stoic คือ, ปรัชญากรีก

Stoic คือ อะไร ? ชวนรู้จักปรัชญากรีกโบราณ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาตัวเองกัน

ถ้าใครชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาแขนงต่างๆ หรือชอบศึกษาเกี่ยวกับปรัชญา – แนวคิดการใช้ชีวิต จะทราบดีว่ามีปรัชญาอยู่หลายแขนงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาจีนที่ถูกพูดถึงกันอย่างยาวนาน เช่น วิถีแห่งเต๋า แนวคิดเกี่ยวกับหยิน – หยาง ปรัชญาความคิดขงจื่อ และอื่นๆ หากเป็นฝั่งญี่ปุ่น ที่รู้จักกันดีก็คงจะเป็นอิคิไก วะบิซาบิ คินสึงิ และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ มีปรัชญาทางฝั่งตะวันตกที่กำลังถูกพูดถึงในปัจจุบัน ซึ่งก็คือปรัชญาสโสติก (Stoic) ที่เป็นปรัชญากรีกโบราณอีกแขนงหนึ่ง Stoic คือ อะไร ? มีต้นกำเนิดมาจากไหน มีแนวคิดอย่างไรบ้าง สามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ไปรู้จักให้มากขึ้นกันเลยค่ะ

Stoic คือ อะไร ? ชวนรู้จักปรัชญากรีกโบราณที่กำลังถูกพูดถึงในปัจจุบัน

ทราบหรือไม่ว่า ต้นกำเนิดของการศึกษาศาสตร์แห่งปรัชญานั้น ได้เริ่มจากยุคกรีกโบราณ โดยมีทาแลสแห่งมีแลโตส (Thales of Miletus) นักปรัชญากรีกคนแรกที่บันทึกความคิดเอาไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งเขาได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของวิชาปรัชญาตะวันตก ทั้งนี้ ยังมีนักปรัชญาตะวันตกที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย ทั้งเพลโต อริสโตเติล โสกราติส ฯลฯ แล้วใครกันที่เป็นต้นกำเนิดของปรัชญาสโตอิก ? คนๆ นั้นคือ เซโนแห่งซิเทียม (Zeno of Citium) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งปรัชญาสโตอิกในสำนักคิดสโตอิกที่กรุงเอเธนส์ ช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล โดยแนวคิดหลักๆ ของ Stoic คือ การให้ความสำคัญกับคุณงามความดีและความสงบทางใจที่ได้จากการใช้ชีวิตในทางที่ดีและสอดคล้องไปกับธรรมชาติ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยที่อายธรรมกรีกรุ่งเรืองสูงสุดทั้งในยุโรปและเอเชียไปจนถึงยุคโรมโบราณ จากนั้นได้นำมากล่าวถึงกันใหม่ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในวงกว้าง เรียกว่าโมเดิร์นสโตอิก

Image Not Found
สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย “พีระมิดสามสุข”

ต้นกำเนิดของปรัชญา Stoic คืออะไร ?

stoic คือ, ปรัชญากรีก
Image Credit : freepik.com

เมื่อราว 300 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวเฟอนีเชียนคนหนึ่งแล่นเรือสินค้ามุ่งไปยังท่าเรือพีเรอัสแห่งเอเธนส์ แต่แล้วเรือก็เกิดอัปปางลงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้สินค้าของเขาจมลงสู่ก้นทะเล ความมั่งคั่งหายวับไปกับตา หลังรอดชีวิตในสภาพหมดสิ้นทรัพย์สินเงินทอง วันหนึ่งเขาได้อ่านเรื่องราวของนักปรัชญาที่มีชื่อว่า โสกราติส ที่เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่เกิดความประทับใจ และได้พบกับกราติส นักคิดแห่งสำนักซีนิก จากนั้นเขาจึงกลายเป็นศิษย์ผู้ตามรอยความคิดของกราติสอยู่นาน จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้เริ่มเผยแพร่แนวคิดของตนเอง โดยเริ่มต้นที่บริเวณ Stoa Pikile (เฉลียงทาสี) ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง เมื่อมีกลุ่มคนมารวมตัวกันบริเวณนี้อยู่บ่อยครั้ง จึงถูกเรียกว่าเป็นพวก Stoic ซึ่งเป็นที่มาของชื่อปรัชญา Stoic นั่นเองค่ะ และพ่อค้าคนนั้นก็คือ เซโนแห่งซิเทียม () ผู้ก่อตั้งแนวคิดสโตอิกนั่นเอง ซึ่งเขาได้กล่าวเอาไว้ว่า “ข้าเดินทางอย่างรุ่งโรจน์ในคราวที่ได้ประสบกับเหตุการณ์เรืออับปาง” หรือ  “I made a prosperous voyage when I suffered shipwreck.” กล่าวคือ เหตุการณ์เรือล่มของเขาทำให้เขาได้ตกตะกอนความคิด เกิดการตั้งคำถาม หาคำตอบ เกิดการเรียนรู้ภายในตัวเอง และกลั่นออกมาเป็นแนวคิดปรัชญาสโตอิกนั่นเองค่ะ

แนวคิดหลักๆ ของ Stoic คืออะไร ?

stoic คือ, ปรัชญากรีก
Image Credit : thecollector.com

แก่นของปรัชญากรีกโบราณอย่างสโตอิกเชื่อว่า มนุษย์เราจะมีหนทางไปสู่ยูไดโมเนีย (Eudaimonia) ของตนเอง ซึ่งยูไดโมเนียนี้ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยตรง แต่มักถูกมองว่าสิ่งนี้คือ “ความสุข” ของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงถึงความรู้สึกเปรมปรีด์หรือความอิ่มอกอิ่มใจเพียงเท่านั้น แต่ยูไดโมเนียคือ “ความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์” อันหมายถึง ตัวตนที่ดีที่สุดของเรา เป็นความรุ่งโรจน์สว่างไสว เป็นจิตวิญญาณที่ดี และหมายถึงการมีชีวิตที่ดี เพราะชีวิตจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และเติบโตงอกงามไปถึงความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดของตนเอง

Image Not Found
นายอินทร์ หนังสือ ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา mindset

องค์ประกอบของ Eudaimonia : ความเชื่อหลัก 3 ประการของสโตอิก

มาถึงตรงนี้ บางคนก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วเราจะก้าวไปสู่ยูไดโมเนียได้อย่างไร ? ตามแนวคิดปรัชญาสโตอิกแล้ว มีสิ่งที่ลัทธิสโตอิกนิยมเชื่ออยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ คุณธรรมสำคัญ 4 ประการ การมุ่งเน้นในสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตนเอง และ การลงมือทำ แต่ละอย่างหมายความว่าอย่างไรนั้น ไปดูเพิ่มเติมกันค่ะ

1. คุณธรรม 4 ประการ

แนวคิดแบบสโตอิกเชื่อว่าการจะมีชีวิตที่ดีได้นั้น ต้องยึดมั่นในหลักคุณธรรม 4 ประการ ดังนี้ 

  1. มีปัญญา (Wisdom) : การมีความคิด มีองค์ความรู้ พิจรณาถึงสิ่งต่างๆ อย่างถี่ถ้วน และแสดงออกอย่างเหมาะสม
  2. ความยุติธรรม (Justice) : มีความเป็นธรรม สมเหตุสมผล มีเมตตา มีจิตใจดี ทำสิ่งที่เป็นกุศล
  3. ความกล้าหาญ (Courage) : กล้าเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้าย มีความแข็งแกร่ง ยืนหยัด และมีความอุตสาหะ ไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรคใด
  4. มีวินัย (Self-discipline) : มีระเบียบวินัยในตนเอง สามารถควบคุมตนเองได้ และมีการแสดงออกอย่างเหมาะสม รวมถึงการให้อภัย และมีความถ่อมตน

2. มุ่งเน้นในสิ่งที่ “ขึ้นอยู่กับเรา”

stoic คือ, ปรัชญากรีก
Image Credit : freepik.com

มาร์คุส ออเรลิอุส จักรพรรดิโรมันผู้ยิ่งใหญ่กล่าวเอาไว้ว่า “มันขึ้นอยู่กับท่านเองทั้งนั้น ใครที่ไหนจะห้ามท่านจากการเป็นคนดีและจริงใจได้ จงแสดงคุณธรรมซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของตัวท่านเองออกมา” สิ่งที่ขึ้นอยู่กับเรานั้น เป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น ความคิด การกระทำ ความเชื่อ ทัศนคติ การตัดสินใจ คำพูด คุณค่าที่ยึดถือ ซึ่งผลกระทบหรือผลลัพธ์ของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ขึ้นอยู่กับตัวเราเองทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แนวคิดแบบสโตอิกให้ความสำคัญ และให้เราจัดการในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ มากกว่าให้ความสนใจในสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความตาย ชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง ความมั่งคั่ง การสูญเสีย สุขภาพ ความคิดเห็นของคนอื่น การกระทำของคนอื่น ฯลฯ เพื่อให้เราไม่สิ้นเปลืองพลังงานไปกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง เพื่อให้เราไม่ยึดติดกับมัน ซึ่งนั่นจะก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา

3. ลงมือทำ

แม้ว่าเราจะยึดถือคุณธรรมแค่ไหน หรือให้ความสนใจในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้เพียงใด หากปราศจากการลงมือทำแล้วล่ะก็ ย่อมไม่เกิดผลลัพธ์ใดๆ ขึ้นอย่างแน่นอน แนวคิดแบบสโตอิกเชื่อว่า ควรนำความรู้ที่มีเอามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง และเริ่มต้นจากการลงมือทำ เช่น หมั่นฝึกฝนตนเอง และมีความมานะอุตสาหะอยู่เสมอแม้ว่าจะต้องเจอกับอุปสรรคใดๆ ก็ตาม เพราะการจะไปถึง Eudaimonia และมีชีวิตที่ดี มีชีวิตที่รุ่งโรจน์ มีการเจริญเติบโตงอกงามอย่างสูงสุดได้ ก็ต้องลงมือทำด้วยตัวเองค่ะ

Image Not Found
Amarinbooks หนังสือ ใช้คลื่นพลังบวกดึงดูดพลังสุข

แนวทางการนำเอาปรัชญาสโตอิกมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ตอนนี้ก็พอจะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นแล้วว่า แนวคิดความเชื่อหลักๆ ของปรัชญา Stoic คืออะไร กล่าวคือ การให้ความสำคัญกับยูไดโมเนีย อันหมายถึงการมีชีวิตที่ดี และก้าวไปสู่การเติบโตงอกงามอย่างสูงสุด โดยมีแนวทางที่ชาวสโตอิกเชื่อถือกันอยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ การมีคุณธรรม การมุ่งเน้นในสิ่งที่ขึ้นอยู่กับเรา และการลงมือทำ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เราสามารถเอาแนวคิดตามหลักปรัชญาสโตอิกมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ดังนี้ค่ะ

stoic คือ, ปรัชญากรีก
Image Credit : freepik.com
  • ยึดมั่นในความดีอยู่เสมอ : ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้เรายึดมั่นในคุณธรรมของตนเอง กล่าวคือ จงมีปัญญา มีการไตร่ตรองคิดอย่างรอบครอบ มีความยุติธรรม ตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและความสมเหตุสมผล มีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรค และมีวินัยในตนเอง มีระเบียบและสามารถควบคุมตนเองได้ อันจะทำให้เราเข้าใกล้ศักยภาพสูงสุดในตัวเอง
  • รู้จักปล่อยวาง : ความเชื่อของปรัชญาสโตอิกที่ว่าด้วยการมุ่งเน้นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับเรา ใกล้เคียงกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาว่าด้วยการปล่อยวาง คือ การไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความทุกข์ใจตามมา ไม่ว่าจะเป็นความคิดของผู้อื่น การแสดงออกของคนอื่น หรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการจัดการควบคุมของเรา หากเราไปยึดมั่นกับสิ่งๆ นั้นและไม่ปล่อยวางว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ก็จะทำให้เราทุกข์ใจและไม่มีความสุข
    ทำให้ดีที่สุดในแบบของตน : ความเชื่อหนึ่งของ Stoic คือ การมุ่งเน้นในสิ่งที่ตนสามารถควบคุมได้ ยกตัวอย่างเช่น การมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมาย แม้ว่าจะมีอุปสรรคต่างๆ ก็ตาม แต่ถ้าเรามัวแต่จดจ่ออยู่กับอุปสรรคซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เราก็จะท้อแท้และเสียกำลังใจและเลิกล้มกลางคัน ในขณะเดียวกัน หากเรามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของตนเองและทำให้ดีที่สุด แม้ว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวัง แต่อย่างน้อยเราก็ได้พัฒนาก้าวขึ้นไปอีกขั้นค่ะ
  • ความสุขที่แท้จริง คือสิ่งที่เราให้คุณค่ากับมัน : หัวใจหลักของปรัชญา Stoic คือ ยูไดโมเนีย หรือสิ่งที่เป็นความสุข เป็นความรุ่งโรจน์สูงสุดของชีวิต และยังหมายถึงการมีชีวิตที่ดีอีกด้วย ในบางคนอาจเกิดความสงสัยว่า การมีชีวิตที่ดีนั้นคืออะไร ? ปรัชญาสโตอิกเชื่อว่า การมีชีวิตที่ดีและมีความสุขก็คือ การดำรงชีวิตไปตามสิ่งที่เราให้คุณค่ากับมัน ซึ่งมนุษย์เราก็ให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ต่างกัน ดังนั้นจงถามตนเองว่า สิ่งที่เราให้คุณค่าสูงสุดในชีวิตคืออะไร ? บางคนอาจเป็นชื่อเสียงเกียรติยศ ความภาคภูมิใจในชีวิต ความรักความสัมพันธ์ที่ดี ความสุขของคนในครอบครัว การสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น ฯลฯ หากหาสิ่งที่เราคุณค่าเจอ เราก็จะค้นพบยูไดโมเนียของตัวเองค่ะ
Image Not Found
หนังสือ พลังแห่ง “เมื่อไหร่” : The Power of When
Inspire Now ! : ปรัชญาสโตอิก เป็นปรัชญากรีกที่ว่าด้วยการใช้ชีวิตที่ดีและมีความสุข และก้าวไปสู่ความรุ่งโรจน์สูงสุดของชีวิต เป็นการเติบโตงอกงามของตนเองอย่างสูงสุด ซึ่งแนวคิด – ปรัชญาต่างๆ นั้นไม่มีถูกหรือผิด เราสามารถเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ และเราก็ไม่จำเป็นจะต้องยึดเอาแนวคิดปรัชญาเพียงแนวคิดเดียวมาใช้เป็นหลักปฏิบัติยึดถือในการดำเนินชีวิต เราสามารถผสมผสานแนวคิดความเชื่อต่างๆ ที่เหมาะกับตนเองเพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เพราะหัวใจหลักของปรัชญาชีวิตแขนงต่างๆ ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันก็คือ การดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขนั่นเองค่ะ

DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? คิดเห็นอย่างไรกับปรัชญาสโตอิกบ้าง สามารถเอาไปปรับใช้กับชีวิตของเราได้อย่างไร มาคอมเมนต์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : หนังสือ How to live a good life ชีวิตที่ดีจากสารพัดที่ในโลก, evolveinc.io, dailystoic.com, thecollector.com

Featured Image Credit : freepik.com/rawpixel.com

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ