อย่างเต็มที่ ให้ลูกมีอิสระตามความเหมาะสม เด็กที่โตมาด้วยวิธีการเลี้ยงดูแบบนี้ มักเป็นเด็กที่ร่าเริงแจ่มใส มีความมั่นใจในตัวเอง มีความฉลาดทางอารมณ์ เข้ากับคนอื่นได้ดี และมีระเบียบวินัยในตนเองค่ะ
วิธีการสอนลูก หรือวิธีการเลี้ยงลูก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเด็กๆ จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบใด เนื่องจากครอบครัวถือเป็นพื้นฐานชีวิตที่สำคัญที่สุดสำหรับคนๆ หนึ่งที่จะเติบโตมาเป็นแบบใด อย่างไรก็ตาม ในฐานะการเป็นผู้ปกครองหรือการเป็นพ่อแม่นั้น การเลี้ยงดูเด็กๆ ให้เติบโตมาอย่างดีและเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกคนแรกหรือท้องแรก ที่พ่อแม่อาจมีกังวลเป็นอย่างมาก และเผลอใช้วิธีการสอนลูกที่ไม่เหมาะสมได้
ทั้งนี้ วิธีสอนลูกแบบใส่ใจดูแล (Authoritative) ถือเป็นวิธีเลี้ยงลูกที่เหมาะสมและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เนื่องจากทำให้เด็กๆ ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่ เด็กๆ จะมีความมั่นคงทางจิตใจ รู้สึกว่าตนเองปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็อยู่ในกฎระเบียบ รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และมีระเบียบวินัยในตนเอง เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม ในขณะเดียวกันก็ยังมีอิสระและมีความมั่นใจในตัวเอง ยังคงเป็นตัวของตัวเอง และเติบโตมาเป็นผู้ใหญที่ดีได้
ถ้ามีวิธีสอนลูกที่ไม่เหมาะสม ควรทำอย่างไร ?
ถ้าผู้ปกครองหรือพ่อแม่คนไหนกำลังคิดว่า วิธีที่สอนลูกหรือการเลี้ยงที่ตัวเองใช้อยู่นั้น เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมและอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กๆ ก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกของตนเองได้ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดไป ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
- ยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง และให้อภัยตัวเองถ้าเคยทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับลูก เช่น ใช้กำลัง หรือตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรง
- พูดคุยกับลูกเยอะๆ ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น และรับฟังลูกอย่างเปิดใจ ไม่เอามาตรฐานหรืออุดมคติของตัวเองมาเป็นกรอบกั้น สื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน และพูดคุยกันด้วยเหตุผล
- แสดงความรักกับลูกเยอะๆ ในบางคนอาจเขินอายหรือไม่กล้าบอกรักลูก ก็สามารถแสดงออกด้วยการกระทำได้ เช่น กอด หอม หรือดูแลเอาใจใส่โดยการทำกับข้าวให้กิน รับฟังเด็กๆ เวลาเด็กพูดคุยหรือเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ ให้มากขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องเป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ควรตั้งเงื่อนไขว่า ต้องทำแบบนั้นแบบนี้พ่อแม่ถึงจะรัก เพราะอาจสร้างปมในจิตใจให้เด็กและส่งผลต่อพฤติกรรม – บุคลิกภาพในตอนโตได้
- หาโอกาสทำความเข้าใจกับลูก หากเป็นคนที่มีวิธีเลี้ยงลูกแบบละเลย ก็อาจจะพูดคุยกับลูกให้เข้าใจว่าเพราะตนเองทำงานเพื่อที่จะได้มีเงินมาเลี้ยงดูลูกๆ และหาโอกาสใกล้ชิดกับลูกให้มากขึ้น ไม่ทำงานในวันหยุดและใช้เวลากับครอบครัว ถ้ามีวิธีสอนลูกแบบบงการก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตนเอง และตระหนักว่าการบังคับลูกอาจไม่ส่งผลดีกับเด็ก และถ้าเลี้ยงลูกแบบตามใจ ก็อาจจะต้องค่อยๆ พูดคุยกับลูกๆ ว่า ต้องมีวินัยในตัวเองและทำตามกฎระเบียบ เพื่อที่จะได้ทำอะไรสำเร็จ และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
- ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การพูดคุยกับนักจิตวิทยาครอบครัว หรือนักจิตวิทยาเด็ก ก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกมากขึ้น และมีวิธีการเลี้ยงลูกที่ดีขึ้นและเหมาะกับเด็กๆ มากขึ้นค่ะ
และนี่ก็เป็นวิธีการสอนลูกทั้ง 4 แบบ ซึ่งประเภทของครอบครัวในแบบต่างๆ ก็จะมีวิธีการเลี้ยงดูเด็กๆ หรือสั่งสอนเด็กๆ แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเลี้ยงดูที่ตนเองเคยถูกเลี้ยงดูมาจากพ่อแม่อีกที และนำมาใช้เลี้ยงลูกในแบบเดียวกัน ซึ่งบางครั้งก็อาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมและใช้ได้กับยุคสมัยในปัจจุบัน หรืออาจขึ้นกับทัศนคติ ความเชื่อของคนเองว่าควรจะเลี้ยงลูกแบบใด รวมถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมก็มีผลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ วิธีการสอนลูกหรือวิธีการเลี้ยงลูกไม่ได้มีวิธีตายตัวเพียงวิธีเดียว และไม่ใช่ว่าจะปรับเปลี่ยนไม่ได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือ ควรเอาเด็กๆ เป็นที่ตั้งว่าจะเลี้ยงดูอย่างไรให้ลูกๆ เป็นเด็กที่มีความสุข มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี และเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพของสังคมได้
Inspire Now ! : สถาบันครอบครัวและพ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นปัจจัยที่สำคัญสุดในการฟูมฟักเลี้ยงดูคนๆ หนึ่งให้เติบโตมาอย่างดีได้ ถ้าเด็กๆ ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่ ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มีวิธีการเลี้ยงเหมาะสมและมีความสมดุล ไม่ตึงเกินไป ไปหย่อนเกินไป มีอิสระ เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ในขณะเดียวกันก็อยู่ในกฏระเบียบที่สังคมกำหนดขึ้น เด็กๆ ก็จะมีความมั่นใจในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง เคารพในตนเองและเคารพในผู้อื่น และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมได้ |
---|
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเลี้ยงลูกได้ดีขึ้นใช่ไหม ? การเป็นพ่อแม่นั้นไม่ง่าย แต่มีวิธีที่จะทำให้เราเลี้ยงดูลูกได้ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นได้ ใครมีวิธีสอนลูกอย่างไร มาคอมเมนต์แชร์กันได้นะคะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : devpsy.org, apa.org, new.camri.go.th, kidshealth.org
Featured Image Credit : pexels.com/Daria Obymaha
Facebook Comments