เคยรู้สึกไหมคะว่าบางทีใจเราก็ไม่ค่อยเป็นมิตรกับตัวเองเอาซะเลย? บางครั้งมันก็เผลอไปเกลียดตัวเอง ทั้งที่เราก็พยายามทำดีที่สุดแล้วแท้ๆ นี่แหละค่ะที่เรียกว่า “Self-Hatred” หรือความเกลียดชังตัวเอง มันไม่ใช่แค่รู้สึกไม่มั่นใจเล็กๆ น้อยๆ นะคะ แต่มันคือเสียงบ่นในหัวที่ดังไม่หยุด ทำเอาเราเหนื่อยใจ แล้วเคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงรู้สึกแบบนั้น ? และจะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถหยุดเสียงเหล่านั้น แล้วกลับมารักและยอมรับตัวเองได้อย่างเต็มหัวใจ ? ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกแบบนี้ ในบทความนี้ DIYINSPIRENOW มีคำแนะนำมาฝากกันค่ะ
Self-Hatred ความคิดที่ทำร้ายเราเอง มาค้นพบวิธีหยุดและเรียนรู้ที่จะรักตัวเองกัน !
บางครั้งสิ่งที่บั่นทอนเรามากที่สุด อาจไม่ใช่คำพูดจากใคร แต่เป็นเสียงในหัวเรานี่แหละ ที่คอยตัดสิน ก่นด่า หรือแม้แต่ลงโทษตัวเองอย่างไม่รู้ตัว Self-Hatred หรือ ความเกลียดตัวเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันอาจแอบซ่อนอยู่ในคำพูดว่า “เราแย่เองแหละ” หรือ “เราทำอะไรไม่ดีพอสักอย่างเลย” หรือแม้กระทั่งการรู้สึกผิดทุกครั้งที่ได้พัก ได้กินของที่ชอบ หรือได้มีความสุข เรามาทำความรู้จักตัวเอง แล้วรักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็นกันนะคะ
หนังสือ คู่มือค้นหา “ทำไม” ที่แท้จริงของคุณ ( Find Your Why)
Self Hatred คืออะไร ?
Self-Hatred หรือ ความเกลียดตัวเอง คือภาวะทางอารมณ์ที่บุคคลรู้สึกไม่ชอบตัวเองอย่างลึกซึ้ง มองตัวเองในแง่ลบเสมอ และเชื่อว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่ดีพอ หรือไม่สมควรได้รับความสุข ความสำเร็จ หรือแม้แต่ความรักจากใครก็ตาม โดยอาการนี้อาจแสดงออกในรูปแบบของการตำหนิตัวเองซ้ำๆ การไม่ยอมให้อภัยตัวเอง การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอย่างเจ็บปวด หรือแม้แต่การปฏิเสธสิ่งดีๆ ที่เข้ามาในชีวิตเพียงเพราะรู้สึกว่า “เราไม่คู่ควร” ซึ่งภาวะนี้มักไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เกิดจากการสะสมของประสบการณ์ในชีวิต เช่น การถูกวิจารณ์ซ้ำๆ ในวัยเด็ก การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ขาดความเข้าใจ การได้รับความรักแบบมีเงื่อนไข หรือการถูกเปรียบเทียบตลอดเวลา จนเสียงวิจารณ์ภายนอกค่อยๆ กลายเป็นเสียงในใจที่กัดกินความมั่นใจของตัวเองอย่างช้าๆ หากไม่ได้รับการเข้าใจและเยียวยาอย่างเหมาะสมก็อาจพัฒนาไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือการแยกตัวจากสังคมโดยไม่รู้ตัว
Image Credit : freepik.com
จุดเริ่มต้นของ Self-Hatred มาจากไหนกันแน่ ?
ความรู้สึกเกลียดตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว มันมาจากการสะสมของประสบการณ์ ความคาดหวัง ความผิดหวัง หรือแม้แต่ความรู้สึกว่า “เราไม่ดีพอ” เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือมาตรฐานบางอย่างที่สังคม (หรือเราตั้งเอง) บอกว่า “ต้องเป็นแบบนั้นสิ ถึงจะโอเค” เพราะบางคนเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ความรักมีเงื่อนไข ถูกลงโทษเพราะแค่เป็นตัวเอง หรือได้รับคำพูดแง่ลบซ้ำๆ จนกลายเป็นเสียงภายในที่กลืนกินความมั่นใจไปอย่างช้าๆ นั่นเอง
สัญญาณเล็กๆ ที่กำลังบอกว่าเราเกลียดตัวเอง (แบบไม่รู้ตัว)
- พูดจารุนแรงกับตัวเองเวลาทำพลาด แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย
- คิดว่าตัวเองไม่คู่ควรกับความสุข ความรัก หรือความสำเร็จ
- รู้สึกผิดกับการพักผ่อน หรือการดูแลตัวเอง
- หลีกเลี่ยงกระจก เพราะไม่อยากเห็นหน้าตัวเอง
- พยายามเอาใจคนอื่นจนลืมตัวเอง เพราะกลัวจะไม่เป็นที่รัก
Self-Hatred กับ Self-Esteem ต่ำเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า ?
ภาวะความเกลียดตัวเอง (Self-Hatred) มีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับ Self-Esteem ต่ำ หรือการมองเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยกว่าความเป็นจริง คนที่มี Self-Esteem ต่ำมักจะมองตัวเองในแง่ลบ ขาดความมั่นใจ ไม่เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถ หรือไม่สมควรได้รับสิ่งดีๆ ในชีวิต ซึ่งเมื่อความรู้สึกนี้สะสมเรื้อรังและไม่ได้รับการเยียวยา ก็อาจพัฒนาไปสู่ Self-Hatred ได้ในที่สุด ความรู้สึกจากเดิมที่แค่ “ไม่มั่นใจในตัวเอง” อาจค่อยๆ เปลี่ยนเป็น “ฉันไม่ดีพอ” หรือแม้แต่ “ฉันไม่ควรจะเป็นแบบนี้เลย” นำไปสู่การตำหนิตัวเองอย่างรุนแรง ไม่ให้อภัยตัวเอง และกลายเป็นการมองตัวเองอย่างเกลียดชังโดยไม่รู้ตัว การเข้าใจความเชื่อมโยงของทั้งสองอย่างนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเยียวยา เพราะเมื่อเรารู้ว่าความเกลียดตัวเองไม่ได้สะท้อนความจริง แต่เป็นผลลัพธ์ของความเจ็บปวดสะสม เราจะค่อยๆ เปลี่ยนมุมมอง และเริ่มกลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองอีกครั้งอย่างอ่อนโยน
การเกลียดตัวเองเกิดจากอะไรบ้าง ?
บางครั้งเราก็โทษตัวเองแรงเกินไป ทั้งที่ความผิดพลาดนั้นเล็กนิดเดียว ความรู้สึกแบบนี้อาจไม่ได้แค่เศร้า แต่คือ “การเกลียดตัวเอง” ที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ลองตามมาดูกันว่า ความรู้สึกแบบนี้เกิดจากอะไรได้บ้าง
1. การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ขาดความรักแบบไม่มีเงื่อนไข
คนที่เติบโตมาในครอบครัวหรือสังคมที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าความรู้สึก เช่น ต้องเรียนเก่ง ต้องเป็นเด็กดี ต้องไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง อาจซึมซับความเชื่อว่าตัวเองมีคุณค่าแค่ตอนที่ “ทำได้ดี” เท่านั้น เมื่อผิดพลาดหรือไม่เป็นอย่างที่ถูกคาดหวัง ก็จะรู้สึกผิด รู้สึกว่าไม่สมควรได้รับความรัก จนนำไปสู่การตำหนิตัวเองอย่างรุนแรง
2. การถูกวิจารณ์หรือลงโทษซ้ำๆ ในวัยเด็ก
คำพูดที่ว่า “ทำไมโง่อย่างนี้” หรือ “ไม่มีอะไรดีเลย” อาจดูเหมือนไม่รุนแรง แต่เมื่อได้ยินซ้ำๆ ในช่วงวัยที่ยังไม่แยกแยะความจริงจากคำพูดของผู้ใหญ่ได้ เสียงเหล่านี้จะฝังอยู่ในใจจนกลายเป็น “เสียงในหัว” ที่เราพูดกับตัวเองตลอดชีวิต และอาจแปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดตัวเองในที่สุด
3. การเปรียบเทียบกับผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง
การถูกเปรียบเทียบว่าไม่เก่งเท่าพี่ ไม่สวยเท่าเพื่อน หรือไม่ประสบความสำเร็จเท่าคนอื่น ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ไม่มีวันพอ สิ่งนี้ทำลายความมั่นใจในตัวเองและกดทับ Self-Esteem อย่างช้าๆ จนกลายเป็นความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าและไม่น่ารักพอ
หนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์
4. การเจอเหตุการณ์กระทบใจในชีวิต
เหตุการณ์บางอย่างในชีวิต เช่น การล้มเหลวซ้ำๆ การถูกบูลลี่ ถูกหักหลัง หรือถูกทอดทิ้งจากคนที่ไว้ใจ อาจกระทบใจอย่างรุนแรงจนทำให้เราตั้งคำถามกับคุณค่าของตัวเอง เช่น “ฉันไม่ดีพอหรือเปล่า ?” หรือ “เพราะฉันไม่โอเค คนถึงไม่อยู่กับฉัน” และเมื่อไม่มีใครช่วยปลอบโยนหรือยืนยันคุณค่าของเรา ก็อาจกลายเป็นความเชื่อฝังลึกว่า “ฉันไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ”
5. การคาดหวังในตัวเองสูงเกินไปโดยไม่รู้ตัว
บางคนโตมากับการบอกตัวเองว่า “ฉันต้องเก่ง”, “ต้องไม่พลาด”, “ต้องทำได้ดีกว่านี้” โดยไม่ได้สังเกตว่าเราแบกความคาดหวังมากแค่ไหน พอทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็รู้สึกผิด ผิดหวัง และโกรธตัวเอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นการโทษตัวเองเรื่อยๆ ว่าไม่ดีพอ สะสมไปจนกลายเป็นความรู้สึกเกลียดตัวเองโดยไม่ตั้งใจ
6. การไม่เคยเรียนรู้วิธีรักและเข้าใจตัวเอง
ในสังคมที่ไม่ค่อยสอนให้ “อยู่กับใจตัวเอง” หรือ “พูดดีกับตัวเอง” หลายคนเลยเติบโตมาโดยไม่รู้ว่าการดูแลใจคือสิ่งสำคัญ จึงชินกับการเพิกเฉยความรู้สึกของตัวเอง หรือตำหนิตัวเองเป็นนิสัย โดยไม่รู้เลยว่านั่นคือรูปแบบหนึ่งของ Self-Hatred ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน สำหรับใครที่อยากรู้วิธีอยู่กับใจตัวเองมากขึ้น ลองทำความเข้าใจเรื่องนี้กับพระอาจารย์สัจจาธิโก ซึ่ง DIYINSPIRENOW ได้เคยมีโอกาสสัมภาษณ์พระอาจารย์ และเคยได้เรียนเกี่ยวกับการรู้จักตัวเอง และการรักตัวเอง ซึ่งทำให้เข้าใจตัวเองมากกว่าเดิมมากๆ ใครสนใจ สามารถติดตามช่องทางของพระอาจารย์และตามไปเรียนกันได้เลยนะคะ
7. การซึมซับภาพลักษณ์เชิงลบจากสื่อหรือสังคม
ในยุคที่เราเสพสื่อวันละหลายชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว การเห็นแต่ภาพของคนที่ “เพอร์เฟกต์” ทั้งหน้าตา หุ่น ความสำเร็จ หรือไลฟ์สไตล์ อาจทำให้เรารู้สึกด้อยค่าโดยไม่รู้ตัว พอเปรียบเทียบกับตัวเองมากๆ เข้า ก็เริ่มรู้สึกว่า “ฉันไม่ดีพอ” หรือ “ฉันไม่มีทางเป็นแบบนั้นได้หรอก” ซึ่งนำไปสู่การตำหนิตัวเอง และเกลียดในสิ่งที่ตัวเองเป็น ทั้งที่ความจริงแล้ว ทุกคนต่างมีคุณค่าในแบบของตัวเอง
แล้วเราจะเริ่มเยียวยาตัวเองยังไงดี ?
Image Credit : freepik.com
การเยียวยาความรู้สึก “เกลียดตัวเอง” ไม่ใช่การบังคับให้ตัวเองต้อง “รักตัวเองให้ได้ทันที” แต่คือการค่อยๆ เปลี่ยนวิธีที่เรามองตัวเอง ด้วยความเข้าใจและเมตตา เราขอชวนให้เริ่มจาก 3 วิธีนี้ก่อนนะคะ
1. เปลี่ยน “เสียงในหัว” ให้เป็นเพื่อนที่เข้าใจ
เวลาพลาดหรือทำอะไรไม่ดีพอ เสียงในหัวอาจพูดว่า “แย่จัง”, “ไม่เอาไหนเลย”, “อีกแล้วเหรอ” ให้ลองค่อยๆ เปลี่ยนเป็นคำพูดเป็นแบบ “เข้าใจนะว่าตั้งใจแล้ว”, “ยังไม่ดีเท่าวันนี้…ก็ไม่เป็นไร” หรือ “เรายังพัฒนาได้อีก”
ตัวอย่าง : แทนที่จะพูดว่า “โง่จังเลยที่ลืมประชุม” ให้ลองพูดว่า “แย่หน่อยที่ลืม แต่เดี๋ยวแก้ไขได้” รู้สึกเหมือนกันมั้ยคะว่า แค่เปลี่ยนคำพูดกับตัวเอง ใจของเราก็เบาลงได้ทันที
2. เขียน “บันทึกความเมตตา” แทนการตำหนิตัวเอง
ทุกครั้งที่รู้สึกไม่ชอบตัวเอง ลองเขียนบันทึก 3 ข้อว่า
- วันนี้เราทำอะไรได้ดีบ้าง ?
- เรากำลังพยายามอะไรอยู่ ?
- ถ้ามีเพื่อนคนหนึ่งรู้สึกแบบนี้ เราจะพูดกับเขาว่ายังไง ?
ตัวอย่าง :
- วันนี้เราทำอะไรได้ดีบ้าง ? วันนี้ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ยังลุกมาทำงาน
- เรากำลังพยายามอะไรอยู่ ? พยายามสื่อสารกับตัวเองแบบไม่กดดัน
- ถ้าเพื่อนรู้สึกแย่ ฉันคงกอดเขาและบอกว่า “ไม่เป็นไรเลย ทุกคนมีวันที่ไม่ไหวได้เหมือนกันทั้งนั้น”
3. อยู่ใกล้กับคนที่ “เห็นคุณค่าในตัวเรา”
บางครั้งเวลาเรารู้สึกแย่กับตัวเอง แค่ได้อยู่ใกล้คนที่รับฟังโดยไม่ตัดสิน หรือคนที่มองเห็นความตั้งใจ แม้เราจะยังไปไม่ถึงเป้าหมาย ก็ช่วยให้เราค่อยๆ มองตัวเองด้วยสายตาแบบเดียวกันได้แล้ว แต่ว่าถ้ายังไม่มีคนแบบนี้ในชีวิตตอนนี้ ให้ลองเริ่มจากการหาพื้นที่ปลอดภัย เช่น กลุ่มสนับสนุน บทความ หรือคอนเทนต์ที่ทำให้รู้สึกว่า “เราไม่ได้แปลกที่รู้สึกแบบนี้” และ “เราก็มีคุณค่าในแบบของเรา” (เข้ามาที่เว็บ DIYINSPIRENOW ก็ได้ เราเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคุณค่ะ 🙂 )
ถ้าเริ่มทำ 3 ข้อนี้ไปแล้ว เราควรทำอะไรต่ออีกดี ?
Image Credit : freepik.com
1. ฝึก “ความสม่ำเสมอ” แทนการ “ต้องทำให้ดีในทุกๆ ครั้ง”
บอกตัวเองว่าการเยียวยาไม่ใช่เรื่องของการทำได้เป๊ะ 100% แต่คือการฝึกใจให้กลับมาเมตตาตัวเองซ้ำๆ แม้บางวันจะยังเผลอเกลียดตัวเองอยู่ เช่น ถ้าวันนี้พูดกับตัวเองดีไม่ได้ ก็แค่สังเกต แล้วบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวพรุ่งนี้ลองใหม่นะ”
2. เรียนรู้ที่จะ “รู้สึกโดยไม่ตัดสิน”
บางวันเราอาจจะยังเศร้า โกรธ หรือหดหู่ได้อยู่ แต่นั่นไม่ได้ผิดเลยนะคะ ลองฝึกอยู่กับความรู้สึกนั้นอย่างอ่อนโยนด้วยวิธีง่ายๆ เช่น พูดกับตัวเองในใจว่า “ตอนนี้เรากำลังรู้สึกเศร้า/ผิดหวังนะ” แค่รับรู้ก่อน รู้สึกก่อน ไม่ต้องรีบแก้
3. ให้พื้นที่กับ “สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นคนมีค่า”
สิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า “เรามีตัวตนและมีค่า” เช่น การวาดรูป การปลูกต้นไม้ เขียนไดอารี่ หรือทำงานอาสา เพราะสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ เติมพลังให้หัวใจเรากลับมา เช่น ลองตั้งเป้าว่าแต่ละอาทิตย์ เราจะทำ 1 อย่างที่ทำแล้วรู้สึก “ภูมิใจ” หรือ “สงบใจ” เป็นต้นค่ะ
4. ถ้ารู้สึกว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่ดีขึ้น ให้ “ขอความช่วยเหลือได้เสมอ”
ถ้าทำแล้วยังไม่โอเค ลองปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือที่ปรึกษาด้านสุขภาพใจดูนะคะ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มีไว้แค่ตอนชีวิตพัง แต่มีไว้เพื่อ “ดูแลใจ” เหมือนที่เราดูแลสุขภาพกาย ดังนั้นการคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ แต่มันคือ “ความกล้าหาญ” ที่จะรักษาหัวใจตัวเองให้ดีกว่าเดิมนั่นเอง
5. ลองมอง “ความเจ็บปวด” ว่าเป็นครู
บาดแผลในใจหลายครั้งไม่หายไปง่ายๆ เพราะเราไม่รู้จะจัดการมันยังไงดี บางแผลมาจากคำพูด คำดูถูก การถูกเปรียบเทียบ หรือแม้แต่การที่เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอมาตลอด ซึ่งถ้าเราเอาแต่กดทับ หรือพยายามลืมมัน มันก็อาจวนกลับมาทำร้ายใจเราอย่างเงียบๆ ก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ “ไม่หนี” แต่ “ค่อยๆ มองมันอย่างเข้าใจ” ลองนึกดูว่า สิ่งที่เราเคยเจอทำให้เราเรียนรู้อะไรบ้าง ? มันทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นไหม ? หรือสิ่งนั้นทำให้เรารู้ว่าเราอยากเป็นคนแบบไหนในอนาคตหรือเปล่า ? เช่น ถ้าเคยถูกบอกว่า “เธอไม่มีทางทำได้หรอก” แล้วทำให้เรากลัวการเริ่มต้น แต่พอเรารู้ทันว่าแผลนั้นทำให้เรารู้สึกยังไง เราก็จะเริ่มเลือกใหม่ได้ว่า “เราจะลองทำดู แม้ยังไม่มั่นใจ เพราะเราอยากให้โอกาสตัวเองมากกว่าที่เคยได้มา” หรือ ถ้าเคยโดนเปรียบเทียบจนรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ เราอาจเลือกเปรียบเทียบกับแค่ตัวเราเมื่อวาน และให้กำลังใจตัวเองว่า “วันนี้เราทำได้ดีกว่าเดิมแล้วนะ แม้จะเล็กน้อยก็ตาม” เพราะว่าเมื่อเรายอมรับแผลโดยไม่ซ้ำเติมตัวเองแล้ว ถึงแม้แผลนั้นจะไม่หายไปทันที แต่จะ “เปลี่ยนบทบาท” จากสิ่งที่เคยทำร้ายเราให้เป็นสิ่งที่ช่วยเตือนว่า “เรากล้าพอที่จะอยู่กับมัน และยังคงเดินต่อได้”
หนังสือ วันนี้ใช้ชีวิตได้ดีมากเลยนะ
Inspire Now ! : Self-Hatred ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเราไม่ดีพอ แต่บ่อยครั้งเป็นผลจากประสบการณ์ในอดีต คำพูดที่บั่นทอน หรือการถูกเปรียบเทียบซ้ำๆ จนฝังใจว่าเราไม่มีคุณค่า ความรู้สึกแบบนี้มักเชื่อมโยงกับ Self-Esteem ที่ต่ำ และทำให้เรามองตัวเองด้วยสายตาที่โหดร้ายเกินจริง ซึ่งการเริ่มเยียวยาไม่จำเป็นต้องรวดเร็วหรือสมบูรณ์แบบ แต่ควรเริ่มจากการฟังความรู้สึกของตัวเองด้วยความเข้าใจ จากนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนวิธีพูดกับตัวเอง และเลือกอยู่ใกล้คนที่เห็นคุณค่าในตัวเรา ที่สำคัญคือการหันกลับไปมองบาดแผลในอดีตอย่างอ่อนโยน เพราะแม้มันจะเคยเจ็บ แต่เราทุกคนก็ยังมีสิทธิ์ที่จะรักตัวเองใหม่ได้เสมอ |
---|
DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? ใครเคยมีประสบการณ์เกลียดตัวเองบ้าง และก้าวข้ามผ่านความรู้สึกนี้ไปได้อย่างไร มาคอมเมนต์บอกวิธีกันบ้างนะคะ ♡